คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4488/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การทำซ้ำโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์นั้น ไม่ว่าจะเป็นการทำซ้ำจากบันทึกของงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ที่ผู้เสียหายอนุญาตให้ทำขึ้น หรือทำซ้ำจากบันทึกของงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ก็ล้วนเป็นการกระทำต่อโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ซึ่งถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 30 (1) เพราะชุดคำสั่งที่เขียนด้วยภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (source code) หรือภาษาเครื่อง (object code) อันเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 ซึ่งบันทึกอยู่ในงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายหรือบันทึกอยู่ในบันทึกของงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายนั้นเป็นตัวงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 และ 6

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 27, 30, 61, 69, 75 และ 76 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 และ 33 ริบเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน 41 เครื่อง ของกลางและให้หน่วยความจำของเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน 41 เครื่อง ของกลางที่บันทึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ และให้จำเลยจ่ายค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า เมื่อได้ตรวจคำฟ้องแล้วเห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้ละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของบริษัทไมโครซอฟท์คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้เสียหาย โดยการนำเอาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่มีผู้ทำซ้ำดัดแปลงขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของบริษัทผู้เสียหายไปติดตั้งบันทึกลงในหน่วยความจำถาวรของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยจำนวน 41 เครื่อง ซึ่งจำเลยกระทำในลักษณะทำซ้ำดัดแปลง ทำให้ปรากฏเป็นคำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใดที่นำไปใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ โดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำงานขึ้นใหม่ โดยวิธีบันทึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของบริษัทดังกล่าวลงในหน่วยความจำของเครื่องคอมพิวเตอร์ และจำเลยได้ประโยชน์จากการใช้และให้บริการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของบริษัทผู้เสียหาย ตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวยังไม่แน่ชัดว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีการบรรจุลงในหน่วยความจำนั้นเป็นโปรแกรมที่มีลิขสิทธิ์หรือเป็นโปรแกรมที่มีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย และจำเลยหรือผู้อื่นนั้นกระทำการอันละเมิดลิขสิทธิ์แก่งานของบริษัทผู้เสียหายในลักษณะอย่างไรกันแน่ เมื่อคำฟ้องของโจทก์ยังไม่ชัดเจนดังกล่าว จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) พิพากษายกฟ้อง ให้คืนของกลางทั้งหมดแก่เจ้าของ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าโจทก์บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานละเมิดลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์เพื่อการค้า ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 30 (1) ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยได้กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ “Microsoft Windows XP Professional” โปรแกรมคอมพิวเตอร์ “Microsoft Office Professional Edition 2003” และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ “Microsoft Office Enterprise 2007” ของบริษัทผู้เสียหายซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเทศสหรัฐอเมริกาที่เป็นภาคีในอนุสัญญากรุงเบอร์นว่าด้วยการคุ้มครองงานวรรณกรรมและศิลปกรรมอันเป็นอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วยและผู้เสียหายได้โฆษณางานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทั้งสามดังกล่าวเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2544 วันที่ 21 ตุลาคม 2546 และวันที่ 31 มกราคม 2550 ตามลำดับ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งอยู่ในระยะเวลาคุ้มครองลิขสิทธิ์ 50 ปี นับแต่ที่ได้โฆษณางานนั้นครั้งแรก ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 19 วรรคสี่ โดยจำเลยทำซ้ำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทั้งสามของผู้เสียหายที่มีผู้ทำซ้ำโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายด้วยการบันทึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทั้งสามดังกล่าวลงในหน่วยความจำถาวร (Hard Disk) ของเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน 41 เครื่อง ที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยและจำเลยได้ประโยชน์จากการใช้และให้บริการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของผู้เสียหายผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวนทั้งสี่สิบเอ็ดเครื่องดังกล่าวซึ่งเป็นกระทำเพื่อการค้าหากำไรจากประชาชนทั่วไปซึ่งเป็นลูกค้าจำเลยที่เข้ามาใช้บริการเครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวภายในร้านอิสเทิร์นคอมอันเป็นสถานประกอบกิจการของจำเลยที่ถนนราษฎรดำริ ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหาย ดังนี้ การบรรยายฟ้องดังกล่าวของโจทก์ถือได้ว่าเป็นการบรรยายฟ้องว่าจำเลยได้กระทำซ้ำโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ทั้งสามโปรแกรมดังกล่าวของผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้นเพื่อการค้า อันเป็นการบรรยายฟ้องครบองค์ประกอบของความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ในงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 30 (1) แล้ว การทำซ้ำโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์นั้นไม่ว่าจะเป็นการทำซ้ำจากบันทึกของงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ที่ผู้เสียหายได้อนุญาตให้ทำขึ้นหรือทำซ้ำจากบันทึกของงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายก็ล้วนเป็นการกระทำต่อโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ซึ่งถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 30 (1) เพราะชุดคำสั่งที่เขียนด้วยภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (source code) หรือภาษาเครื่อง (object code) อันเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 ซึ่งบันทึกอยู่ในบันทึกของงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายหรือบันทึกอยู่ในบันทึกของงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายนั้นเป็นตัวงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 และ 6 เช่นเดียวกัน คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่ได้บรรยายครบองค์ประกอบของความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ในงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้า ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 30 (1) และเป็นคำฟ้องที่ได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิดฐานดังกล่าว พร้อมด้วยรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำความผิดฐานนั้นและบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาความผิดฐานดังกล่าวได้ดี ทั้งโจทก์มีคำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 30 และ 69 แล้ว คำฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์ยังไม่แน่ชัดว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีการบรรจุลงในหน่วยความจำของเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นโปรแกรมที่มีลิขสิทธิ์หรือเป็นโปรแกรมที่มีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายและจำเลยหรือผู้อื่นนั้นกระทำการอันละเมิดลิขสิทธิ์แก่งานของบริษัทผู้เสียหายอย่างไรกันแน่ จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป

Share