แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้โจทก์จะฟ้องขอค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองโดยมีมูลเหตุจากการที่ จ. ขับรถบรรทุกชน ศ. บุตรโจทก์ เป็นเหตุให้บุตรโจทก์ถึงแก่ความตาย สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์เป็นการใช้สิทธิในฐานะผู้เอาประกันภัย เรียกให้จำเลยทั้งสองในฐานะผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ มีอายุความ 2 ปี นับแต่วันเกิดวินาศภัย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 882 มิใช่นับแต่ศาลในคดีส่วนอาญามีคำพิพากษา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน ๖๕,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๖ เมษายน ๒๕๕๑ จนถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ยจำนวน๒๑,๙๓๗.๕๐ บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยจำนวน ๘๖,๙๓๗.๕๐ บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๖๕,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติในชั้นฎีกาโดยคู่ความมิได้โต้แย้งว่า จำเลยทั้งสองเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ ๑ มีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยทุกประเภท ตามหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท กรุงเทพมหานคร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ จำเลยที่ ๒ เป็นบริษัทประกันวินาศภัยตามกฎหมายว่าด้วยประกันวินาศภัยจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๑๐ ทวิ มีวัตถุประสงค์ให้บริการในการรับคำร้องขอและการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นและค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ประสบภัย ตามที่บริษัทประกันภัยหรือสำนักงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยมอบหมาย ดำเนินกิจการตามที่บริษัทประกันภัยวินาศภัยหรือสำนักงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจะได้มอบหมายตามหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ จำเลยที่ ๑ เป็นผู้รับประกันภัยรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน ยบฉ ๖๒ กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ประเภทคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถกำหนดจ่ายเงินค่าเสียหายเบื้องต้น กรณีความเสียหายต่อชีวิต ๓๕,๐๐๐ บาทต่อหนึ่งคน ทั้งนี้จำนวนเงินค่าเสียหายเบื้องต้นเป็นส่วนหนึ่งของจำนวนเงินคุ้มครองผู้ประสบภัย ๑๐๐,๐๐๐ บาท กำหนดระยะเวลาคุ้มครองเริ่มต้นวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๐ สิ้นสุดวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๑ ตามตารางกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๕๑ นายอิ๊กหรือศักย์ศรณ์ บุตรชายโจทก์ขับรถจักรยานยนต์คันที่จำเลยที่ ๑ รับประกันภัยเฉี่ยวชนกับรถยนต์บรรทุก หมายเลขทะเบียน ๙๕ – ๔๘๙๗ กรุงเทพมหานคร ที่มีนายจรูญ เป็นคนขับ เป็นเหตุให้นายศักย์ศรณ์ถึงแก่ความตาย เหตุเกิดวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๕๑ พนักงานอัยการและโจทก์กับพวกฟ้องนายจรูญต่อศาลอาญา ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๑, ๙๐ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔๓, ๑๕๗ ศาลอาญาพิพากษาว่า นายจรูญมีความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุก ๖ ปี คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ หลังจากนายศักย์ศรณ์ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ ๒ ได้ชดใช้ค่าเสียหายเบื้องต้นแก่โจทก์ ๓๕,๐๐๐ บาท แต่ไม่ยอมชดใช้อีก ๖๕,๐๐๐ บาท เนื่องจากพนักงานสอบสวนมีความเห็นว่าเหตุที่เกิดขึ้นเกิดจากความผิดของนายศักย์ศรณ์และนายจรูญ
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า คำให้การของจำเลยทั้งสองมีประเด็นข้อพิพาทว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า คำให้การของจำเลยทั้งสองให้การเพียงว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ๒ ปี โดยไม่ได้ให้การปฏิเสธโดยชัดแจ้งว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ๒ ปี ตามสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันวินาศภัย คำให้การของจำเลยทั้งสองจึงไม่มีประเด็นว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองโดยมีมูลเหตุจากนายศักย์ศรณ์บุตรชายโจทก์ขับรถจักรยานยนต์ชนกับรถยนต์บรรทุกที่นายจรูญเป็นคนขับเป็นเหตุให้บุตรชายโจทก์ถึงแก่ความตายโดยมีคำขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถและโจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้รับประกันภัยวินาศภัยรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุที่บุตรชายโจทก์เป็นคนขับ ซึ่งเป็นการรับประกันภัยตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถโดยผลของพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.๒๕๓๕ และฟ้องจำเลยที่ ๒ ในฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๑ และขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงินค่าเสียหาย ส่วนเกินค่าเสียหายเบื้องต้นตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถอีก ๖๕,๐๐๐ บาท มิใช่เป็นการฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามมูลละเมิดแต่อย่างใด เมื่อจำเลยทั้งสองยื่นคำให้การปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ๒ ปี นับแต่วันเกิดเหตุรถชนกัน แม้คำให้การของจำเลยที่ ๑ จะอ้างว่าขาดอายุความเรื่องละเมิด ส่วนคำให้การของจำเลยที่ ๒ จะมิได้กล่าวโดยชัดแจ้งว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ๒ ปี เป็นอายุความของสิทธิเรียกร้องใดก็ตาม แต่เมื่ออ่านคำให้การของจำเลยทั้งสองแต่ละฉบับที่มีการระบุวันที่อายุความเริ่มนับแต่วันใดและถึงวันที่ขาดอายุความแล้ว ก็พอแปลได้ว่าจำเลยทั้งสองให้การต่อสู้เกี่ยวกับอายุความของสิทธิเรียกร้องที่โจทก์กล่าวในฟ้องนั่นเอง หาใช่สิทธิเรียกร้องในเรื่องอื่นไม่ ทั้งกำหนดอายุความ ๒ ปี ที่จำเลยทั้งสองอ้างนั้นก็เป็นกำหนดอายุความของสิทธิเรียกร้องให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนในสัญญาประกันวินาศภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๘๒ ด้วย คำให้การของจำเลยทั้งสองที่ให้การเกี่ยวกับอายุความนั้น เป็นคำให้การปฏิเสธโดยชัดแจ้งรวมทั้งเหตุแห่งการนั้นแล้ว เป็นคำให้การที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๗ วรรคสอง คำให้การของจำเลยทั้งสองจึงมีประเด็นข้อพิพาทในเรื่องอายุความว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่แล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า เมื่อจำเลยที่ ๒ จ่ายเงินค่าเสียหายเบื้องต้น ๓๕,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ ในวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๕๑ อายุความจึงสะดุดหยุดลงและเริ่มนับอายุความต่อไปเมื่อศาลอาญามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๓ นั้น เห็นว่า สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ เป็นการใช้สิทธิในฐานะผู้เอาประกันภัยเรียกให้จำเลยทั้งสองในฐานะผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถมีอายุความ ๒ ปี นับแต่วันวินาศภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๘๒ หาใช่นับตั้งแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีอาญาดังที่โจทก์ฎีกาไม่ และไม่ว่าจะเริ่มนับอายุความนับแต่วันที่ ๖ เมษายน ๒๕๕๑ ซึ่งเป็นวันเกิดวินาศภัย หรือเริ่มนับแต่วันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๕๑ ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ ๒ จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นก็ตาม ฟ้องโจทก์ก็เกินกว่ากำหนดเวลา ๒ ปี ฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ