คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3894/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาว่าจ้างก่อสร้างช่วงระหว่างโจทก์กับจำเลยตกลงให้นำสัญญาหลักระหว่างจำเลยกับบริษัท อ. เจ้าของงานมาใช้บังคับ สัญญาหลักมีข้อตกลงว่าหากมีกรณีพิพาทอันเนื่องมาจากการปฏิบัติตามสัญญา คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้วินิจฉัย จึงถือว่าสัญญาว่าจ้างก่อสร้างช่วงระหว่างโจทก์กับจำเลยมีสัญญาอนุญาโตตุลาการแล้วตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 11 วรรคท้าย แม้ต่อมาโจทก์กับจำเลยตกลงเลิกสัญญาต่อกัน แต่ก็มิใช่กรณีมีเหตุที่ทำให้ข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะหรือใช้บังคับไม่ได้ด้วยเหตุประการอื่น หรือมีเหตุทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานั้นได้ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง โจทก์และจำเลยยังมีหน้าที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการเมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้น
ส่วนกรณีสัญญาว่าจ้างก่อสร้างช่วงที่มีข้อกำหนดให้จำเลยเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดเมื่อมีข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการปฏิบัติตามสัญญาว่าจ้างก่อสร้างช่วงนั้น หาได้ขัดหรือแย้งกับข้อตกลงให้ระงับข้อพิพาทโดยวิธีการอนุญาโตตุลาการดังกล่าวไม่ เพราะข้อวินิจฉัยชี้ขาดของจำเลยไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย หากโจทก์ไม่ยินยอมปฏิบัติตาม ข้อพิพาทดังกล่าวย่อมต้องใช้กระบวนการระงับข้อพิพาทโดยวิธีการอนุญาโตตุลาการตามที่กำหนดไว้ในสัญญาหลักอยู่ดี ดังนั้น เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตามข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการให้ระงับข้อพิพาทโดยกระบวนการทางอนุญาโตตุลาการดังกล่าวในคดีนี้ก่อนจึงเป็นการไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน17,494,601.89 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน16,059,301.87 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลจำหน่ายคดี เนื่องจากข้อพิพาทตามฟ้องมีข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการระหว่างโจทก์กับจำเลย โจทก์ฟ้องคดีโดยไม่ได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อนตามสัญญา จึงฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการพ.ศ.2545 มาตรา 14
โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลย
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 11,012,060.81 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2553 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ100,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้จำหน่ายคดีเพื่อให้โจทก์และจำเลยไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการก่อน คืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นให้แก่โจทก์และคืนค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ให้แก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นทั้งสองศาลนอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยไม่ได้เสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดก่อนนั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามทางนำสืบของโจทก์และจำเลยรับกันว่า สัญญาว่าจ้างก่อสร้างหลักระหว่างบริษัทเอ็มทะเล จำกัด กับจำเลยฉบับลงวันที่ 8 เมษายน 2551 มีข้อตกลงกันว่า หากมีข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการปฏิบัติตามสัญญาว่าจ้างก่อสร้างแล้ว คู่สัญญาต้องเสนอข้อพิพาทดังกล่าวให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยก่อน ส่วนสัญญาว่าจ้างก่อสร้างช่วงระหว่างโจทก์กับจำเลยฉบับลงวันที่ 9 มิถุนายน 2551 ในหน้าแรก ย่อหน้าที่ 4 โจทก์และจำเลยตกลงให้นำสัญญาหลักระหว่างจำเลยกับบริษัทเอ็มทะเล จำกัด (เจ้าของงาน) มาใช้บังคับเสมือนหนึ่งว่า จำเลยเป็นเจ้าของงาน และโจทก์เป็นผู้รับจ้างในสัญญาหลักดังกล่าวด้วยทุกประการ และตามข้อ 1.1 ของสัญญายังกำหนดว่า “สัญญาว่าจ้างก่อสร้าง งานโครงสร้าง และสถาปัตยกรรม โครงการมาลิบู เขาเต่า อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระหว่างบริษัทเอ็มทะเล จำกัด กับบริษัทสหการวิศวกร จำกัด ฉบับลงนามวันที่ 8 เมษายน 2551 และเอกสารที่เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างดังกล่าวด้วย” โดยให้ถือว่าสัญญาว่าจ้างก่อสร้างหลักเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาว่าจ้างก่อสร้างช่วงระหว่างโจทก์กับจำเลย นอกจากนี้ตามข้อ 40 ยังกำหนดไว้ว่า”หากมีข้อกำหนดใดไม่สอดคล้องหรือขัดแย้งกัน ให้ถือลำดับความสำคัญดังนี้ 1. สัญญา,สัญญาหลัก สัญญาว่าจ้างก่อสร้าง งานโครงสร้างและสถาปัตยกรรมโครงการมาลิบู เขาเต่าอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระหว่างบริษัทเอ็มทะเล จำกัด กับบริษัทสหการวิศวกร จำกัด ฉบับลงนามวันที่ 8 เมษายน 2551 และเอกสารที่เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างดังกล่าวด้วย…” จึงเป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยตกลงให้นำสัญญาว่าจ้างก่อสร้างหลักมาเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาว่าจ้างก่อสร้างช่วงระหว่างโจทก์กับจำเลย ซึ่งตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 11 วรรคท้าย บัญญัติว่า “สัญญาที่มีหลักฐานเป็นหนังสืออันได้กล่าวถึงเอกสารใดที่มีข้อตกลงให้ระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการโดยมีวัตถุประสงค์ให้ข้อตกลงนั้นเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาหลัก ให้ถือว่ามีสัญญาอนุญาโตตุลาการแล้ว” ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าในสัญญาว่าจ้างก่อสร้างหลักมีข้อตกลงให้ระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการ จึงต้องถือว่าสัญญาว่าจ้างก่อสร้างช่วงระหว่างโจทก์กับจำเลยมีสัญญาอนุญาโตตุลาการแล้ว ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว แม้ว่าต่อมาโจทก์กับจำเลยจะตกลงยกเลิกสัญญาว่าจ้างก่อสร้างช่วงแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่กรณีมีเหตุที่ทำให้ข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะหรือใช้บังคับไม่ได้ด้วยเหตุประการอื่น หรือมีเหตุทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อสัญญานั้นได้ ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง โจทก์และจำเลยก็ยังมีหน้าที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการเมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการปฏิบัติตามสัญญาว่าจ้างก่อสร้างช่วง ส่วนกรณีที่ตามสัญญาว่าจ้างก่อสร้างช่วงที่มีข้อกำหนดให้จำเลยเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดเมื่อมีกรณีพิพาทอันเนื่องมาจากการปฏิบัติตามสัญญาว่าจ้างก่อสร้างช่วงนั้น หาได้ขัดหรือแย้งกับข้อตกลงให้ระงับข้อพิพาทโดยวิธีการอนุญาโตตุลาการดังกล่าวไม่ เพราะข้อวินิจฉัยชี้ขาดของจำเลยไม่มีผลบังคับตามกฎหมายหากโจทก์ไม่ยินยอมปฏิบัติตาม ข้อพิพาทดังกล่าวย่อมต้องใช้กระบวนการระงับข้อพิพาทโดยวิธีการอนุญาโตตุลาการตามที่กำหนดไว้ในสัญญาหลักอยู่ดี ดังนั้น เมื่อโจทก์ไม่ได้ปฏิบัติตามข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการให้ระงับพิพาทโดยกระบวนการทางอนุญาโตตุลาการดังกล่าวในคดีนี้ก่อนจึงเป็นการไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share