แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การวิวาทต่อสู้กันระหว่างคนตั้งแต่สามคนขึ้นไปอันเป็นความผิดตามมาตรา 258 นั้น ฝ่ายที่ถูกทำร้ายสาหัสคือคนที่ถูกทำร้ายสาหัสก็คงมีความผิดตาม ม. 258
ในกรณีที่บุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปวิวาทต่อสู้กันจนบาดเจ็บสาหัสในที่วิวาทต่อสู้กัน ถ้าฟ้องมิได้บรรยายให้เป็นกิจลักษณะชัดเจนลงไปว่า จำเลยคนใดทำร้ายคนใดมีบาดเจ็บอย่างไรแล้ว แม้จำเลยจะรับสารภาพว่าได้ทำร้ายคู่ต่อสู้คนใดมีบาดเจ็บหรือบาดเจ็บสาหัส ก็ลงโทษตาม ม. 254, 256 ไม่ได้ ต้องลงโทษตาม ม. 258
ฟ้องข้อให้ลงโทษจำเลยตาม ก.ม.ลักษณะอาญา ม. 254, 256 แต่ตามคำบรรยายฟ้องและทางพิจารณาได้ความว่าเป็นความผิด ตาม ม. 258 ศาลลงโทษตาม ม. 258 ได้
ในคดีที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยตาม ก.ม.ลักษณะอาญา ม. 256, 254 นั้น หากตามฟ้องลงโทษตาม ม. 256, 254 ไม่ได้ คงลงโทษจำเลยตาม ม.258 ได้ เช่นนี้ แม้จำเลยบางคนจะมิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลสูงก็มีอำนาจที่จะแก้บทลงโทษแก่จำเลยที่มิได้อุทธรณ์, ฎีกาขึ้นมาด้วยได้ เพราะเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑, ๒ ฝ่ายหนึ่ง จำเลยที่ ๓, ๔ อีกฝ่ายหนึ่ง ได้บังอาจวิวาททำร้ายร่างกายกัน โดยจำเลยที่ ๑, ที่ ๒ สมคบกันใช้มีดฟันจำเลยที่ ๓, ๔ มีบาดเจ็บสาหัสและจำเลยที่ ๓, ๔ สมคบกันใช้มีดฟันและไม้ตีจำเลยที่ ๒ มีบาดเจ็บ ขอให้ลงโทษตาม ก.ม.ลักษณะอาญา ม. ๒๕๔, ๒๕๖
นายเกตุจำเลยที่ ๑ รับว่าได้วิวาททำร้ายนายป๋องจำเลยที่ ๓ ไม่ถึงสาหัส นายยอดจำเลยที่ ๒ รับว่าได้ใช้มีดฟันนายยังจำเลยที่ ๔ ใบหูแหว่งถึงรูปหน้าเสียโฉม นายป๋องจำเลยที่ ๓ นายยังจำเลยที่ ๔ รับว่าทำร้าจำเลยที่ ๒ มีบาดเจ็บ
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ ๒ ตาม ม. ๒๕๖ ส่วนจำเลยอื่น ลงโทษตาาม ม. ๒๕๔
จำเลยที่ ๒ ผู้เดียวอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ฟ้องของโจทก์มิได้กล่าวให้เป็นกิจลักษณะชัดเจนลงไปว่า จำเลยที่ ๑ หรือที่ ๒ ฟัน จำเลยที่ ๓ หรือที่ ๔ มีบาดเจ็บอย่างไร แม้จำเลยที่ ๑ , ๒ จะรับสารภาพก็ลงโทษตาม ม. ๒๕๔, ๒๕๖ ไม่ได้ เห็นว่าตามฟ้องเป็นเรื่องกล่าวหาบุคคลตั้งแต่ ๓ คนขึ้นไปวิวาทต่อสู้และทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ ๔ มีบาดเจ็บสาหัสในที่วิวาทต่อสู้ จึงพิพากษาแก้ให้ลงโทษจำเลยที่ ๑, ๒ ตาม ม. ๒๕๘
โจทก์ฎีกา,
ศาลฎีกาเห็นว่า คำบรรยายฟ้องของโจทก์ไม่ชัดเจน เป็นทำนองเหวี่ยงแหเอาเปรียบจำเลย ถ้าเป็นกรณีที่มีฝ่ายละมากคน การกล่าวทำนองนี้จะเห็นได้ชัดว่า เป็นการคลุมเอาเปรียบจำเลยยิ่งขึ้น จึงเห็นชอบด้วยศาลอุทธรณ์ แต่ทั้งนี้เป็นเหตุในลักษณะคดีซึ่งจำเลยที่ ๓, ๔ แม้จะมิได้อุทธรณ์ฎีกาขึ้นมาก็ควรได้รับผลตามคำวินิจฉัยนี้ด้วย จึงพิพากษาแก้ให้ลงโทษ จำเลยที่ ๓, ๔ ตามมาตรา ๒๕๘ ด้วย ส่วนโทษคงเดิม