คำวินิจฉัยที่ 55/2559

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเอกชนยื่นฟ้องเอกชนซึ่งเป็นเจ้าของบ่อดินขนาดใหญ่ว่าไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันควบคุมดูแลบ่อดินเพื่อมิให้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ที่ดินข้างเคียง เป็นเหตุให้ทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายจากการถูกน้ำในบ่อดินท่วมและการทรุดตัวของบ่อดินเนื่องจากการขุดบ่อดินลึกเกินกว่าที่ได้รับอนุญาต และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกลับละเลยต่อหน้าที่กรณีไม่ดำเนินการออกคำสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตขุดดินระงับการขุดดินหรือมีคำสั่งให้จัดการป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ตลอดจนไม่ออกคำสั่งให้จัดทำแนวป้องกันการพังทลายของดินหรือป้องกันน้ำล้นขอให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย เห็นว่า เมื่อเหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากการที่เอกชนฟ้องเอกชนด้วยกันให้รับผิดในมูลละเมิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม แม้โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครองละเลยต่อหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการขุดดินและการถมดิน พ.ศ.๒๕๔๓ก็ตาม แต่ก็เป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองมุ่งประสงค์ให้จำเลยร่วมกันรับผิดในความเสียหายที่เกิดจากมูลละเมิดเดียวกันที่ศาลจะต้องดำเนินการไปตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้เป็นยุติในข้อพิพาทระหว่างเอกชนด้วยกันว่ามีการกระทำละเมิดหรือไม่ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๕๕/๒๕๕๙

วันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๙

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลจังหวัดชลบุรี
ระหว่าง
ศาลปกครองระยอง

การยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดชลบุรีโดยสำนักงานยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาล
ในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๗ นายสังเวียน เหลือแป ที่ ๑ นางสาววิไล เหลือแป ที่ ๒ โจทก์ ยื่นฟ้อง บริษัทพีพีเอส เอนเนอยี แอนด์ มารีน จำกัด ที่ ๑ องค์การบริหารส่วนตำบลมาบโป่ง ที่ ๒ จำเลย เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๐๘๖/๒๕๕๗ ความว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดินพร้อม
สิ่งปลูกสร้างโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๕๒๑๔ ตำบลมาบโป่ง อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี ต่อมาเมื่อวันที่
๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๓ นายสุชาติ ประจวบเจริญกุล ยื่นคำขออนุญาตขุดดินต่อจำเลยที่ ๒ เพื่อขุดดินลึก ๑๕ เมตร ในที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๖๗๗ โฉนดที่ดินเลขที่ ๕๐๒๗ ถึงโฉนดที่ดินเลขที่ ๕๐๒๙ และโฉนดที่ดินเลขที่ ๕๒๗๖ ถึงเลขที่ ๕๒๗๘ เนื้อที่รวม ๕๓ ไร่ ๓ งาน ๕๐ ตารางวา ต่อมานายสุชาติหรือตัวแทนขุดดินลึกเกินกว่าที่ได้รับอนุญาตทำให้พื้นที่บริเวณดังกล่าวมีลักษณะเป็นบ่อดินขนาดใหญ่และลึก

แต่จำเลยที่ ๒ กลับละเลยต่อหน้าที่ไม่ควบคุมดูแลการขุดดินหรือออกคำสั่งให้ผู้ขุดดินหรือเจ้าของที่ดินหยุดการขุดดินหรือจัดการป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นหรือจัดการแก้ไขการขุดดินดังกล่าว ต่อมาปี ๒๕๕๕ จำเลยที่ ๑ ได้ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวจากนายสุชาติเพื่อประกอบกิจการจำหน่ายน้ำที่กักเก็บ
ในบ่อดินกว่าสิบล้านลูกบาศก์เมตร ให้แก่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนครจังหวัดชลบุรี โดยจำเลยที่ ๑ มิได้จัดให้มีมาตรการควบคุมดูแลบ่อดินและมิได้จัดทำแนวป้องกันการพังทลายของดินเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงอันเป็นการผิดวิสัยของผู้ประกอบกิจการพึงจะต้องกระทำ เป็นเหตุให้ที่ดินบริเวณโดยรอบทรุดและพังทลายซึ่งรวมถึงที่ดินของโจทก์ทั้งสองและ
ทางสาธารณะที่อยู่รอบบ่อดินนั้นด้วย ทำให้โจทก์ทั้งสองและประชาชนทั่วไปไม่สามารถใช้ประโยชน์ในการสัญจรได้ ทั้งเมื่อถึงฤดูฝนน้ำในบ่อดินก็จะเอ่อล้นและทะลักเข้ามาในบ้านเรือนของโจทก์ทั้งสองและประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นตลอดมา และเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๕๖ เกิดน้ำท่วมที่อำเภอ
พานทอง จังหวัดชลบุรี ทำให้น้ำในบ่อดินของจำเลยที่ ๑ ไหลบ่าทะลักเข้ามาในที่ดินและบ้านของโจทก์ทั้งสอง เป็นเหตุให้บ้านและทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก การที่จำเลยที่ ๑ ไม่ทำแนวป้องกันการพังทลายของดินและแนวป้องกันน้ำล้น ทั้งยังนิ่งเฉยไม่ปรับปรุงแก้ไขหรือบรรเทาความเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสอง ถือได้ว่าจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองจนได้รับความเสียหาย ส่วนจำเลยที่ ๒ เป็นหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยสนับสนุนการป้องกันรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน คุ้มครองดูแลรักษาทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและควบคุมดูแลการขุดดินให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการขุดดินและการถมดิน พ.ศ. ๒๕๔๓ แต่จำเลยที่ ๒ มิได้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว โดยมิได้ออกคำสั่งให้นายสุชาติหรือตัวแทนระงับการขุดดินหรือมีคำสั่งให้จัดการป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการขุดดิน เมื่อจำเลยที่ ๑ เข้ามาประกอบกิจการในบ่อดิน จำเลยที่ ๒ ก็มิได้มีคำสั่งให้จำเลยที่ ๑ จัดทำ
แนวป้องกันการพังทลายของดินหรือป้องกันน้ำล้นแต่อย่างใด โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายอันเกิดจากการทรุดตัวของดินทำให้สัดส่วนเนื้อที่ที่ดินสูญหายไปไม่เต็มตามจำนวนที่ระบุไว้ในโฉนดที่ดินและไม่สามารถใช้หรือทำประโยชน์บนที่ดินดังกล่าวได้ ทั้งยังทำให้ทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสองเสียหายและต้องเสียค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงที่พักอาศัยและจัดทำแนวป้องกันน้ำไหลทะลัก ขอให้บังคับจำเลย
ทั้งสองร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน ๑๐,๓๓๐,๑๒๕ บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง ความเสียหายของโจทก์
ทั้งสองเกิดจากภัยธรรมชาติ จำเลยที่ ๑ เป็นเพียงผู้ซื้อที่ดินมาจากเจ้าของกรรมสิทธิ์เดิมและไม่ได้เป็น
ผู้ขุดบ่อดิน หากมีความเสียหายเกิดขึ้นโจทก์ทั้งสองต้องไปเรียกร้องจากเจ้าของที่ดินเดิมซึ่งเป็น
ผู้ขุดบ่อดินหรือผู้ขออนุญาตขุดดิน มิใช่มาเรียกร้องจากจำเลยที่ ๑ ฟ้องโจทก์ทั้งสองเคลือบคลุม และดินที่ทรุดตัวจากอุทกภัยก็ไม่ได้เกิดในที่ดินของโจทก์ โจทก์ทั้งสองจึงไม่ได้รับความเสียหาย หน้าที่ในการ
ป้องกันการพังทลายของดินและแนวป้องกันการเอ่อล้นของน้ำในบ่อดินไม่ใช่หน้าที่ของจำเลยที่ ๑ แต่

เป็นหน้าที่ของผู้ขออนุญาตขุดดิน จำเลยที่ ๑ ซื้อที่ดินบริเวณดังกล่าวมาภายหลังจากที่มีการขุดบ่อดินแล้วและมิได้รู้เห็นถึงการขุดดินว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือเป็นไปตามที่จำเลยที่ ๒ ออกใบอนุญาตขุดดินไว้หรือไม่ จำเลยที่ ๑ ยังไม่ได้จำหน่ายน้ำที่กักเก็บในบ่อดินตามที่กล่าวอ้างและยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ ขณะนี้อยู่ระหว่างให้เจ้าของที่ดินเดิมดำเนินการให้ถูกต้องตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งสองเรียกร้องสูงเกินจริงและในความเป็นจริงโจทก์ทั้งสองไม่ได้รับความเสียหาย โจทก์ทั้งสองใช้สิทธิโดยไม่สุจริต คดีขาดอายุความ โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองและได้ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบขั้นตอนของทางราชการและติดตามควบคุมดูแลตลอดจนดำเนินการเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการขุดดินดังกล่าวมาโดยตลอด ทั้งยังได้แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญากับนายสุชาติ ประจวบเจริญกุล ผู้ขออนุญาตขุดดินแล้ว โจทก์ทั้งสองได้ยื่นฟ้องอดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบลมาบโป่งและเจ้าหน้าที่ในสังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลมาบโป่ง เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๗๓๑๖/๒๕๕๖ ต่อศาลจังหวัดชลบุรี ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ คดีอยู่ระหว่างพิจารณา ซึ่งหากคดีดังกล่าวศาลมีคำพิพากษา
ยกฟ้อง คดีในส่วนแพ่งนี้จะต้องถือข้อเท็จจริงที่ได้ความจากการพิจารณาคดีส่วนอาญา นอกจากนี้
ความเสียหายที่เกิดจากอุทกภัยในเดือนตุลาคม ๒๕๕๖ เป็นเหตุสุดวิสัย มิได้เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ ๒ ฟ้องโจทก์ทั้งสองเคลือบคลุม ค่าเสียหายเกินจากความจริง โจทก์ทั้งสองใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ความเสียหายที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างมิได้เป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒
จึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นกรณีที่ฟ้องว่าจำเลยที่ ๒
ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ปฏิบัติอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดชลบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า ประเด็นแห่งคดีนี้เป็นกรณีที่เอกชนฟ้องเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิดจากเอกชนด้วยกัน ที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองเพียงเพราะในฐานะผู้อนุญาตให้ขุดดินเท่านั้น เหตุละเมิดตามคำฟ้องของโจทก์จึงมิได้เป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยที่ ๒ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น และมิได้เป็นผลโดยตรงจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของ
ศาลยุติธรรม ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๓๐/๒๕๕๔

ศาลปกครองระยองพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ ๒ โดยนายกองค์การบริหารส่วนตำบลมาบโป่งในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติการขุดดินและถมดิน พ.ศ. ๒๕๔๓ กระทำละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร จึงเป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือ
ศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ โจทก์ทั้งสองอ้างว่าได้รับความเสียหายกรณีจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ กระทำละเมิดต่อโจทก์ โดยจำเลยที่ ๑ เป็นเอกชนที่ซื้อที่ดินต่อจากผู้มีชื่อ
ซึ่งเป็นผู้ขออนุญาตขุดดินในที่ดินบริเวณข้างเคียงกับที่ดินของโจทก์ทั้งสอง แต่ผู้มีชื่อดังกล่าว
ได้ดำเนินการขุดดินลึกเกินกว่าที่ได้รับอนุญาตจนเกิดเป็นบ่อดินขนาดใหญ่ เมื่อจำเลยที่ ๑ ซื้อที่ดิน
แปลงดังกล่าวมาได้ประกอบกิจการกักเก็บน้ำในบ่อดินเพื่อจำหน่ายโดยไม่ทำแนวป้องกันการพังทลายของดินและแนวป้องกันน้ำล้น เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง
อันเป็นการผิดวิสัยของผู้ประกอบกิจการพึงจะต้องกระทำ ส่วนจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นราชการส่วนท้องถิ่น
มีหน้าที่ในการควบคุมดูแลการขุดดินให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการขุดดินและการถมดิน
พ.ศ. ๒๕๔๓ กลับละเลยต่อหน้าที่ดังกล่าว โดยมิได้ออกคำสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตขุดดินระงับการขุดดินหรือมีคำสั่งให้จัดการป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น เมื่อจำเลยที่ ๑ ซื้อที่ดินบริเวณดังกล่าวและประกอบกิจการกักเก็บน้ำในบ่อดินเพื่อจำหน่าย จำเลยที่ ๒ ก็มิได้มีคำสั่งให้จำเลยที่ ๑ ดำเนินการเพื่อจัดทำแนวป้องกันการพังทลายของดินหรือป้องกันน้ำล้น เป็นเหตุโจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย
อันเกิดจากการทรุดตัวของดินทำให้สัดส่วนเนื้อที่ดินสูญหายไปไม่เต็มตามจำนวนที่ระบุไว้ในโฉนดที่ดินและไม่สามารถใช้หรือทำประโยชน์บนที่ดินดังกล่าวได้ ทั้งยังทำให้ทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสองเสียหายและต้องเสียค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงที่พักอาศัยและจัดทำแนวป้องกันน้ำไหลทะลัก ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสอง เห็นว่า คดีนี้เฉพาะจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองโต้แย้งว่าคดีของตนไม่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม และทั้งสองศาลคงวินิจฉัยคดีเฉพาะในส่วนของจำเลยที่ ๒ เท่านั้น ดังนั้นคดีในส่วนของจำเลยที่ ๑ จึงไม่มีกรณีที่ขัดแย้งกันในเรื่องอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล และเป็นอันยุติไปว่าอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า คดีระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ ๒ เท่านั้นว่าอยู่ในอำนาจของศาลใด เมื่อเหตุแห่งการฟ้องคดี

สืบเนื่องมาจากการที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเอกชน กระทำละเมิดเข้ามาประกอบกิจการกักเก็บน้ำในบ่อดินเพื่อจำหน่ายในที่ดินแปลงที่มีการขุดดินลึกเกินกว่าที่ได้รับอนุญาต โดยไม่ทำ
แนวป้องกันการพังทลายของดินและแนวป้องกันน้ำล้น ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย อันเป็นกรณีที่เอกชนฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดในมูลละเมิดจากเอกชนด้วยกันที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม แม้โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ละเลยต่อหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการขุดดินและการถมดิน พ.ศ. ๒๕๔๓ กรณีไม่ดำเนินการออกคำสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตขุดดินระงับการขุดดินหรือมีคำสั่งให้จัดการป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ตลอดจนไม่ดำเนินการออกคำสั่งให้จำเลยที่ ๑ จัดทำแนวป้องกันการพังทลายของดินหรือป้องกันน้ำล้น เป็นเหตุโจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายก็ตาม แต่โจทก์ทั้งสองก็ได้มีคำขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสอง อันเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองมุ่งประสงค์ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดในความเสียหายที่เกิดจากมูลละเมิดเดียวกัน ซึ่งการที่จำเลยที่ ๒ จะต้องรับผิดตามคำขอของโจทก์ทั้งสองได้ก็จะต้องดำเนินการไปตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้เป็นยุติในข้อพิพาทระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ ๑ ว่ามีการกระทำละเมิดหรือไม่ ซึ่งเป็นกรณีที่มูลความแห่งคดีเกี่ยวพันกันกับจำเลยที่ ๒ ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายสังเวียน เหลือแป ที่ ๑ นางสาววิไล เหลือแป ที่ ๒ โจทก์ บริษัทพีพีเอส เอนเนอยี แอนด์ มารีน จำกัด ที่ ๑ องค์การบริหารส่วนตำบลมาบโป่ง ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) ชาญชัย แสวงศักดิ์
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายชาญชัย แสวงศักดิ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share