คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3999/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ก่อนมีการตกลงว่าจ้างจำเลยขนส่งสินค้ากังหันไอน้ำความดันต่ำ โจทก์แจ้งกำหนดเวลาส่งมอบสินค้าว่า ประมาณวันที่ 25 มิถุนายน 2552 ให้จำเลยทราบแล้วในหนังสือขอให้จำเลยเสนอราคาค่าจ้างบริการขนส่งสินค้าทางเรือ ดังนั้น ก่อนเสนอราคาจำเลยย่อมต้องตรวจสอบตารางการเดินเรือว่าสามารถดำเนินการรับขนสินค้าจากท่าเรือต้นทางเมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น ได้ทันวันดังกล่าวหรือไม่ แต่จำเลยกลับนำสืบว่าได้จองเรือที่เดินทางออกจากท่าเรือในวันที่ 23 มิถุนายน 2552 นอกจากนี้เมื่อโจทก์สนองรับราคาของจำเลย โจทก์ยังแนบสัญญาซื้อขายกังหันไอน้ำความดันต่ำซึ่งมีกำหนดเวลาส่งมอบสินค้าภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2552 ไปพร้อมกับหนังสือจ้างขนส่งสินค้าทางเรือให้จำเลยทราบอีกด้วย จำเลยจึงย่อมต้องทราบดีว่าหากจำเลยไม่สามารถจัดหาเรือที่จะออกจากท่าเรือต้นทางเมืองโยโกฮามาอย่างช้าที่สุดวันที่ 25 มิถุนายน 2552 ได้ จำเลยยังมีทางเลือกที่จะจัดหาเรือซึ่งออกจากท่าเรือต้นทางอย่างช้าที่สุดวันที่ 30 มิถุนายน 2552 ได้อีกด้วย แม้หนังสือจ้างจะไม่มีข้อตกลงให้จำเลยไปรับสินค้าในวันที่ 25 มิถุนายน 2552 โดยมีเพียงข้อกำหนดให้จำเลยส่งมอบงานภายใน 22 วัน นับจากวันที่จำเลยรับสินค้าจากผู้ขายที่ประเทศญี่ปุ่นเท่านั้นก็ตาม แต่จากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังได้ว่าจำเลยทราบกำหนดวันที่ผู้ขายจะส่งมอบสินค้าให้แก่โจทก์ หนังสือจ้างขนส่งสินค้าทางเรือจึงเป็นสัญญาที่มีกำหนดเวลาที่จำเลยต้องปฏิบัติตามสัญญาไว้แน่นอน การที่จำเลยจองระวางเรือซึ่งมีกำหนดการเดินทางออกจากท่าเรือเมืองโยโกฮามาวันที่ 23 มิถุนายน 2552 จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นการจองระวางเรือที่เหมาะสมกับกำหนดเวลาส่งมอบสินค้าจากผู้ขาย
แม้จำเลยนำสืบว่าเรือเดินทะเลอาจเทียบท่าก่อนตารางการเดินเรือได้เนื่องจากภัยธรรมชาติตามสัญญาเลย์แคน (Laycan) และเป็นเหตุสุดวิสัยที่จำเลยไม่อาจควบคุมได้ แต่เมื่อจำเลยไม่ได้นำสืบว่าเหตุที่เรือที่จำเลยว่าจ้างเข้าเทียบท่าเรือและออกจากท่าเรือก่อนกำหนดเกิดจากภัยธรรมชาติอย่างไร ทั้งกรณีจะเป็นเหตุสุดวิสัยจะต้องได้ความว่าเหตุดังกล่าวเป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 8 เมื่อจำเลยประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการรับขนสินค้าทางทะเลย่อมต้องทราบดีว่าระยะเวลาการเดินเรือและเข้าเทียบท่าอาจคลาดเคลื่อนได้ หากจำเลยใช้ความระมัดระวังตามสมควรในฐานะผู้ประกอบการก็ไม่ควรจองระวางเรือที่จะออกจากท่าเรือต้นทางก่อนถึงกำหนดส่งมอบสินค้าตามที่โจทก์แจ้งไว้ล่วงหน้า จึงหาใช่เหตุสุดวิสัยดังข้อต่อสู้ของจำเลยไม่
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาจ้างไม่ไปรับสินค้าตามกำหนดที่ตกลงไว้กับโจทก์ทำให้โจทก์เสียหาย หาใช่เป็นคดีที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในกรณีที่สินค้าสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบสินค้าชักช้า จึงไม่สามารถนำ พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 52 และ 58 มาปรับใช้แก่คดีดังที่จำเลยต่อสู้ได้
เมื่อโจทก์แจ้งให้จำเลยทราบกำหนดรับมอบสินค้าว่าประมาณวันที่ 25 มิถุนายน 2552 แล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจัดหาเรือไปรับสินค้าให้ทันวันดังกล่าว โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งให้จำเลยทราบว่าโจทก์จะใช้สินค้าเมื่อใด เนื่องจากโจทก์ไม่ได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดแก่พฤติการณ์พิเศษตาม ป.พ.พ. มาตรา 222 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยต้องรับผิดชดใช้ต้นเงินจำนวน 996,635.43 บาท แก่โจทก์ เมื่อรวมกับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2552 อันเป็นวันที่จำเลยผิดนัดจนถึงวันที่ 3 กันยายน 2556 อันเป็นวันฟ้องจำนวน 293,051.77 บาท แล้ว เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 1,289,687.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 996,635.43 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยไม่โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังว่า โจทก์ซื้อกังหันไอน้ำความดันต่ำจำนวน 3 ชุด เพื่อใช้ในโรงไฟฟ้าแม่เมาะหน่วยที่ 8 ที่ 10 ที่ 11 จากบริษัทฟูจิอิเล็กทริกซิสเต็ม จำกัด ผู้ขายที่ประเทศญี่ปุ่น โดยโจทก์และผู้ขายตกลงให้มีการส่งมอบกังหันไอน้ำความดันต่ำชุดที่ 3 เพื่อใช้สำหรับโรงงานไฟฟ้าแม่เมาะ หน่วยที่ 11 ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2552 ต่อมาโจทก์ส่งหนังสือขอให้จำเลยและบริษัทที่ประกอบการรับขนของทางทะเลหลายรายเสนอราคาค่าขนส่งกังหันไอน้ำความดันต่ำชุดที่ 3 น้ำหนักรวมจำนวน 135,600 กิโลกรัม จากท่าเรือเมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น มายังท่าเรือแหลมฉบัง ประเทศไทย โดยระบุในหนังสือว่ากำหนดส่งของประมาณวันที่ 25 มิถุนายน 2552 และให้มีเงื่อนไขการจ้างตามหนังสือของโจทก์ลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2552 จำเลยเสนอราคาค่าขนส่งจำนวน 710,909.57 บาท ซึ่งเป็นราคาต่ำสุด โจทก์จึงสนองรับราคาและทำหนังสือจ้างจำเลยให้ขนส่งสินค้าดังกล่าว โดยกำหนดให้จำเลยส่งมอบสินค้าแก่โจทก์ภายในกำหนด 22 วัน นับถัดจากวันที่จำเลยได้รับสินค้าจากผู้ขาย ตามหนังสือจ้างดำเนินการขนส่งสินค้าทางเรือ ต่อมาจำเลยได้วางหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาจ้างเป็นเงินจำนวน 71,090.95 บาท แก่โจทก์ ตามเงื่อนไขการจ้างและติดต่อเรือประเภทคอนเวนชันนอล (Conventional) ชื่อเคฟโฮว์ ให้ไปรับสินค้าจากท่าเรือต้นทางเมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น มายังท่าเรือปลายทางแหลมฉบัง ประเทศไทย แต่เรือดังกล่าวเดินทางถึงท่าเรือเมืองโยโกฮามา วันที่ 17 มิถุนายน 2552 และออกจากท่าเรือในวันที่ 21 มิถุนายน 2552 ทำให้ผู้ขายซึ่งมีหน้าที่ส่งสินค้าภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2552 ตามสัญญาซื้อขายกังหันไอน้ำความดันต่ำของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ไม่สามารถส่งสินค้าไปยังท่าเรือได้ทัน โดยก่อนหน้านั้นผู้ขายได้แจ้งมายังโจทก์แล้วว่า สามารถส่งสินค้าไปยังท่าเรือเมืองโยโกฮามาได้เร็วที่สุดในวันที่ 23 มิถุนายน 2552 ต่อมาโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย ตามหนังสือบอกเลิกใบสั่งจ้างลงวันที่ 19 มิถุนายน 2552 และว่าจ้างบริษัทยูไนเต็ดไทยชิปปิ้ง จำกัด ให้ขนส่งสินค้าให้แก่โจทก์ ต่อมาโจทก์มีหนังสือแจ้งจำเลยให้ชำระค่าเสียหายเป็นค่าจ้างที่โจทก์ต้องเสียเพิ่มขึ้นตามเงื่อนไขงานจ้างบริการรับขนส่งสินค้าทางเรือ ข้อ 10.2 จำนวน 996,663.43 บาท รวมกับค่าปรับอีกจำนวน 71,090.95 บาท เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 1,067,726.38 บาท ตามหนังสือแจ้งให้ชำระหนี้ลงวันที่ 16 กันยายน 2552 จำเลยทำหนังสือชี้แจงเหตุผลของการไม่สามารถรับสินค้าจากผู้ขายได้ทันกำหนดต่อโจทก์ ตามหนังสือชี้แจงเหตุผลต่อหนังสือให้ชำระหนี้ของโจทก์ ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2552 โจทก์พิจารณาแล้วมีหนังสือยืนยันให้จำเลยชำระค่าเสียหาย จำเลยได้รับแล้วแต่เพิกเฉย โจทก์จึงริบหลักประกันที่จำเลยวางไว้จำนวน 71,090.95 บาท เพื่อหักชำระค่าปรับและค่าเสียหายและมีหนังสือแจ้งให้จำเลยทราบ ตามหนังสือแจ้งการหักเงินประกันชำระหนี้ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยผิดสัญญาและต้องรับผิดต่อโจทก์ตามหนังสือจ้างดำเนินการขนส่งสินค้าทางเรือลงวันที่ 3 มิถุนายน 2552 หรือไม่เพียงใด เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ก่อนมีการตกลงว่าจ้างจำเลยให้ทำการขนส่งสินค้ากังหันไอน้ำความดันต่ำตามคำฟ้อง โจทก์ได้แจ้งกำหนดเวลาส่งมอบสินค้าว่าประมาณวันที่ 25 มิถุนายน 2552 ให้จำเลยทราบแล้วในหนังสือขอให้จำเลยเสนอราคาค่าจ้างบริการขนส่งสินค้าทางเรือพร้อมแนบเงื่อนไขงานจ้างบริการรับขนส่งสินค้าทางเรือให้จำเลยทราบด้วย ตามหนังสือของโจทก์ขอให้เสนอราคาค่าจ้างบริการขนส่งสินค้าทางเรือเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2552 ดังนั้น ก่อนที่จำเลยเสนอราคาค่าจ้างแก่โจทก์นั้น จำเลยย่อมต้องตรวจสอบตารางการเดินเรือว่าสามารถดำเนินการรับขนสินค้าจากท่าเรือต้นทางเมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น ได้ทันในวันที่ 25 มิถุนายน 2552 หรือไม่ โดยต้องตรวจสอบตารางการเดินเรือว่า มีเรือลำใดที่ออกจากท่าเรือดังกล่าวอย่างช้าที่สุดในวันที่ 25 มิถุนายน 2552 แต่จำเลยกลับนำสืบว่า จำเลยได้จองเรือที่เดินทางออกจากท่าเรือต้นทางดังกล่าวในวันที่ 23 มิถุนายน 2552 นอกจากนี้ เมื่อโจทก์สนองรับราคาของจำเลย ตามหนังสือจ้างดำเนินการขนส่งทางเรือลงวันที่ 3 มิถุนายน 2552 แล้ว โจทก์ยังได้แนบสัญญาซื้อขายกังหันไอน้ำความดันต่ำซึ่งมีกำหนดเวลาส่งมอบสินค้าภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2552 ตามสัญญาซื้อขายกังหันไอน้ำความดันต่ำลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2550 ไปพร้อมหนังสือจ้างให้จำเลยทราบอีกด้วย ดังนั้น จำเลยจึงย่อมต้องทราบดีว่าหากจำเลยไม่สามารถจัดหาเรือที่จะออกจากท่าเรือต้นทางเมืองโยโกฮามาอย่างช้าที่สุดวันที่ 25 มิถุนายน 2552 ได้ จำเลยยังมีทางเลือกที่จะจัดหาเรือซึ่งออกจากท่าเรือต้นทางอย่างช้าที่สุดในวันที่ 30 มิถุนายน 2552 ได้อีกด้วย แม้หนังสือจ้างดำเนินการขนส่งสินค้าทางเรือ จะไม่มีข้อตกลงให้จำเลยไปรับสินค้าในวันที่ 25 มิถุนายน 2552 โดยมีเพียงข้อกำหนดให้จำเลยส่งมอบงานภายใน 22 วัน นับถัดจากวันที่จำเลยรับสินค้าจากผู้ขายที่ประเทศญี่ปุ่นเท่านั้นก็ตาม แต่พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมามีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังได้ว่า จำเลยทราบกำหนดวันที่ผู้ขายจะส่งมอบสินค้าให้แก่โจทก์อยู่ระหว่างวันที่ 25 ถึง 30 มิถุนายน 2552 และจำเลยจะต้องส่งมอบสินค้าให้แก่โจทก์ภายใน 22 วัน นับถัดจากวันรับสินค้าจากผู้ขายแล้ว หนังสือจ้างขนส่งสินค้าทางเรือจึงเป็นสัญญาที่มีกำหนดเวลาที่จำเลยต้องปฏิบัติตามสัญญาไว้แน่นอนโดยการไปรับสินค้าจากผู้ขายตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน 2552 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2552 การที่จำเลยจองระวางเรือชื่อเคฟโฮว์ ซึ่งมีกำหนดการเดินทางออกจากท่าเรือเมืองโยโกฮามา วันที่ 23 มิถุนายน 2552 ตามตารางการเดินเรือ จึงรับฟังไม่ได้ว่าเป็นการจองระวางเรือที่เหมาะสมกับกำหนดเวลาส่งมอบสินค้าจากผู้ขาย ซึ่งเป็นประมาณวันที่ 25 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2552 ตามที่ระบุไว้ในหนังสือขอให้เสนอราคาและสัญญาซื้อขายและแม้เรือดังกล่าวไปถึงท่าเรือต้นทางและออกจากท่าเรือต้นทางเมืองโยโกฮามาก่อนกำหนดตารางเดินเรือที่ระบุว่า จะออกจากท่าเรือดังกล่าวในวันที่ 23 มิถุนายน 2552 เป็นเรื่องนอกเหนือการควบคุมของจำเลย เนื่องจากเรือดังกล่าวไม่ใช่เรือของจำเลยก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงจะถือเป็นเหตุให้จำเลยไม่ต้องรับผิดตามข้อ 10 ของเงื่อนไขงานจ้างบริการรับขนส่งสินค้าทางเรือท้ายเอกสารที่ระบุว่า “ถ้าผู้รับจ้างผิดนัดไม่ส่งมอบงานตามใบสั่งจ้างหรือส่งมอบไม่ครบถ้วนหรือล่วงเลยกำหนด หรือไม่ดำเนินการตามขอบเขตของงานโดยมีสาเหตุจากตัวแทนของผู้รับจ้างหรือเหตุอื่นใดที่ผู้รับจ้างต้องรับผิดชอบเอง หรือให้ผู้อื่นรับช่วงงาน กฟผ. (โจทก์) มีสิทธิบอกเลิกการสั่งจ้างทั้งหมดหรือบางส่วน แล้วแต่กรณี และเมื่อ กฟผ. (โจทก์) ใช้สิทธิบอกเลิกแล้ว ผู้รับจ้างต้องรับผิดชดใช้ค่าปรับหรือค่าเสียหายแก่ กฟผ. (โจทก์)” ไม่ได้ เนื่องจากเหตุที่จำเลยผิดนัดไม่ส่งมอบสินค้าตามใบสั่งจ้างมีสาเหตุมาจากสายการเดินเรือซึ่งถือเป็นตัวแทนของจำเลยหรือรับช่วงงานจากจำเลยที่เดินทางไปถึงท่าเรือต้นทางเมืองโยโกฮามาและออกจากท่าเรือก่อนเวลาที่กำหนดไว้ในตารางการเดินเรือ แม้จำเลยนำสืบว่า เรือเดินทะเลอาจเทียบท่าก่อนตารางการเดินเรือได้เนื่องจากภัยธรรมชาติตามสัญญาเลย์แคน (Laycan) และเป็นเหตุสุดวิสัยที่จำเลยไม่อาจควบคุมได้ แต่เมื่อจำเลยไม่ได้นำสืบว่า เหตุที่เรือที่จำเลยว่าจ้างเข้าเทียบท่าเรือและออกจากท่าเรือก่อนกำหนดเกิดจากภัยธรรมชาติอย่างไร ทั้งกรณีจะเป็นเหตุสุดวิสัยตามที่จำเลยนำสืบมานั้นจะต้องได้ความว่าเหตุดังกล่าวเป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้ แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้น จะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น ตามที่มาตรา 8 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติไว้ เมื่อจำเลยเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการรับขนสินค้าทางทะเลซึ่งย่อมต้องทราบดีว่าระยะเวลาของการเดินเรือและการเข้าเทียบท่าอาจมีความคลาดเคลื่อนได้ ดังนั้น หากจำเลยใช้ความระมัดระวังตามสมควรในฐานะที่เป็นผู้ประกอบกิจการรับขนสินค้าทางทะเล ก็ไม่ควรที่จะจองระวางเรือที่จะออกจากท่าเรือต้นทางก่อนถึงกำหนดส่งมอบสินค้าตามที่โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทราบล่วงหน้าก่อนแล้ว การที่เรือรับสินค้าที่จำเลยว่าจ้างมาถึงท่าเรือต้นทางเมืองโยโกฮามาและออกจากท่าเรือก่อนกำหนดส่งมอบสินค้า จึงหาใช่เหตุสุดวิสัยที่จะทำให้จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ดังข้อต่อสู้ของจำเลยไม่ ส่วนข้อที่จำเลยต่อสู้ว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 52 (13) เนื่องจากเหตุที่จำเลยไม่สามารถรับสินค้าได้ทันตามสัญญาไม่ได้เกิดจากความผิดหรือความประมาทเลินเล่อ หรืออยู่ในความรู้เห็นของจำเลยและจำเลยสามารถจำกัดความรับผิดได้ตามมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันได้นั้น เห็นว่า เมื่อคดีนี้เป็นคดีที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยผิดสัญญาจ้างโดยไม่ไปรับสินค้าตามกำหนดที่ตกลงไว้กับโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย หาใช่เป็นคดีที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในกรณีที่สินค้าสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบสินค้าชักช้าอันจะนำมาตรา 52 และมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาปรับใช้แก่คดีนี้ได้ ข้อต่อสู้ของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น ส่วนข้อที่จำเลยนำสืบต่อสู้ว่า จำเลยไม่ทราบว่าโจทก์ต้องการใช้สินค้ากังหันไอน้ำแรงดันต่ำภายในวันที่ 25 กรกฎาคม 2552 และจำเลยพยายามปฏิบัติตามสัญญาโดยจัดหาเรือเพื่อไปรับสินค้าแทนแล้ว แต่โจทก์กลับบอกเลิกสัญญาก่อนนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทราบก่อนที่จำเลยจะเสนอราคาค่าจ้างขนส่งสินค้าทางเรือ ตามหนังสือของโจทก์ขอให้เสนอราคาค่าจ้างบริการขนส่งสินค้าทางเรือลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2552 แล้วว่ากำหนดส่งมอบสินค้าคือ ประมาณวันที่ 25 มิถุนายน 2552 จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจัดหาเรือไปรับสินค้าให้ทันวันดังกล่าว ส่วนการที่โจทก์จะแจ้งหรือไม่แจ้งว่าจะใช้สินค้าเมื่อใดนั้น โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งให้จำเลยทราบแต่อย่างใด เว้นแต่กรณีที่โจทก์จะเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษตามมาตรา 222 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องแจ้งให้จำเลยทราบก่อนเพื่อให้จำเลยได้คาดเห็นถึงความเสียหายพิเศษที่อาจเกิดขึ้นหากมีการส่งมอบสินค้าให้โจทก์ชักช้า แต่คดีนี้โจทก์ไม่ได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งให้จำเลยทราบถึงกำหนดการใช้กังหันไอน้ำความดันต่ำแต่อย่างใด
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 996,635.43 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2552 อันเป็นวันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยคิดถึงวันที่ 3 กันยายน 2556 อันเป็นวันฟ้องต้องไม่เกินจำนวน 293,051.77 บาท ค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share