คำวินิจฉัยที่ 52/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และความรับผิดของตัวแทนต่อตัวการ ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 15 แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าทรัพย์พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับผู้ตาย แต่มิได้เป็นประเด็นโดยตรงเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 จึงไม่เป็นคดีครอบครัวตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 10 (3)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นผู้จัดการมรดกของนายวิทยา ผู้ตาย มีบุตรด้วยกัน 4 คน จำเลยที่ 1 เป็นบุตรนอกสมรสของผู้ตายกับจำเลยที่ 2 ระหว่างสมรส ผู้ตาย โจทก์และบุตรทั้งสี่คนได้ร่วมกันประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมและธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์หลายบริษัท เมื่อปี 2550 จำเลยที่ 1 ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอรับส่วนแบ่งมรดกเป็นคดีหมายเลขดำที่ 296/2550 คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาในประเด็นว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับมรดกจำนวนเท่าใด ประมาณปลายเดือนธันวาคม 2558 ระหว่างที่โจทก์กำลังรวบรวมทรัพย์สินของผู้ตายเพื่อจัดทำบัญชีทรัพย์มรดก โจทก์ได้หลักฐานว่าเมื่อปี 2521 ผู้ตายนำเงินซึ่งเป็นสินสมรสไปซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 4297 และ 5096 ตำบลสีลม (สาทร) อำเภอบางรัก กรุงเทพมหานคร โดยใส่ชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนทั้งสองแปลง และนำเงิน 8 ล้านบาท ไปปลูกสร้างบ้านบนที่ดินทั้งสองแปลงให้จำเลยทั้งสองอยู่อาศัย ต่อมาจำเลยที่ 2 สมคบกับจำเลยที่ 1 โดยไม่สุจริตจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านให้แก่จำเลยที่ 1 โดยไม่มีค่าตอบแทน และในระหว่างปี 2517 ถึง 2540 ผู้ตายนำหุ้นของบริษัทไทยบริดจสโตน จำกัดซึ่งเป็นสินสมรส 200 หุ้น ไปใส่ชื่อจำเลยทั้งสองไว้แทน และยังซื้อหุ้นของบริษัทดังกล่าวอีกหลายครั้งโดยใส่ชื่อจำเลยทั้งสองไว้แทนรวม 3,200 หุ้น มีมูลค่าไม่น้อยกว่า 240,000,000 บาท บริษัทฯ จ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ตายในนามจำเลยทั้งสองตลอดมาทุกปี คิดเป็นเงิน 240,000,000 บาท ซึ่งหุ้นและเงินปันผลดังกล่าวจำเลยทั้งสองต้องนำมาส่งคืนแก่โจทก์เพื่อแบ่งปันทายาท โจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสองส่งมอบทรัพย์มรดกดังกล่าวแล้วแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องให้แก่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดก หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และให้จำเลยทั้งสองพร้อมบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท หากไม่ยอมออกให้ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายในอัตราวันละ 5,000 บาท ให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนหุ้นและเงินปันผลของบริษัทไทยบริดจสโตน จำกัด ตามคำขอท้ายฟ้องคืนแก่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดก พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถูกกำจัดมิให้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายทั้งหมด หรือเฉพาะส่วนที่ยักย้ายหรือปิดบัง
จำเลยทั้งสองให้การว่าทำนองเดียวกันว่า นายวิทยา ผู้ตายให้การอุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 1 เท่าเทียมบุตรที่เกิดกับโจทก์ และให้ทรัพย์สินแก่จำเลยที่ 1 โดยเสน่หาตามหน้าที่ธรรมจรรยาและตามฐานานุรูปของบิดา จำเลยที่ 2 ไม่ได้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตามฟ้องแทนผู้ใด ได้นำเงินส่วนตัวที่ได้จากการขายที่ดินพร้อมบ้านเลขที่ 52/18 และเงินได้จากการทำงานของจำเลยที่ 2 ไปซื้อที่ดินพิพาท นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองแก่สถาบันการเงินแล้วนำเงินมาปลูกสร้างบ้านเลขที่ 30 จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยที่ 1 โดยสุจริตอันเป็นการให้ตามหน้าที่ธรรมจรรยา และผู้ตายโอนหุ้นในบริษัทไทยบริดจสโตน จำกัด จำนวน 400 หุ้น ให้แก่จำเลยที่ 1 ตามหน้าที่ธรรมจรรยา จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้ถือหุ้นแทนผู้ตาย เมื่อมีการประกาศเพิ่มทุน จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 นำเงินที่ได้จากเงินปันผลมาซื้อหุ้นเพิ่มทุน 400 หุ้น ซึ่งต่อมาจำเลยที่ 1 โอนหุ้นเพิ่มทุน 400 หุ้นดังกล่าว ให้แก่จำเลยที่ 2 ตามหน้าที่ศีลธรรมอันดีเมื่อบริษัทฯ ประกาศเพิ่มทุนอีก จำเลยทั้งสองก็ซื้อหุ้นเพิ่มทุนอีกหลายครั้ง หุ้นในบริษัทไทยบริดจสโตน จำกัด จึงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสอง เงินปันผลเป็นดอกผลของหุ้น ย่อมเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสอง โจทก์ฟ้องคดีไม่สุจริตและฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ในวันสืบพยานโจทก์ ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เห็นว่า กรณีมีปัญหาว่าคดีจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวหรือไม่ จึงส่งสำนวนให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 11
วินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายวิทยา ผู้ตายในฐานะผู้จัดการมรดก ฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์บ้านพร้อมที่ดินที่ผู้ตายนำเงินสินสมรสไปซื้อโดยให้จำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์แทนแล้วจำเลยที่ 2 โอนให้แก่จำเลยที่ 1 รวมทั้งให้โอนหุ้นที่ผู้ตายให้จำเลยทั้งสองถือกรรมสิทธิ์แทน และคืนเงินปันผลในหุ้นที่จำเลยทั้งสองรับแทนผู้ตายคืนแก่โจทก์ ส่วนจำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทแทนผู้ตาย จำเลยที่ 2 โอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยที่ 1 ตามหน้าที่ธรรมจรรยา ผู้ตายโอนหุ้นให้จำเลยที่ 1 ตามหน้าที่ธรรมจรรยาและตามฐานานุรูป จากนั้นจำเลยที่ 1 ก็โอนหุ้นให้จำเลยที่ 2 ตามศีลธรรมอันดี จำเลยทั้งสองนำเงินปันผลมาซื้อหุ้นเพิ่มทุน หุ้นและเงินปันผลจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสอง มิได้เป็นการถือหุ้นและรับเงินปันผลแทนผู้ตาย คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแทนผู้ตาย และจำเลยทั้งสองถือหุ้นและรับเงินปันผลแทนแทนผู้ตายหรือไม่ จำเลยทั้งสองต้องโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง หุ้นและเงินปันผลคืนแก่โจทก์หรือไม่ อันเป็นปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และความรับผิดของตัวแทนต่อตัวการที่ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 15 แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าทรัพย์พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับผู้ตาย แต่มิได้เป็นประเด็นโดยตรงเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 คดีนี้จึงไม่เป็นคดีครอบครัวตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 10 (3)
วินิจฉัยว่า คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัว
วินิจฉัย ณ วันที่ 22 เดือน สิงหาคม พุทธศักราช 2559

วีระพล ตั้งสุวรรณ
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ)
ประธานศาลฎีกา

Share