คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5852/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำให้การชั้นสอบสวนของ ส. เป็นพยานบอกเล่า แต่โจทก์มีข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีแหล่งที่มาเป็นอิสระถือเสมือนเป็นพยานคนกลางไม่มีส่วนได้เสีย จึงเป็นพยานหลักฐานประกอบอื่นที่สนับสนุนให้เห็นพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองว่ามีความเกี่ยวพันกับการขนส่งกัญชาของ ส. อย่างไร จำเลยที่ 1 โทรศัพท์ติดต่อกับ ส. หลายครั้ง ส่วนจำเลยที่ 2 แม้มิได้โทรศัพท์ติดต่อ ส. และ ผ. ผู้ว่าจ้าง แต่ก็ร่วมเดินทางไปกับจำเลยที่ 1 โดยตลอดเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ย่อมรู้เรื่องดี ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองขับรถดูต้นทางให้ ส. จริง จำเลยทั้งสองจึงร่วมกระทำความผิดฐานมีกัญชาของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 26, 76, 76/1, 100/1 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 92 และเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26 วรรคสอง, 76/1 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกคนละ 15 ปี และปรับคนละ 1,500,000 บาท เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 หนึ่งในสาม เป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 20 ปี และปรับ 2,000,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังจำเลยทั้งสองแทนค่าปรับเกินกว่าหนึ่งปีได้ แต่ต้องไม่เกินสองปี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ เจ้าพนักงานจับกุมจำเลยทั้งสองและนายสกล พร้อมยึดกัญชาอัดแท่ง น้ำหนัก 229 กิโลกรัม พร้อมรถกระบะหมายเลขทะเบียน ตย 6864 กรุงเทพมหานคร และโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นของกลาง คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำความผิดร่วมกับนายสกลตามที่โจทก์ฟ้องจริงหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของนายสกลตาม โดยให้การไว้ในรายละเอียดว่า ก่อนเกิดเหตุได้พบกับนายโผนหรือจอน บอกกับตนว่ามีงานให้ทำ คือให้ขับรถบรรทุกกัญชาไปส่งที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เที่ยวละ 50,000 บาท จึงตอบตกลง ต่อมาวันที่ 8 มิถุนายน 2554 นายโผนให้ขับรถไปที่บ้านรับมอบกัญชาและให้เงินจำนวน 5,000 บาท เป็นค่าเดินทาง พร้อมบอกว่ามีคนคอยดูต้นทางให้ ระหว่างขับรถอยู่ในเขตจังหวัดนครพนม จำเลยที่ 1 ได้โทรศัพท์เข้ามาสอบถาม ขณะที่นายโผนก็โทรศัพท์มาพูดคุยด้วยตลอดทาง เมื่อขับไปก่อนถึงด่านตรวจบ้านพละ จำเลยที่ 1 ได้โทรศัพท์มาบอกว่าจะไปรับญาติที่จังหวัดภูเก็ต ตนจึงบอกให้จำเลยที่ 1 ขับนำหน้าไปและดูด่านให้ด้วย แต่เมื่อขับถึงด่านตรวจบ้านพละก็ถูกเจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นพบกัญชาที่อยู่ในรถ จึงให้การรับสารภาพและรับว่าได้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบดีแทค แบบเติมหมายเลข 08 3149 1033 พูดคุยกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 1 ที่หมายเลข 08 6154 1647 จริง สอดคล้องกับคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ที่รับว่าได้ใช้หมายเลขโทรศัพท์ดังกล่าวพูดคุยกับนายสกลจริง ทั้งในชั้นพิจารณาจำเลยที่ 1 ก็นำสืบรับข้อเท็จจริงดังกล่าว แต่อ้างว่าเป็นการสอบถามเส้นทาง เห็นว่า แม้คำให้การในชั้นสอบสวนของนายสกลเป็นพยานบอกเล่า แต่โจทก์มีพยานหลักฐานอื่นประกอบคือ บันทึกข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเอกสารของบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการ ซึ่งมีข้อมูลการใช้โทรศัพท์ตรงตามที่นายสกลให้การ กล่าวคือ ที่นายสกลให้การว่า วันที่ 8 มิถุนายน 2554 เวลาประมาณ 24 นาฬิกา นายโผนโทรศัพท์บอกให้นายสกลออกเดินทางได้ ก็ปรากฏข้อมูลการใช้โทรศัพท์ว่า วันที่ 9 มิถุนายน 2554 เวลา 00.22 นาฬิกา เวลา 00.31 นาฬิกา เวลา 01.32 นาฬิกา เวลา 02.19 นาฬิกา เวลา 07.43 นาฬิกา เวลา 10.07 นาฬิกา และเวลา 11.20 นาฬิกา มีโทรศัพท์หมายเลข 668 8302 3276 โทรศัพท์ไปยังโทรศัพท์หมายเลข 08 6154 1647 ของจำเลยที่ 1 รวม 7 ครั้ง และหมายเลข 668 8302 3276 ดังกล่าวยังได้โทรศัพท์ไปหมายเลข 08 3149 1033 ของนายสกลรวม 3 ครั้ง ในเวลา 08.22 นาฬิกา เวลา 15.26 นาฬิกา และเวลา 18.46 นาฬิกา ตามพฤติการณ์ที่ผู้ใช้โทรศัพท์หมายเลข 668 8302 3276 โทรศัพท์ติดต่อนายสกลขณะกำลังขนกัญชาและโทรศัพท์หาจำเลยที่ 1 ในช่วงเวลาเดียวกัน จึงมีเหตุผลให้เชื่อว่า ผู้ใช้โทรศัพท์หมายเลข 668 8302 3276 เป็นคนประสานงานระหว่างนายสกลคนขนกัญชา กับจำเลยที่ 1 คนที่ขับรถนำทางเพื่อให้นายสกลและจำเลยที่ 1 นำกัญชาไปส่งที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตามที่นายสกลให้การในชั้นสอบสวน นอกจากนี้ยังปรากฏข้อมูลการใช้โทรศัพท์ระหว่างจำเลยที่ 1 กับนายสกลด้วยว่า ในวันที่ 9 มิถุนายน 2554 มีการโทรพูดคุยกันถึง 14 ครั้ง ในเวลา 00.48 นาฬิกา เวลา 01.54 นาฬิกา เวลา 02.18 นาฬิกา เวลา 02.40 นาฬิกา เวลา 03.33 นาฬิกา เวลา 04.04 นาฬิกา เวลา 04.14 นาฬิกา เวลา 05.14 นาฬิกา เวลา 05.28 นาฬิกา เวลา 05.58 นาฬิกา เวลา 06.08 นาฬิกา เวลา 06.12 นาฬิกา เวลา 06.56 นาฬิกา และเวลา 07.15 นาฬิกา และปรากฏข้อมูลพื้นที่การใช้โทรศัพท์ของจำเลยที่ 1 ว่า เป็นการใช้ในพื้นที่ตั้งแต่จังหวัดนครพนม จังหวัดสกลนคร จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดมหาสารคาม และจังหวัดขอนแก่น แสดงว่าขณะที่นายสกลกำลังขับรถบรรทุกกัญชาจากจังหวัดนครพนมเพื่อไปส่งที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีนั้น จำเลยที่ 1 ใช้โทรศัพท์ติดต่อกับนายสกลโดยตลอด จนกระทั่งเมื่อนายสกลถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมพร้อมกัญชาของกลางที่ด่านตรวจบ้านพละ จังหวัดชุมพร จำเลยที่ 1 ก็ยังคงขับรถนำหน้ารถของนายสกลอยู่ ข้อมูลการใช้โทรศัพท์ดังกล่าวมีแหล่งที่มาเป็นอิสระ ถือเสมือนเป็นพยานคนกลางไม่มีส่วนได้เสีย จึงเป็นพยานหลักฐานประกอบอื่นที่สนับสนุนให้เห็นพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองว่ามีความเกี่ยวพันกับการขนส่งกัญชาของนายสกลอย่างไร นอกจากพฤติการณ์การใช้โทรศัพท์ดังกล่าวแล้ว ยังปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และนายสกลได้ขับรถไปถึงด่านตรวจบ้านพละ จังหวัดชุมพร ในเวลาไล่เลี่ยกัน จึงไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นเพียงเรื่องพูดคุยสอบถามเส้นทางกันตามที่จำเลยนำสืบต่อสู้ เพราะจากจังหวัดนครพนมไปถึงด่านตรวจที่จังหวัดชุมพรเป็นระยะทางห่างไกล พฤติการณ์จึงแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองขับรถดูต้นทางให้นายสกลจริง ที่จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธในชั้นสอบสวนตามบันทึกคำให้การ ตนไม่เคยรู้จักนายสกลมาก่อน ขัดกับพฤติการณ์การโทรศัพท์ติดต่อกันดังกล่าว นอกจากนี้ยังปรากฏตามบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของนายสกล ที่ให้การเพิ่มเติมไว้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2554 ว่า จำเลยที่ 1 เป็นคนค้ำประกันการซื้อรถมือสองของนายสกล สอดคล้องกับสัญญาซื้อขายแบบมีเงื่อนไขบังคับ ที่ระบุว่า จำเลยที่ 1 เป็นคนค้ำประกันนายสกลจริง และจำเลยที่ 1 เบิกความตอบโจทก์ถามค้านยอมรับในเรื่องนี้ นอกจากนี้ นายโผน ผู้ว่าจ้างให้นายสกลขนส่งกัญชาเป็นผู้ค้ำประกันให้แก่นายสกลด้วย จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 กับนายสกลต่างรู้จักกันดี เชื่อมโยงไปถึงนายโผน ผู้ว่าจ้าง ส่วนจำเลยที่ 2 แม้มิได้โทรศัพท์ติดต่อกับนายสกลและนายโผน แต่ก็ร่วมเดินทางไปกับจำเลยที่ 1 โดยตลอด การที่จำเลยที่ 1 โทรศัพท์ติดต่อกับนายสกลหลายครั้ง เชื่อว่าจำเลยที่ 2 ย่อมรู้เรื่องดี ที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าติดรถจะไปหาญาติของตนนั้น ไม่สมเหตุผลเพราะไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีเสื้อผ้าสิ่งของจำเป็นติดตัวไปแต่อย่างใด ทั้งไม่ได้บอกให้ภริยาและบุตรทราบ ข้ออ้างจึงไม่น่าเชื่อถือ ส่วนจำเลยที่ 1 ที่อ้างว่าไปรับคนที่จังหวัดภูเก็ตนั้น ไม่ปรากฏตัวตนแน่ชัดหรืออ้างมาเป็นพยานรับรอง จึงเป็นข้อกล่าวอ้างอย่างลอยๆ ไม่น่าเชื่อถือเช่นกัน พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองยังไม่มีน้ำหนักฟังหักล้าง พยานหลักฐานของโจทก์มั่นคงปราศจากข้อสงสัย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกระทำความผิดฐานมีกัญชาของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจริง ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share