คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2991/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อปรากฏว่าอุณหภูมิของตู้สินค้าเปลี่ยนแปลงผิดปกติ พนักงานบริษัทจำเลยที่ 1 ต้องเป็นผู้มีหน้าที่แก้ไขปัญหาดังกล่าว และในที่สุดแม้สินค้าเวชภัณฑ์ยาตามคำฟ้องไม่ได้รับการขนส่งไปยังปลายทาง จำเลยที่ 1 ก็ยังได้เรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการให้บริการจากบริษัท ม. ผู้ส่งสินค้าดังกล่าว โดยหลังจากรับขนส่งและรับสินค้าเวชภัณฑ์ยาตามคำฟ้องมาแล้วจำเลยที่ 1 จึงออกใบรับขนของทางอากาศ (Air Waybill) เพื่อเป็นหลักฐานว่าจำเลยที่ 1 ได้รับสินค้านั้นไว้เพื่อขนส่งต่อไปแล้ว และใบเรียกเก็บเงิน ยังเป็นการเรียกเก็บค่าระวางอีกด้วย นอกจากนี้แม้จำเลยที่ 1 จะปฏิเสธว่าไม่ใช่ผู้ขนส่ง แต่ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 กลับอ้างเงื่อนไขและข้อจำกัดความรับผิดตามสัญญาขนส่งว่าเป็นสัญญาที่บริษัท ม. ผู้เอาประกันภัยตกลงในเรื่องการจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเนื้อความที่ใช้กับเฟรตฟอร์เวิร์ดเดอร์เช่นจำเลยที่ 1 ในฐานะคู่สัญญาผู้รับขนส่งทางอากาศได้ จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ขนส่งสินค้าเวชภัณฑ์ยา ที่บริษัท ม. ผู้ส่ง เอาประกันภัยไว้แก่โจทก์
ใบรับขนของทางอากาศในช่องรายการแสดงราคาสินค้า (Shipper’s Declared Values) แบ่งเป็น 2 ช่อง ช่องทางซ้ายเป็นช่องแสดงราคาสินค้าเพื่อเสียภาษีศุลกากร (for Customs) ระบุว่า “NVD” ส่วนช่องทางขวาเป็นช่องแสดงราคาสินค้าสำหรับการขนส่ง (for carriage) ระบุว่า “M/F” แสดงว่าเฉพาะในช่องรายการแสดงราคาสินค้าสำหรับการขนส่ง (Declared Value For Carraige) เท่านั้นที่เกี่ยวข้องกันและมีผลต่อการจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 แต่ในช่องดังกล่าวของใบรับขนของทางอากาศกลับระบุว่า “M/F” ไม่ใช่ “NVD” โดยไม่ปรากฏในทางนำสืบของจำเลยที่ 1 หรือฝ่ายใดว่า “M/F” กับ “NVD” มีความหมายเช่นเดียวกันหรือไม่ อย่างไร เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายอ้างเอาประโยชน์จากข้อสัญญาจำกัดความรับผิดในความเสียหายจำนวน 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ตามเงื่อนไขและข้อจำกัดความรับผิด ซึ่งอยู่ด้านหลังใบรับขนของทางอากาศ จำเลยที่ 1 ต้องนำสืบให้เห็นด้วยว่าบริษัท ม. ผู้ส่ง ได้ตกลงไว้โดยแจ้งชัดในเรื่องข้อจำกัดความรับผิดสำหรับสินค้าที่ขนส่งซึ่งกำหนดไว้ในเงื่อนไขและข้อจำกัดความรับผิด เมื่อไม่ปรากฏลายมือชื่อของกรรมการบริษัท ม. ผู้ส่ง ซึ่งมีอำนาจกระทำการแทนบริษัท บริษัท ม. ผู้ส่ง ได้ตกลงไว้โดยแจ้งชัดในเรื่องข้อจำกัดความรับผิดที่จำเลยที่ 1 อ้างดังกล่าว ข้อตกลงจำกัดความรับผิดที่จำเลยที่ 1 อ้างย่อมไม่ผูกพันบริษัท ม. ผู้ส่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,552,839.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 2,479,969.02 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 2,552,839.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 2,479,969.02 บาท นับถัดจากวันที่ 2 เมษายน 2552 อันเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดในต้นเงินจำนวนดังกล่าว แต่ไม่เกินต้นเงินจำนวน 607,850 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ แต่จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมไม่เกินกว่าอัตราตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนด ค่าทนายความในส่วนนี้ให้ 15,000 บาท ยกฟ้องในส่วนของจำเลยร่วมและให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยร่วม โดยกำหนดค่าทนายความในส่วนนี้ให้ 10,000 บาท
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดในต้นเงินจำนวน 2,479,969.02 บาท แต่ไม่เกินต้นเงินจำนวน 607,850 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และยกฟ้องสำหรับจำเลยร่วมนั้น โจทก์และจำเลยที่ 2 มิได้อุทธรณ์ คดีในส่วนของจำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง คงมีปัญหาที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์เฉพาะระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังได้ว่า บริษัทเมอร์ค จำกัด ในประเทศไทยขายสินค้าจำพวกยารักษาโรคชื่อ “Crinone Gel 8%” ซึ่งเป็นยาที่ใช้สำหรับสอดช่องคลอดสตรีเพื่อเพิ่มขนาดของโพรงมดลูก ทำให้ตัวอ่อนสามารถเกาะโพรงมดลูกได้ในการผสมเทียม แก่บริษัทในเครือของบริษัทเมอร์ค จำกัด ในดินแดนไต้หวันจำนวน 1,992 กล่อง ราคา 66,931.20 ดอลลาร์สหรัฐ น้ำหนักรวมจำนวน 412.08 กิโลกรัม เงื่อนไขการส่งมอบ “FOB” ด้วยการขนส่งทางอากาศ รวมจำนวน 5 แพลเลต (Pallets) และใบรายการบรรจุหีบห่อสินค้า บริษัทเมอร์ค จำกัด ผู้ขายได้ติดต่อจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับการขนส่งสินค้าดังกล่าว จำเลยที่ 1 ออกใบรับขนของทางอากาศ (Air Waybill) แล้วจำเลยที่ 1 ติดต่อให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งสินค้านั้นทางอากาศ จำเลยที่ 1 ขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุกที่ติดตั้งเครื่องทำความเย็นโดยตั้งอุณหภูมิไว้ที่ 20 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่เหมาะสมกับสินค้ายาจากคลังสินค้าของบริษัทดีทแฮล์ม จำกัด สถานที่เก็บสินค้าไปยังคลังสินค้าของจำเลยร่วมตัวแทนของจำเลยที่ 2 ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อส่งมอบแก่จำเลยที่ 2 และขนส่งทางอากาศต่อไปและจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 ได้ออกใบรับขนของทางอากาศ (Air Waybill) ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2551 จำเลยที่ 1 ขนส่งสินค้ามาถึงคลังสินค้าของจำเลยร่วมเมื่อเวลาประมาณ 17 นาฬิกา พนักงานของบริษัทจำเลยที่ 1 ได้นำสินค้ายาเข้าบรรจุในตู้สินค้า “Envirotainer” ซึ่งเป็นตู้สินค้าทำความเย็น แล้ววางตู้สินค้าไว้ในคลังสินค้าของจำเลยร่วม ในช่วงเวลาระหว่าง 20 นาฬิกา ของวันที่ 20 พฤษภาคม 2551 ถึงเวลา 14 นาฬิกา ของวันที่ 21 พฤษภาคม 2551 อุณหภูมิในตู้สินค้าเปลี่ยนแปลงเป็นลบ 20 องศาเซลเซียส เป็นเหตุให้สินค้ายา “Crinone Gel 8%” ได้รับความเสียหายเปลี่ยนแปลงจนเกิดความเสียหายแก่สินค้าเวชภัณฑ์ตามคำฟ้องนั้น โจทก์ได้รับประกันภัยสินค้าไว้จากบริษัทเมอร์ค จำกัด ผู้เอาประกันภัยแล้วหรือไม่ โจทก์นำสืบว่า การรับประกันภัยสินค้าระหว่างโจทก์กับผู้เอาประกันภัยนั้นทำสัญญากันในลักษณะเป็นกรมธรรม์ประกันภัยแบบเปิด (Open Cover) ซึ่งเป็นกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับปี 2550 ส่วนกรมธรรม์ประกันภัยเป็นกรมธรรม์สำหรับปี 2551 ที่เกิดเหตุคดีนี้ ซึ่งจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า กรมธรรม์ประกันภัยลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2551 ซึ่งเป็นวันหลังวันเกิดเหตุวินาศภัยและแม้โจทก์จะออกเอกสาร “Cover Note” ให้ความคุ้มครองแก่บริษัทเมอร์ค จำกัด ผู้เอาประกันภัย แต่เอกสารฉบับนี้ก็มีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2551 ในระหว่างที่ยังไม่มีการออกกรมธรรม์ประกันภัย เมื่อพิจารณาเอกสารที่เกี่ยวข้องคือ กรมธรรม์ประกันภัยซึ่งมีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 สิ้นสุดระยะเวลาการคุ้มครองวันที่ 31 ธันวาคม 2550 โจทก์ออกเอกสาร “Cover Note” ลงวันที่ 28 มีนาคม 2551 เพื่อเป็นหลักฐานแสดงถึงระยะเวลาการคุ้มครองระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2551 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2551 แต่ตามเอกสารฉบับนี้ระบุให้มีผลสมบูรณ์เป็นระยะเวลาเพียง 120 วัน นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2551 เท่านั้น กล่าวคือ “Cover Note” จะมีผลสมบูรณ์ถึงวันที่ 29 เมษายน 2551 นอกจากนั้น ในหัวข้อหมายเหตุ (Remarks) มีความว่า “Cover Note” ฉบับนี้มีผลต่อเมื่อได้มีการเอาประกันภัยโปรแกรมระหว่างประเทศ (International Program) ไว้แก่กลุ่มการคลังซูริก (Zurich’s Financial Group) และโจทก์จะออกกรมธรรม์ประกันภัยเพื่อใช้แทนเอกสาร “Cover Note” ฉบับนี้ตามแนวทางที่ได้รับจาก “The Zurich Producing Country” และต่อมาวันที่ 23 พฤษภาคม 2551 โจทก์จึงออกกรมธรรม์ประกันภัยเพื่อคุ้มครองบริษัทเมอร์ค จำกัด ระยะเวลาระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2551 ถึง 31 ธันวาคม 2551 ซึ่งในเรื่องนี้โจทก์มีนายพิจารณ์ เจ้าหน้าที่สินไหมทดแทนทั่วไปบริษัทโจทก์มาเบิกความยืนยันว่า ก่อนที่กรมธรรม์ประกันภัยจะหมดอายุการคุ้มครอง บริษัทเมอร์ค จำกัด ผู้เอาประกันภัยติดต่อกับโจทก์เพื่อเอาประกันภัยต่อ โจทก์จึงออกกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองชั่วคราว (Cover Note) ให้โดยการคุ้มครองเป็นไปตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยและเหตุที่ออกกรมธรรม์ประกันภัยล่าช้าเพราะอยู่ระหว่างการเจรจาเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยใหม่และนายพิจารณ์ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์กับบริษัทเมอร์ค จำกัด ผู้เอาประกันตกลงเงื่อนไขเสร็จเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2551 ดังนี้ การที่โจทก์ออกกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองชั่วคราวและกรมธรรม์ประกันภัยตามลำดับ ก็เพื่อเป็นหลักฐานแสดงว่ามีการตกลงทำสัญญาประกันภัยกันระหว่างโจทก์ผู้รับประกันภัยกับบริษัทเมอร์ค จำกัด ผู้เอาประกันภัย โดยมีระยะเวลาการคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2551 การที่โจทก์ออกกรมธรรม์ประกันภัย มีระยะเวลาการคุ้มครองดังว่านั้นเป็นข้อบ่งชี้ว่า ทั้งสองฝ่ายได้บรรลุการเจรจาและแสดงเจตนาทำสัญญาประกันภัยกันไว้ตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยที่ออกในภายหลังแล้ว แม้วันที่ 23 พฤษภาคม 2551 ซึ่งเป็นวันออกกรมธรรม์ประกันภัย จะเป็นวันหลังจากวันที่ 21 พฤษภาคม 2551 ซึ่งเป็นวันที่เกิดเหตุวินาศภัยในคดีนี้ก็ตาม ก็ไม่ทำให้เข้าใจไปได้ว่าวันที่ออกกรมธรรม์ประกันภัยเป็นวันที่เกิดสัญญาประกันภัย โดยเฉพาะนายพิจารณ์ได้เบิกความยืนยันแล้วว่าโจทก์กับบริษัทเมอร์ค จำกัด ผู้เอาประกันภัยเจรจากันเรื่องเอาประกันภัยสินค้าเวชภัณฑ์ “Crinone Gel 8%” เสร็จตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม 2551 อันเป็นเวลาก่อนวันที่เกิดเหตุวินาศภัยในคดีนี้ สัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับบริษัทเมอร์ค จำกัด ตามกรมธรรม์ประกันภัย จึงเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม 2551 แล้ว และแม้หลักฐาน “Cover Note” ไม่ได้ระบุเลขที่กรมธรรม์ประกันภัยไว้ด้วยก็ตาม แต่เนื้อความในหลักฐาน “Cover Note” ก็สอดคล้องกับเนื้อความตามกรมธรรม์ประกันภัย ทั้งในเรื่องคู่สัญญาระหว่างโจทก์ผู้รับประกันภัยกับบริษัทเมอร์ค จำกัด ผู้เอาประกันภัยและระยะเวลาการคุ้มครองสินค้าที่เอาประกันภัยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2551 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุอุณหภูมิในตู้สินค้าเปลี่ยนแปลงจนเกิดความเสียหายแก่สินค้าเวชภัณฑ์ “Crinone Gel 8%” โจทก์ได้รับประกันภัยสินค้าไว้จากบริษัทเมอร์ค จำกัด ผู้เอาประกันภัยแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อต่อไปว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งสินค้าเวชภัณฑ์ที่บริษัทเมอร์ค จำกัด ผู้ส่ง เอาประกันภัยไว้แก่โจทก์หรือไม่ จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 เป็น “Freight Forwarder” ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการจัดส่งสินค้าของทั้งฝ่ายผู้เอาประกันภัยและฝ่ายจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งทางอากาศ จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ผู้ขนส่งสินค้าเวชภัณฑ์ที่บริษัทเมอร์ค จำกัด เอาประกันภัยไว้แก่โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ในปัญหานี้ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์ที่จำเลยที่ 1 ไม่โต้แย้งรับฟังว่า จำเลยที่ 1 ออกใบรับขนของทางอากาศ (Air Waybill) ลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2551 ว่าเป็นผู้นำรถบรรทุกที่ติดตั้งเครื่องทำความเย็นไปรับสินค้าเวชภัณฑ์จากบริษัทเมอร์ค จำกัด ผู้เอาประกันภัย แล้วขนส่งไปยังคลังสินค้าของจำเลยร่วมเพื่อรอการขนถ่ายขึ้นเครื่องบินของจำเลยที่ 2 ต่อไป รวมทั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีหน้าที่ในการดำเนินการนำสินค้าเวชภัณฑ์ “Crinone Gel 8%” บรรจุเข้าตู้สินค้า (Envirotainer) ซึ่งอยู่ที่คลังสินค้า โดยพนักงานบริษัทจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดเรียงสินค้าเข้าตู้ เตรียมแบตเตอรี่ และน้ำแข็งแห้ง แล้วตั้งอุณหภูมิของตู้สินค้าตามที่กำหนดเพื่อรักษาอุณหภูมิให้อยู่ภายในเกณฑ์ที่กำหนดสำหรับการขนส่งสินค้า เห็นว่า แม้เมื่อปรากฏว่าอุณหภูมิของตู้สินค้าเปลี่ยนแปลงผิดปกติ พนักงานบริษัทจำเลยที่ 1 ก็ยังต้องเป็นผู้มีหน้าที่แก้ไขปัญหาดังกล่าวและในที่สุดแม้สินค้าเวชภัณฑ์ยาตามคำฟ้องไม่ได้รับการขนส่งไปยังปลายทาง จำเลยที่ 1 ก็ยังได้เรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการให้บริการจากบริษัทเมอร์ค จำกัด ผู้ส่งสินค้าซึ่งนางสาวนภาพร พนักงานบริษัทจำเลยที่ 1 ตำแหน่ง “Route Support and Freight Management Officer” ก็เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า หลังจากรับขนส่งและรับสินค้าเวชภัณฑ์ยาตามคำฟ้องมาแล้ว จำเลยที่ 1 จึงออกใบรับขนของทางอากาศ (Air Waybill) ลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2551 เพื่อเป็นหลักฐานว่าจำเลยที่ 1 ได้รับสินค้านั้นไว้เพื่อขนส่งต่อไปแล้วและใบเรียกเก็บเงินเป็นการเรียกเก็บค่าระวาง นอกจากนี้แม้จำเลยที่ 1 จะปฏิเสธว่าไม่ใช่ผู้ขนส่ง แต่ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 กลับอ้างเงื่อนไขและข้อจำกัดความรับผิดตามสัญญาขนส่งว่า เป็นสัญญาที่บริษัทเมอร์ค จำกัด ผู้เอาประกันภัยตกลงในเรื่องการจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเนื้อความที่ใช้กับ เฟรตฟอร์เวิร์ดเดอร์เช่นจำเลยที่ 1 ในฐานะคู่สัญญาผู้รับขนส่งทางอากาศได้ พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งสินค้าเวชภัณฑ์ยา “Crinone Gel 8%” ที่บริษัทเมอร์ค จำกัด ผู้ส่ง เอาประกันภัยไว้แก่โจทก์ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อสุดท้ายว่า จำเลยที่ 1 จำกัดความรับผิดสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สินค้าเวชภัณฑ์ยา “Crinone Gel 8%” ที่ขนส่งได้หรือไม่ เพียงใด ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า ในช่องรายการที่ผู้ส่งสินค้าแสดงราคาสินค้าเพื่อเสียภาษีศุลกากร (Shipper’s Declared Values For Customs) ระบุว่า “NVD” หมายถึง ไม่แสดงราคาสินค้า (Non Value Declared) ผู้เอาประกันภัยจึงไม่เคยแจ้งราคาสินค้าเวชภัณฑ์ยา “Crinone Gel 8%” ที่แท้จริงที่ขนส่งให้จำเลยที่ 1 ทราบเพื่อการเรียกเก็บค่าระวางขนส่งสูงขึ้น จำเลยที่ 1 จึงจำกัดความรับผิดไว้ที่ 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ได้ตามเงื่อนไขและข้อจำกัดความรับผิด ข้อ 4 ซึ่งพิมพ์อยู่ที่ด้านหลังของใบรับขนของทางอากาศ โจทก์แก้อุทธรณ์ว่า การขนส่งสินค้าเวชภัณฑ์ยาเป็นการขนส่งโดยมีการคิดค่าระวางเป็นพิเศษและควบคุมอุณหภูมิเป็นพิเศษ จึงเป็นการตกลงรับขนส่งสินค้าชนิดพิเศษกว่าสินค้าทั่วไป อันเป็นการรับประกันภัยในการขนส่ง โดยจำเลยที่ 1 เห็นว่า ตามใบรับขนของทางอากาศในช่องรายการแสดงราคาสินค้า (Shipper’s Declared Values) แบ่งเป็น 2 ช่อง ช่องทางซ้ายเป็นช่องแสดงราคาสินค้าเพื่อเสียภาษีศุลกากร (for Customs) ระบุว่า “NVD” ส่วนช่องทางขวาเป็นช่องแสดงราคาสินค้าสำหรับการขนส่ง (for carriage) ระบุว่า “M/F” ในปัญหานี้ได้ความจากคำเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 2 ของนางสาวนภาพร พยานจำเลยที่ 1 ว่า ช่องรายการแสดงราคาสินค้าสำหรับการขนส่ง (Declared Value For Carriage) ในใบรับขนของทางอากาศที่จำเลยที่ 1 ออกในนามของจำเลยที่ 2 ที่เขียนว่า “NVD” (No Value Declared) หมายความว่า ไม่มีการแจ้งมูลค่าของสินค้าที่ขนส่ง หากลูกค้าผู้ส่งแจ้งมูลค่าของสินค้า จะทำให้ผู้ขนส่งเรียกค่าใช้จ่ายเพิ่มและจะทำให้ความรับผิดชอบเกี่ยวกับสินค้าที่ขนส่งขึ้นอยู่กับมูลค่าของสินค้าด้วย สายการบินผู้ขนส่งจะออกข้อจำกัดความรับผิดเกี่ยวกับสินค้าที่ขนส่งไว้ที่ด้านหลังใบรับขนของทางอากาศและยังเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านด้วยว่า การคิดค่าระวางจากมูลค่าของสินค้าเช่นนี้จะเป็นกรณีสินค้าพิเศษ (Special Cargo) จำเลยที่ 1 เรียกเก็บค่าระวางสินค้าที่รับขนแบบกรณีสินค้าพิเศษซึ่งได้ระบุไว้ในใบรับขนของทางอากาศที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกให้แก่บริษัทเมอร์ค จำกัด ผู้ส่ง แล้ว ดังนี้ แสดงว่าเฉพาะในช่องรายการแสดงราคาสินค้าสำหรับการขนส่ง (Declared Value For Carraige) เท่านั้นที่เกี่ยวข้องกับและมีผลต่อการจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 แต่ในช่องดังกล่าวของใบรับขนของทางอากาศกลับระบุว่า “M/F” ไม่ใช่ “NVD” โดยไม่ปรากฏในทางนำสืบของจำเลยที่ 1 หรือฝ่ายใดว่า “M/F” กับ “NVD” มีความหมายเช่นเดียวกันหรือไม่ อย่างไร เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายอ้างเอาประโยชน์จากข้อสัญญาจำกัดความรับผิดในความเสียหายจำนวน 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ตามเงื่อนไขและข้อจำกัดความรับผิดซึ่งอยู่ด้านหลังใบรับขนของทางอากาศนี้ จำเลยที่ 1 ต้องนำสืบให้เห็นด้วยว่า บริษัทเมอร์ค จำกัด ผู้ส่ง ได้ตกลงไว้โดยแจ้งชัดในเรื่องข้อจำกัดความรับผิดสำหรับสินค้าที่ขนส่งซึ่งกำหนดไว้ในเงื่อนไขและข้อจำกัดความรับผิด เมื่อไม่ปรากฏลายมือชื่อของกรรมการบริษัทเมอร์ค จำกัด ผู้ส่ง ซึ่งมีอำนาจกระทำการแทนบริษัท ข้อเท็จจริงจึงยังรับฟังไม่ได้ว่าบริษัทเมอร์ค จำกัด ผู้ส่ง ได้ตกลงไว้โดยแจ้งชัดในเรื่องข้อจำกัดความรับผิดที่จำเลยที่ 1 อ้าง ข้อตกลงจำกัดความรับผิดที่จำเลยที่ 1 อ้างย่อมไม่ผูกพันบริษัทเมอร์ค จำกัด ผู้ส่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 625 จำเลยที่ 1 ไม่อาจอ้างเอาประโยชน์จากข้อจำกัดความรับผิดได้ ส่วนที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 373 ไม่ใช้บังคับกับกรณีเช่นคดีนี้และการกระทำของพนักงานบริษัทจำเลยที่ 1 ไม่ถือว่าเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงนั้น จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยเพราะไม่อาจทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า พนักงานบริษัทจำเลยที่ 1 ตั้งอุณหภูมิสินค้าผิดพลาดเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจอ้างข้อจำกัดความรับผิดได้นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share