แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อจำเลยขับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยในขณะเมาสุรา แล้วเกิดอุบัติเหตุชนท้ายรถยนต์ที่ ส. ขับได้รับความเสียหาย จึงเสมือนจำเลยเป็นผู้เอาประกันภัยก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก ตามกรมธรรม์ประกันภัยหมวดการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ข้อ 8 กำหนดให้โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยไม่อาจยกข้อต่อสู้ที่ยกเว้นความคุ้มครองกรณีการขับขี่โดยบุคคลซึ่งในขณะขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเส้นเลือดไม่น้อยกว่า 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เพื่อปฏิเสธการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และเมื่อโจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกแล้ว ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระเงินที่โจทก์จ่ายไปคืนแก่โจทก์ตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัย หมวดการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ข้อ 8 วรรคสาม กรณีดังกล่าวเป็นการฟ้องเรียกเงินที่ผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ให้แก่บุคคลภายนอกไปคืนจากผู้เอาประกันภัยตามสัญญาประกันภัย ซึ่งแตกต่างจากการเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนตามความในมาตรา 882 วรรคหนึ่ง และเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ภายใน 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกไป คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน ๑๑๑,๔๔๖.๖๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จากต้นเงิน ๑๐๐,๔๐๘.๖๑ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน ๖๓,๕๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๕,๐๐๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน ตฉ ๕๐๒๑ กรุงเทพมหานคร ไว้จากบริษัทวัน – พาเลท กรุ๊ป จำกัด มีระยะเวลาประกันภัยเริ่มต้นวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๘ สิ้นสุดวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๙ เมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๔๙ จำเลยนำรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไปขับโดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยแล้วเกิดอุบัติเหตุชนท้ายรถยนต์หมายเลขทะเบียน วภ ๗๖๘๑ กรุงเทพมหานคร ที่นางบุญสม เป็นผู้ขับ รถยนต์ที่นางบุญสมขับได้รับความเสียหายและผู้โดยสารในรถได้รับอันตรายแก่กาย หลังเกิดเหตุพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรศรีราชาทำการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเส้นเลือดของจำเลย ปรากฏว่า จำเลยมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเส้นเลือด ๑๖๓ มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยหมวดการคุ้มครองความรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอก ข้อ ๔ ถือว่า บุคคลซึ่งขับขี่รถยนต์โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเอง และตามข้อ ๗.๖ ยกเว้นไม่คุ้มครองการขับขี่โดยบุคคลซึ่งในขณะขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเส้นเลือดไม่น้อยกว่า ๑๕๐ มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ แต่ตามข้อ ๘ มีข้อสัญญาพิเศษว่า ผู้รับประกันภัยจะไม่นำเงื่อนไขข้อ ๗.๖ มาเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกเพื่อปฏิเสธความรับผิด และในกรณีที่ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดต่อผู้เอาประกันภัย แต่ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแล้วในความรับผิดที่ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอก ผู้เอาประกันภัยต้องใช้จำนวนเงินที่ผู้รับประกันภัยได้จ่ายไปนั้นคืนภายใน ๗ วัน นับแต่ได้รับหนังสือเรียกร้องจากผู้รับประกันภัย โจทก์ชำระค่าซ่อมรถยนต์หมายเลขทะเบียน วภ ๗๖๘๑ กรุงเทพมหานคร ไปแล้ว เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ จึงเรียกให้จำเลยชดใช้เงินคืนโดยอ้างเงื่อนไขกรมธรรม์ดังกล่าว
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์หมายเลขทะเบียน ตฉ ๕๐๒๑ กรุงเทพมหานคร เมื่อจำเลยขับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยโดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยแล้วเกิดอุบัติเหตุชนท้ายรถยนต์หมายเลขทะเบียน วภ ๗๖๘๑ กรุงเทพมหานคร ที่นางบุญสมขับได้รับความเสียหาย จึงเสมือนจำเลยเป็นผู้เอาประกันภัยก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอก โดยไม่อาจยกข้อต่อสู้ที่ยกเว้นความคุ้มครองกรณีการขับขี่โดยบุคคลซึ่งในขณะขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเส้นเลือดไม่น้อยกว่า ๑๕๐ มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เพื่อปฏิเสธการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ การที่โจทก์เข้าใช้ค่าซ่อมรถยนต์หมายเลขทะเบียน วภ ๗๖๘๑ กรุงเทพมหานคร จึงเป็นการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกผู้เสียหาย ซึ่งบุคคลภายนอกอาจใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากโจทก์ในวินาศภัยที่จำเลยซึ่งเป็นเสมือนผู้เอาประกันภัยก่อให้เกิดขึ้น แม้โจทก์กับจำเลยมิได้เป็นคู่สัญญาประกันภัยกันโดยตรงก็ตาม แต่โจทก์มีความผูกพันที่จะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย ตามคำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการฟ้องเรียกเงินที่ผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ให้แก่บุคคลภายนอกไปคืนจากผู้เอาประกันภัยตามสัญญาประกันภัย แตกต่างจากการเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนตามความในมาตรา ๘๘๒ วรรคหนึ่ง และกรณีหาใช่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในมูลละเมิดโดยโจทก์รับช่วงสิทธิมาจากผู้ต้องเสียหายดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ วินิจฉัยไว้ไม่ จึงนำอายุความละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๘ มาใช้บังคับมิได้ เมื่อโจทก์เข้าใช้หนี้ส่วนนี้แล้วย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระเงินที่โจทก์จ่ายไปคืนแก่โจทก์ตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัย หมวดการคุ้มครองความรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอก ข้อ ๘ วรรคสาม ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ ๑๐ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๐ เมื่อโจทก์ชำระค่าซ่อมรถยนต์คันดังกล่าว เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้วันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๑ ยังไม่เกิน ๑๐ ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษายกฟ้องโจทก์เพราะเห็นว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ต่อไปว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใด เห็นว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ ซึ่งกำหนดให้จำเลยต้องใช้เงินที่โจทก์จ่ายไปคืนภายใน ๗ วัน นับแต่วันได้รับหนังสือเรียกร้องจากโจทก์ เมื่อครบกำหนดแล้ว จำเลยไม่ชำระจึงตกเป็นผู้ผิดนัด แต่ข้อเท็จจริงคงได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่า โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระเงินคืนภายใน ๗ วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่าจำเลยได้รับหนังสือทวงถามแล้วหรือไม่ เมื่อใด จึงต้องถือว่าจำเลยผิดนัดชำระหนี้นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒ (๕)
อนึ่ง ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาที่คู่ความยังโต้แย้งกันอยู่ต้องคำนวณตามจำนวนเงินที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อคำนวณแล้วเป็นทุนทรัพย์ ๗๐,๒๘๔.๙๓ บาท ต้องเสียค่าขึ้นศาล ๑,๗๕๗.๕๐ บาท แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามาในทุนทรัพย์ ๑๑๑,๔๔๖.๖๘ บาท เป็นเงิน ๒,๗๘๕ บาท จึงให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เสียเกินมา ๑,๐๒๗.๕๐ บาท แก่โจทก์
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ดอกเบี้ยให้นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๑) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เสียเกินมา ๑,๐๒๗.๕๐ บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ.