คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1886/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์มิได้ฟ้องโดยขอให้ศาลมีคำพิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้สืบสันดานและเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายอันเป็นคำฟ้องเพื่อขอให้รับรองสิทธิ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้สืบสันดานและเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายจึงถือได้ว่าเป็นคำพิพากษาหรือคำสั่งที่เกินไปกว่าคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 ซึ่งสิทธิการรับมรดกของผู้ตายในฐานะทายาทโดยชอบธรรมเป็นสิทธิที่ได้มาโดยผลของกฎหมาย แม้ศาลอุทธรณ์จะยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนนี้ แต่ก็มิได้ทำให้สิทธิในการรับมรดกของผู้ตายในฐานะทายาทโดยธรรมที่ได้มาโดยผลของกฎหมายหมดสิ้นไป
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โจทก์โดยนาวาตรีหญิง ร. ผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นผู้คัดค้านที่ 1 เด็กหญิง ม. และเด็กหญิง ฐ. โดย ข. ผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นผู้คัดค้านที่ 2 จำเลยที่ 3 เป็นผู้คัดค้านที่ 3 ส. เป็นผู้คัดค้านที่ 4 จำเลยที่ 2 เป็นผู้คัดค้านที่ 5 จำเลยที่ 4 เป็นผู้คัดค้านที่ 6 จำเลยที่ 6 เป็นผู้คัดค้านที่ 7 และจำเลยที่ 7 เป็นผู้คัดค้านที่ 8 ยื่นคำคัดค้านและขอให้ตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายด้วย ซึ่งโจทก์โดยนาวาตรีหญิง ร. ผู้แทนโดยชอบธรรมซึ่งเป็นผู้คัดค้านที่ 1 และเด็กหญิง ม. กับเด็กหญิง ฐ. โดย ข. ผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นผู้คัดค้านที่ 2 ต่างกล่าวอ้างในคำร้องคัดค้านว่า โจทก์ เด็กหญิง ม. และเด็กหญิง ฐ. ต่างเป็นบุตรนอกกฎหมายที่ผู้ตายรับรองแล้วและต่างเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีว่า โจทก์ เด็กหญิง ม. เด็กหญิง ฐ. จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 เป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตาย ส. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันกับผู้ตายและเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย จึงมีคำสั่งแต่งตั้งให้จำเลยที่ 1 นาวาตรีหญิง ร. ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ ข. ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรม เด็กหญิง ม. กับเด็กหญิง ฐ. จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 และ ส. เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกัน แม้คดีนี้จะมิได้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีดังกล่าวเพราะโจทก์ในคดีนี้มิใช่โจทก์คนเดียวกันกับคดีดังกล่าวก็ตาม แต่โจทก์ เด็กหญิง ม. เด็กหญิง ฐ. จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 ซึ่งเป็นคู่ความในคดีดังกล่าว ต่างกล่าวอ้างความเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายเช่นเดียวกัน ส่วนจำเลยที่ 5 แม้จะมิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว แต่คำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีดังกล่าวก็เกี่ยวด้วยฐานะความเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของผู้ตายที่มีต่อกองมรดกเช่นเดียวกับคดีนี้ เมื่อไม่ปรากฏว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรืองดเสีย คำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์และจำเลยทั้งเจ็ดนับตั้งแต่วันที่ได้มีคำสั่ง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่อาจวินิจฉัยประเด็นเกี่ยวกับความเป็นทายาทโดยธรรมของโจทก์ในคดีนี้ได้อีก เพราะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอันเกี่ยวกับประเด็นที่ศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวได้วินิจฉัยไว้แล้ว ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144
ผู้ตายมีบุตรเป็นทายาทโดยธรรมรวม 10 คน คือ โจทก์ เด็กหญิง ม. เด็กหญิง ฐ. จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และ ส. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์มรดกของผู้ตายกึ่งหนึ่ง ซึ่งแม้ศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวจะมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 กับนาวาตรีหญิง ร.ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ ข. ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิง ม. กับเด็กหญิง ฐ. จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 และ ส. เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกันแล้วก็ตาม แต่ผู้จัดการมรดกทั้งหลายก็ยังคงมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้เป็นไปตามสิทธิของทายาทโดยธรรมแต่ละคน หากทายาทโดยธรรมคนใดไม่ได้รับหรือได้รับส่วนแบ่งไม่ครบตามสิทธิย่อมมีสิทธิเรียกร้องหรือฟ้องผู้จัดการมรดกหรือทายาทอื่นที่ครอบครองทรัพย์มรดกให้แบ่งแก่ตนได้ และแม้ว่าจะมีเจ้าหนี้ของผู้ตายที่ยังมิได้รับชำระหนี้อยู่ก็ตามเจ้าหนี้นั้นก็ชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้จากทายาทโดยธรรมคนใดหรือผู้จัดการมรดกของผู้ตายก็ได้ แม้ทรัพย์มรดกจะได้แบ่งไปแล้วก็ตาม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1737 และ 1738 การมีผู้จัดการมรดกหรือเจ้าหนี้กองมรดกที่ยังมิได้รับชำระหนี้ จึงมิได้ทำให้สิทธิในการเรียกร้องขอแบ่งทรัพย์มรดกของโจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมเสื่อมเสียไป โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดขอแบ่งมรดกของผู้ตายได้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงในคดีหมายเลขดำที่ 8795/2544 หมายเลขแดงที่ 3707/2547 ของศาลชั้นต้นว่า ส. เป็นเจ้าของรวมในทรัพย์มรดกของผู้ตายอยู่ด้วยกึ่งหนึ่งในฐานะเจ้าของรวมที่ทำมาหาได้ร่วมกัน โดยในคดีดังกล่าว โจทก์ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 ต่างใช้สิทธิร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมของผู้ตายยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับ ส. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิใช่คู่ความในคดีนี้ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์มรดกของผู้ตายกึ่งหนึ่ง คำวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีดังกล่าวจึงผูกพันทายาทโดยธรรมทุกคนของผู้ตายรวมทั้งโจทก์ที่มีต่อ ส. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ดังนั้น โจทก์ เด็กหญิง ม. เด็กหญิง ฐ. และจำเลยทั้งเจ็ด ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายจึงมีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายกึ่งหนึ่ง ส่วนอีกกึ่งหนึ่งย่อมเป็นของ ส. ในฐานะเจ้าของรวมและแม้ทายาทอื่นจะมิได้เข้ามาเป็นคู่ความหรือมิได้ร้องสอดเข้ามาในคดีนี้ก็ไม่เป็นเหตุให้โจทก์และจำเลยทั้งเจ็ดมีสิทธิได้รับมรดกทั้งหมดเพียง 8 คน แต่โจทก์และจำเลยทั้งเจ็ดคงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทรัพย์มรดกของผู้ตายเพียงคนละ 1 ใน 10 ส่วน กรณีเช่นนี้มิใช่เป็นการกันส่วนแบ่งทรัพย์มรดกไว้เพื่อทายาทอื่นที่มิได้เป็นคู่ความหรือร้องสอดเข้ามาในคดีอันจะเป็นการต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1749 สิทธิของโจทก์ที่จะได้รับทรัพย์สินตามฟ้องจึงมีอยู่ 1 ใน 20 ส่วนที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้แบ่งมรดกให้แก่โจทก์ 1 ใน 8 ส่วน ซึ่งเกินไปกว่าส่วนแห่งสิทธิที่โจทก์จะพึงได้จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (2) ประกอบมาตรา 246, 247 (เดิม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ส่งมอบและโอนหุ้นของบริษัทแอมเทล กรุ๊ป กรุงเทพ จำกัด บริษัทแอมเทล โฮลดิ้งส์ จำกัด กับให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบและโอนหุ้นของบริษัทแอมเทล โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งถือแทนผู้ตายคืนแก่กองมรดกของผู้ตาย หากไม่โอนคืนให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันแบ่งทรัพย์มรดกของผู้ตายตามฟ้องให้แก่โจทก์ 1 ส่วนของทายาททั้งหมดที่มีสิทธิจะได้รับ หากแบ่งไม่ได้ให้นำทรัพย์มรดกออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาแบ่งให้แก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชำระเงินอันเป็นผลประโยชน์ กำไร เงินปันผล ของกองมรดกของผู้ตายนับแต่วันที่ผู้ตายถึงแก่ความตายจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 2,016,000,000 บาท และนับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะนำเงินผลประโยชน์และผลกำไรดังกล่าวชำระแก่โจทก์ 1 ส่วนของทายาททั้งหมดที่มีสิทธิได้รับ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ผู้ตายถึงแก่ความตายเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์ของจำเลยทั้งเจ็ดออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระให้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์เป็นผู้สืบสันดานมีสิทธิได้รับมรดกของนายชวลิต ผู้ตาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 (1) กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 กับโจทก์ให้เป็นพับ คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันแบ่งรถยนต์ 18 คัน ที่ดิน 3 แปลง หุ้นที่มีชื่อผู้ตายถือหุ้นอยู่ในบริษัท 28 บริษัท และห้างหุ้นส่วนจำกัด 3 ห้างหุ้นส่วน ให้แก่โจทก์ 1 ใน 8 ส่วน ถ้าแบ่งไม่ได้ให้นำรถยนต์ ที่ดินและหุ้นนั้น ออกขายทอดตลาดแบ่งเงินสุทธิให้แก่โจทก์ 1 ใน 8 ส่วน ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่พิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้สืบสันดานมีสิทธิได้รับมรดกของนายชวลิต ผู้ตาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 (1) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ซึ่งเป็นผู้เยาว์ได้บรรลุนิติภาวะแล้ว ยื่นคำร้องขอดำเนินคดีด้วยตนเอง ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งเจ็ดเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายกับนางสุนีย์ เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2544 ผู้ตายถึงแก่ความตายโดยมิได้ทำพินัยกรรมหรือตั้งผู้จัดการมรดกไว้ ผู้ตายมีทรัพย์มรดกคือรถยนต์ 18 คัน ที่ดิน 3 แปลง หุ้นของบริษัทที่มีชื่อผู้ตายเป็น ผู้ถือหุ้น 28 บริษัท และห้างหุ้นส่วนจำกัด 3 ห้างหุ้นส่วน โดยจำเลยที่ 1 มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทแอมเทล กรุ๊ป กรุงเทพ จำกัด และบริษัทแอมเทล โฮลดิ้งส์ จำกัด ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทแอมเทล โฮลดิ้งส์ จำกัด จำเลยที่ 1 เคยยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและโจทก์เป็น ผู้คัดค้านโดยขอให้ตั้งนาวาตรีหญิงเรณู ผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ในขณะนั้นเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ตามคดีหมายเลขดำที่ 8795/2544 ของศาลชั้นต้น โจทก์เรียกร้องส่วนแบ่งในทรัพย์มรดกของผู้ตายจากจำเลยทั้งเจ็ด แต่ไม่สามารถตกลงกันได้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ก่อนว่า หุ้นของบริษัทแอมเทล กรุ๊ป กรุงเทพ จำกัด และบริษัทแอมเทล โฮลดิ้งส์ จำกัด ที่มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือหุ้นเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายหรือไม่ และจำเลยทั้งเจ็ดต้องร่วมรับผิดชำระเงินผลประโยชน์ ผลกำไรหรือเงินปันผลของกองมรดกแก่โจทก์หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ถือหุ้นของบริษัทแอมเทล กรุ๊ป กรุงเทพ จำกัด และบริษัทแอมเทล โฮลดิ้งส์ จำกัด ไว้แทนผู้ตายและเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย จำเลยทั้งเจ็ดจึงต้องแบ่งทรัพย์มรดกดังกล่าวและเงินผลประโยชน์ กำไร เงินปันผล ของกองมรดกนับแต่วันที่ผู้ตายถึงแก่ความตายถึงวันฟ้องจำนวน 2,016,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่โจทก์ และที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้สืบสันดานจึงเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายไม่เกินคำขอของโจทก์นั้น โจทก์มีนาวาตรีหญิงเรณู เบิกความว่า ผู้ตายมีทรัพย์สินเป็นหุ้นของบริษัทจำนวน 28 บริษัท และห้างหุ้นส่วน 3 ห้างหุ้นส่วน โดยหุ้นของบริษัทแอมเทล กรุ๊ป กรุงเทพ จำกัด และบริษัทแอมเทล โฮลดิ้งส์ จำกัด ผู้ตายให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือหุ้นแทนกับได้ความตามคำเบิกความของนายอนุศักดิ์ พยานจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศเป็นเวลานาน ไม่มีสังคมในประเทศไทยและจำเลยที่ 1 เป็นบุตรชายเพียงคนเดียวของผู้ตาย ผู้ตายจะโอนหุ้นของบริษัทให้บุคคลใดเป็นอำนาจการตัดสินใจของผู้ตายเพียงลำพัง นายพงษ์ศักดิ์ พยานจำเลยที่ 1 เบิกความว่า ในบางครั้งหลังจากที่ผู้ตายโอนหุ้นให้แก่บุคคลอื่นแล้ว ก็สามารถที่จะโอนกลับคืนมาได้ หากผู้รับโอนหุ้นประพฤติตนไม่เหมาะสม ในการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นนั้น ผู้ตายจะสั่งให้นายภูษิต เป็นผู้ดำเนินการ และพนักงานในบริษัทจะเรียกผู้ตายว่าท่านประธานเนื่องจากผู้ตายจะเป็นผู้มีอำนาจสั่งการในบริษัทแต่เพียงผู้เดียว แม้ว่าบริษัทดังกล่าวผู้ตายจะถือหุ้นมากหรือน้อยก็ตาม และนายภูษิตพยานจำเลยที่ 1 เบิกความว่า บุตรทุกคนของผู้ตาย หากเข้าช่วยทำงานที่บริษัทแอมเทล กรุ๊ป กรุงเทพ จำกัด ผู้ตายก็จะโอนหุ้นให้บุตรคนนั้น แต่หากมีความประพฤติที่ไม่เหมาะสมผู้ตายก็จะถอนโอนหุ้นกลับคืนมา ในส่วนของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ซึ่งเคยมาช่วยงานและสร้างปัญหาให้แก่ผู้ตาย ผู้ตายได้มอบหมายให้พยานไปถอนโอนหุ้นของบริษัทแอมเทล กรุ๊ป กรุงเทพ จำกัด กลับคืนมาทั้งหมดตั้งแต่ปลายปี 2543 เหลือเพียงจำเลยที่ 1 ที่เข้าช่วยงานผู้ตายเท่านั้น ผู้ตายจึงให้พยานดำเนินการโอนหุ้นให้แก่จำเลยที่ 1 และถึงแม้ว่าในขณะที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้นร่วมกับผู้ตายและมีอำนาจสั่งการร่วมกับผู้ตายในบริษัท แต่ในการสั่งการในบริษัทส่วนใหญ่ผู้ตายจะเป็นผู้สั่งการเองทั้งหมด เห็นว่า จากคำเบิกความพยานจำเลยที่ 1 ดังกล่าวมา แสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์ของผู้ตายที่จะดำเนินการโอนหุ้นของบริษัทให้แก่บุตรที่มาช่วยทำงานในบริษัทเท่านั้น และแม้ผู้ตายจะโอนหุ้นไปให้บุตรคนอื่นแล้ว แต่ผู้ตายก็ยังคงมีอำนาจที่จะโอนหุ้นกลับคืนมาได้หากพบว่าบุตรคนใดมีความประพฤติไม่เหมาะสม และอาจดำเนินการโอนหุ้นไปให้บุตรคนอื่นอีกก็ได้ ดังนั้น หากจำเลยที่ 1 ที่เพิ่งจะเข้ามาช่วยงานผู้ตายได้เพียงประมาณ 1 ปี มีความประพฤติไม่เหมาะสมเช่นเดียวกับบุตรคนอื่นและผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ ผู้ตายก็สามารถที่จะดำเนินการโอนหุ้นกลับคืนมาเป็นของผู้ตายได้เช่นเดียวกันกับที่เคยดำเนินการมาแล้วกับบุตรคนอื่น ประกอบกับพฤติการณ์ของผู้ตายที่ถึงแม้จะโอนหุ้นไปให้บุตรคนใดที่มาช่วยงานแล้ว ผู้ตายก็ยังคงมีอำนาจในการสั่งการหรือบริหารงานของบริษัทดังเดิม คำเบิกความพยานจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงเจือสมทางนำสืบของโจทก์ และทำให้พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า ผู้ตายมิได้โอนหุ้นหรือยกหุ้นให้เป็นสิทธิเด็ดขาดแก่จำเลยที่ 1 แต่อย่างใด ผู้ตายเพียงแต่โอนหุ้นของบริษัทแอมเทล กรุ๊ป กรุงเทพ จำกัด และบริษัทแอมเทล โฮลดิ้งส์ จำกัด ให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือหุ้นไว้แทนผู้ตายในระหว่างมาช่วยงานบริษัทเท่านั้น ดังนั้น เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตาย หุ้นของทั้งสองบริษัทจึงเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า เงินผลประโยชน์ กำไร เงินปันผล ของกองมรดกนับแต่วันที่ผู้ตายถึงแก่ความตายถึงวันฟ้องมีจำนวน 2,016,000,000 บาท นั้น เงินผลประโยชน์ กำไร หรือเงินปันผลดังกล่าว เป็นดอกผลที่เกิดขึ้นหลังจากที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย ซึ่งนาวาตรีหญิงเรณูผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 4 และที่ 5 ถามค้านว่า พยานไม่ทราบว่าบริษัททั้งหมดตามฟ้องมีผลกำไรหรือขาดทุนอย่างไร ซึ่งนายพงษ์ศักดิ์พยานจำเลยที่ 1 ก็เบิกความในส่วนนี้ว่า พยานได้ตรวจสอบเอกสารที่บริษัทต่าง ๆ ยื่นต่อกรมสรรพากรแล้วพบว่า บริษัทดำเนินกิจการขาดทุนไม่มีผลกำไร จึงถือได้ว่าโจทก์ไม่สามารถนำสืบให้เห็นได้ว่า ทรัพย์มรดกของผู้ตายมีผลประโยชน์ กำไร หรือเงินปันผลตามที่โจทก์กล่าวอ้าง จำเลยทั้งเจ็ดจึงไม่จำต้องรับผิดต่อโจทก์ในส่วนนี้ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์เป็นผู้สืบสันดานจึงเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายทั้งที่โจทก์มิได้มีคำขอในส่วนนี้ชอบแล้วนั้น เห็นว่า โจทก์มิได้ฟ้องโดยขอให้ศาลมีคำพิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้สืบสันดานและเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายอันเป็นคำฟ้องเพื่อขอให้รับรองสิทธิ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้สืบสันดานและเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายจึงถือได้ว่าเป็นคำพิพากษาหรือคำสั่งที่เกินไปกว่าคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ซึ่งสิทธิการรับมรดกของผู้ตายในฐานะทายาทโดยชอบธรรมเป็นสิทธิที่ได้มาโดยผลของกฎหมาย แม้ศาลอุทธรณ์จะยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนนี้ แต่ก็มิได้ทำให้สิทธิในการรับมรดกของผู้ตายในฐานะทายาทโดยธรรมที่ได้มาโดยผลของกฎหมายหมดสิ้นไป ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์เป็นทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายและมีอำนาจฟ้องขอแบ่งมรดกของผู้ตายหรือไม่ ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ไม่ยอมไปตรวจพิสูจน์เพื่อยืนยันความเป็นบุตรโดยสายเลือดของผู้ตาย ไม่มีพยานเอกสารหรือภาพถ่ายที่แสดงให้เห็นว่าโจทก์เป็นบุตรผู้ตาย พยานบุคคลก็เบิกความลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ผู้ตายไม่ได้รับรองว่าโจทก์เป็นบุตร โจทก์จึงไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย และโจทก์บรรยายฟ้องว่า ผู้ตายมีทายาทโดยธรรมอีก 2 คน คือ เด็กหญิง ม. และเด็กหญิง ฐ. ซึ่งบุคคลทั้งสองได้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายด้วย คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำนวนทายาทโดยธรรมจึงอาจเปลี่ยนแปลงได้และผู้ตายมีหนี้สินจำนวนมากที่ยังไม่ได้ชำระจึงเป็นการยุ่งยากและยังไม่สมควรในการแบ่งทรัพย์มรดกนั้น เห็นว่า โจทก์จะมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของผู้ตายตามฟ้องได้ก็ต่อเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตาย เมื่อปรากฏตามทางนำสืบของโจทก์และจำเลยทั้งเจ็ดว่า จำเลยที่ 1 เคยยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเป็นคดีหมายเลขดำที่ 8795/2544 ของศาลชั้นต้นและในคดีนี้ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2548 จำเลยที่ 1 ยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดีในชั้นอุทธรณ์ยอมรับว่า คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายตามประเด็นที่ได้ตั้งเอาไว้ และเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2552 จำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 ยื่นคำร้องขอให้นำคดีดังกล่าว มารวมการพิจารณาเข้าด้วยกันกับคดีนี้ แม้ศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งไม่อนุญาตก็ตาม แต่ก็ปรากฏตามสำเนาคำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ 8795/2544 หมายเลขแดงที่ 3707/2547 ของศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โจทก์โดยนาวาตรีหญิงเรณู ผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นผู้คัดค้านที่ 1 เด็กหญิง ม. และเด็กหญิง ฐ. โดยนางเขมิกา ผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นผู้คัดค้านที่ 2 จำเลยที่ 3 เป็นผู้คัดค้านที่ 3 นางสุนีย์ เป็นผู้คัดค้านที่ 4 จำเลยที่ 2 เป็นผู้คัดค้านที่ 5 จำเลยที่ 4 เป็นผู้คัดค้านที่ 6 จำเลยที่ 6 เป็นผู้คัดค้านที่ 7 และจำเลยที่ 7 เป็นผู้คัดค้านที่ 8 ยื่นคำคัดค้านและขอให้ตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายด้วย ซึ่งโจทก์โดยนาวาตรีหญิงเรณู ผู้แทนโดยชอบธรรมซึ่งเป็นผู้คัดค้านที่ 1 และเด็กหญิง ม. กับเด็กหญิง ฐ. โดยนางเขมิกา ผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นผู้คัดค้านที่ 2 ต่างกล่าวอ้างในคำร้องคัดค้านว่า โจทก์ เด็กหญิง ม. และเด็กหญิง ฐ. ต่างเป็นบุตรนอกกฎหมายที่ผู้ตายรับรองแล้วและต่างเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2547 ว่า โจทก์ เด็กหญิง ม. เด็กหญิง ฐ. จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 เป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตาย นางสุนีย์ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันกับผู้ตายและเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย จึงมีคำสั่งแต่งตั้งให้จำเลยที่ 1 นาวาตรีหญิงเรณูในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ นางเขมิกาในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรม เด็กหญิง ม. กับเด็กหญิง ฐ. จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 และนางสุนีย์เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกัน แม้คดีนี้จะมิได้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีดังกล่าวเพราะโจทก์ในคดีนี้มิใช่โจทก์คนเดียวกันกับคดีดังกล่าวดังที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้แล้วก็ตาม แต่โจทก์ เด็กหญิง ม. เด็กหญิง ฐ. จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 ซึ่งเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวต่างกล่าวอ้างความเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายเช่นเดียวกัน ส่วนจำเลยที่ 5 แม้จะมิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว แต่คำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีดังกล่าวก็เกี่ยวด้วยฐานะความเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของผู้ตายที่มีต่อกองมรดกเช่นเดียวกับคดีนี้ เมื่อไม่ปรากฏว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรืองดเสีย คำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์และจำเลยทั้งเจ็ดนับตั้งแต่วันที่ได้มีคำสั่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่อาจวินิจฉัยประเด็นเกี่ยวกับความเป็นทายาทโดยธรรมของโจทก์ในคดีนี้ได้อีก เพราะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอันเกี่ยวกับประเด็นที่ศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวได้วินิจฉัยไว้แล้ว ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 และแม้ว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยตามประเด็นในคำให้การของจำเลยทั้งเจ็ดไปโดยไม่ชอบ แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็มิได้รับฟังข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่น จึงไม่มีเหตุให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิที่จำเลยที่ 1 จะฎีกาได้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ว่า ผู้ตายไม่ได้รับรองโจทก์เป็นบุตรและโจทก์ไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง จึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์และที่ปรากฏในคดีดังกล่าวจึงรับฟังได้ว่า ผู้ตายมีบุตรเป็นทายาทโดยธรรมรวม 10 คน คือ โจทก์ เด็กหญิง ม. เด็กหญิง ฐ. จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และนางสุนีย์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์มรดกของผู้ตายกึ่งหนึ่ง ซึ่งแม้ศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวจะมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 นาวาตรีหญิงเรณูในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ นางเขมิกาในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิง ม. กับเด็กหญิง ฐ. จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 และนางสุนีย์เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกันแล้วก็ตาม แต่ผู้จัดการมรดกทั้งหลายก็ยังคงมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้เป็นไปตามสิทธิของทายาทโดยธรรมแต่ละคน หากทายาทโดยธรรมคนใดไม่ได้รับหรือได้รับส่วนแบ่งไม่ครบตามสิทธิย่อมมีสิทธิเรียกร้องหรือฟ้องผู้จัดการมรดกหรือทายาทอื่นที่ครอบครองทรัพย์มรดกให้แบ่งแก่ตนได้ และแม้ว่าจะมีเจ้าหนี้ของผู้ตายที่ยังมิได้รับชำระหนี้อยู่ก็ตามเจ้าหนี้นั้นก็ชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้จากทายาทโดยธรรมคนใดหรือผู้จัดการมรดกของผู้ตายก็ได้ แม้ทรัพย์มรดกจะได้แบ่งไปแล้วก็ตาม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1737 และ 1738 ดังนั้น การมีผู้จัดการมรดกหรือเจ้าหนี้กองมรดกที่ยังมิได้รับชำระหนี้ จึงมิได้ทำให้สิทธิในการเรียกร้องขอแบ่งทรัพย์มรดกของโจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมเสื่อมเสียไป โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดขอแบ่งมรดกของผู้ตายได้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงในคดีหมายเลขดำที่ 8795/2544 หมายเลขแดงที่ 3707/2547 ของศาลชั้นต้นว่า นางสุนีย์เป็นเจ้าของรวมในทรัพย์มรดกของผู้ตายอยู่ด้วยกึ่งหนึ่งในฐานะเจ้าของรวมที่ทำมาหาได้ร่วมกัน โดยในคดีดังกล่าว โจทก์ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 ต่างใช้สิทธิร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมของผู้ตายยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับนางสุนีย์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิใช่คู่ความในคดีนี้ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์มรดกของผู้ตายกึ่งหนึ่ง คำวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีดังกล่าวจึงผูกพันทายาทโดยธรรมทุกคนของผู้ตายรวมทั้งโจทก์ที่มีต่อนางสุนีย์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ดังนั้น โจทก์ เด็กหญิง ม. เด็กหญิง ฐ. และจำเลยทั้งเจ็ด ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายจึงมีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายกึ่งหนึ่ง ส่วนอีกกึ่งหนึ่งย่อมเป็นของนางสุนีย์ในฐานะเจ้าของรวมและแม้ทายาทอื่นจะมิได้เข้ามาเป็นคู่ความหรือมิได้ร้องสอดเข้ามาในคดีนี้ก็ไม่เป็นเหตุให้โจทก์และจำเลยทั้งเจ็ดมีสิทธิได้รับมรดกทั้งหมดเพียง 8 คน แต่โจทก์และจำเลยทั้งเจ็ดคงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทรัพย์มรดกของผู้ตายเพียงคนละ 1 ใน 10 ส่วน กรณีเช่นนี้มิใช่เป็นการกันส่วนแบ่งทรัพย์มรดกไว้เพื่อทายาทอื่นที่มิได้เป็นคู่ความหรือร้องสอดเข้ามาในคดีอันจะเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1749 สิทธิของโจทก์ที่จะได้รับทรัพย์สินตามฟ้องจึงมีอยู่ 1 ใน 20 ส่วน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้แบ่งมรดกให้แก่โจทก์ 1 ใน 8 ส่วน ซึ่งเกินไปกว่าส่วนแห่งสิทธิที่โจทก์จะพึงได้จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (2) ประกอบมาตรา 246, 247 (เดิม)
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันโอนหรือแบ่งรถยนต์ 18 คัน ที่ดิน 3 แปลง หุ้นของบริษัทที่มีชื่อผู้ตายถือหุ้นอยู่ 28 บริษัท และห้างหุ้นส่วนจำกัด 3 ห้างหุ้นส่วน กับให้จำเลยที่ 1 โอนหรือแบ่งหุ้นของบริษัทแอมเทล กรุ๊ป กรุงเทพ จำกัด และบริษัทแอมเทล โฮลดิ้งส์ จำกัด ที่มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือหุ้น ให้แก่โจทก์ 1 ใน 20 ส่วน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share