คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3598/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 510 บัญญัติว่า “ผู้ซื้อในการขายทอดตลาดจะต้องทำตามคำโฆษณาบอกขาย และตามความข้ออื่น ๆ ซึ่งผู้ทอดตลาดได้แถลงก่อนเผดิมการสู้ราคาทรัพย์สินเฉพาะรายไป” คดีนี้แม้เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประกาศขายทอดตลาดโดยระบุว่า ขายที่ดินแปลงที่ 1, 4 และ 5 รวมกัน แปลงที่ 2 และ 3 รวมกัน แต่ในวันขายทอดตลาดจำเลยที่ 1 เป็นผู้ยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินทั้งห้าแปลงรวมกันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 วรรคสอง เจ้าพนักงานบังคับคดีสอบถามโจทก์แล้วไม่คัดค้าน และได้ความตามทางนำสืบของโจทก์ว่า ก่อนเผดิมการสู้ราคาทรัพย์สินเจ้าพนักงานบังคับคดีได้แถลงให้ผู้เข้าร่วมประมูลและผู้สนใจเข้าฟังการขายทอดตลาดทราบแล้วว่าจะรวมขายที่ดินทั้งห้าแปลงไปด้วยกัน โดยจำเลยที่ 2 มาดูแลการขายทอดตลาดด้วย แต่จำเลยที่ 2 มิได้คัดค้านการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีรวมขายที่ดินทั้งห้าแปลงไปด้วยกันแต่อย่างใด การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีรวมขายที่ดินทั้งห้าแปลงไปด้วยกันนั้น จึงเป็นการปฏิบัติไปตรงตามความประสงค์ของจำเลยที่ 1 แล้ว ทั้งคำโฆษณาบอกขายว่าเป็นการรวมขายหรือแยกทรัพย์สินเป็นเพียงวิธีการในการขายทอดตลาดทรัพย์สินของเจ้าพนักงานบังคับคดี อันเป็นรายละเอียดของการขายทอดตลาด ซึ่งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดหรือข้อกำหนดของศาลกำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องทำคำโฆษณาบอกขายระบุถึงรายละเอียดวิธีการขาย เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่าการรวมขายไปด้วยกันเป็นที่คาดหมายได้ว่าเงินรายได้ในการขายจะเพิ่มขึ้น เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจจัดรวมขายที่ดินทั้งห้าแปลงไปด้วยกันได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 (1) (ข) ถือได้ว่าคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ให้รวมขายที่ดินทั้งห้าแปลงไปด้วยกันนั้น เป็นส่วนหนึ่งของคำโฆษณาบอกขายหรือข้อความอื่นซึ่งผู้ทอดตลาดได้แถลงก่อนเผดิมการสู้ราคาทรัพย์สินเฉพาะรายตามนัยแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 510 โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อในการขายทอดตลาดต้องทำตามคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีด้วย การขายทอดตลาดที่ดินทั้งห้าแปลงของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงชอบแล้ว ไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายแต่อย่างใด

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 4,917,660.32 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ของต้นเงิน 3,943,368.70 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ภายในเวลาที่ระบุไว้ให้ยึดทรัพย์จำนองคือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 5862, 16734, 16735, 21288, 21289 ตำบลบางคล้า อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 กับทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์จึงขอหมายบังคับคดีนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินดังกล่าวขายทอดตลาด ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินไปในราคา 1,610,000 บาท
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องว่า การขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเปลี่ยนแปลงวิธีการขายจากประกาศว่าจะขายแยกทรัพย์เป็นขายรวมโดยไม่ได้ดำเนินการโฆษณาใหม่ก่อนและได้ขายโดยรวบรัดไม่มีการกำหนดราคาเริ่มต้นขายทำให้โจทก์ซื้อได้ในราคาที่ต่ำกว่าราคาประเมินประมาณ 400,000 บาท โดยการคบคิดกันฉ้อฉลของโจทก์และผู้ที่เกี่ยวข้องและความไม่สุจริตของเจ้าพนักงานบังคับคดี ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินทั้งห้าแปลง
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2549 ซึ่งเป็นวันขายทอดตลาด จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ขายทอดตลาดที่ดินทั้งห้าแปลงรวมกันและโจทก์ไม่ค้าน เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงดำเนินการขายทอดตลาดตามที่จำเลยที่ 1 เสนอ โดยกำหนดราคาเริ่มต้นขายที่ 1,560,000 บาท จากนั้นโจทก์เป็นผู้เสนอราคา 1,610,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าในครั้งก่อน เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงเคาะไม้ขายที่ดินให้แก่โจทก์ มิได้เป็นการขายโดยรวบรัดหรือร่วมกันฉ้อฉลจำเลยทั้งสอง การขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องและให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 5,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังว่า เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2549 เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 5862, 16734, 16735, 21288 และ 21289 ตำบลบางคล้า อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ของจำเลยที่ 2 ไว้ 4 นัด ในวันที่ 12 เมษายน 2549 วันที่ 26 เมษายน 2549 วันที่ 10 พฤษภาคม 2549 และวันที่ 24 พฤษภาคม 2549 โดยให้ขายที่ดินแปลงที่ 1, 4 และ 5 รวมกัน แปลงที่ 2 และ 3 รวมกัน และได้แจ้งคำสั่งของศาลและวันขายทอดตลาดแก่บรรดาผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาดให้ทราบแล้ว วันที่ 26 เมษายน 2549 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินแยกเป็นรายแปลง เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งให้ขายทอดตลาดที่ดินตามที่กำหนดไว้ในประกาศขายทอดตลาดและงดการขายทอดตลาดในนัดนี้ไว้ วันที่ 10 พฤษภาคม 2549 โจทก์เสนอราคาสูงสุดขอซื้อที่ดินแปลงที่ 1, 4 และ 5 เป็นเงิน 1,040,000 บาท แปลงที่ 2 และ 3 เป็นเงิน 520,000 บาท จำเลยที่ 2 คัดค้านราคาขายที่ดินทั้งหมด เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการขายทอดตลาดไว้ โดยให้โจทก์ผูกพันราคาที่ประมูลซื้อได้และให้จำเลยที่ 2 หาผู้เข้าสู้ราคาให้ได้ราคาตามที่ต้องการ ต่อมาวันที่ 24 พฤษภาคม 2549 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายที่ดินทั้งห้าแปลงรวมกัน โจทก์ไม่คัดค้าน เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งว่า แจ้งโจทก์และผู้เกี่ยวข้องทราบจะทำการขายนัดนี้โดยขายรวมทั้งห้าแปลงตามที่จำเลยที่ 1 แถลง หากไม่มีผู้เสนอราคาสูงกว่าการขายครั้งที่ผ่านมาจะทำการขายตามประกาศที่กำหนดไว้เดิม จำเลยที่ 2 มาดูแลการขาย เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดราคาขายเริ่มต้นเท่ากับที่โจทก์ผูกพันราคาคือ 1,560,000 บาท โจทก์เสนอราคาสูงสุด 1,610,000 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงเคาะไม้ขายให้โจทก์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดที่ดินฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาสรุปได้ว่า การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเปลี่ยนวิธีการขายทอดตลาดที่ดินจากเดิมที่ให้ขายแปลงที่ 1, 4 และ 5 รวมกัน แปลงที่ 2 และ 3 รวมกัน เป็นการขายรวมกันทั้งห้าแปลง โดยไม่ได้ทำคำโฆษณาบอกขายใหม่เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 510 บัญญัติว่า “ผู้ซื้อในการขายทอดตลาดจะต้องทำตามคำโฆษณาบอกขาย และตามความข้ออื่น ๆ ซึ่งผู้ทอดตลาดได้แถลงก่อนเผดิมการสู้ราคาทรัพย์สินเฉพาะรายไป” คดีนี้แม้เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประกาศขายทอดตลาดโดยระบุว่าขายที่ดินแปลงที่ 1, 4 และ 5 รวมกัน แปลงที่ 2 และ 3 รวมกัน แต่ในวันขายทอดตลาดจำเลยที่ 1 เป็นผู้ยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินทั้งห้าแปลงรวมกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 วรรคสอง เจ้าพนักงานบังคับคดีสอบถามโจทก์แล้วไม่คัดค้าน และได้ความตามทางนำสืบของโจทก์ว่า ก่อนเผดิมการสู้ราคาทรัพย์สินเจ้าพนักงานบังคับคดีได้แถลงให้ผู้เข้าร่วมประมูลและผู้สนใจเข้าฟังการขายทอดตลาดทราบแล้วว่าจะรวมขายที่ดินทั้งห้าแปลงไปด้วยกัน โดยจำเลยที่ 2 มาดูแลการขายทอดตลาดด้วย แต่จำเลยที่ 2 มิได้คัดค้านการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีรวมขายที่ดินทั้งห้าแปลงไปด้วยกันแต่อย่างใด การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีรวมขายที่ดินทั้งห้าแปลงไปด้วยกันนั้น จึงเป็นการปฏิบัติไปตรงตามความประสงค์ของจำเลยที่ 1 แล้ว ทั้งคำโฆษณาบอกขายว่าเป็นการรวมขายหรือแยกทรัพย์สินเป็นเพียงวิธีการในการขายทอดตลาดทรัพย์สินของเจ้าพนักงานบังคับคดีอันเป็นรายละเอียดของการขายทอดตลาด ซึ่งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดหรือข้อกำหนดของศาลกำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องทำคำโฆษณาบอกขายระบุถึงรายละเอียดวิธีการขายดังกล่าว ฉะนั้น เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่า การรวมขายไปด้วยกันเป็นที่คาดหมายได้ว่าเงินรายได้ในการขายจะเพิ่มขึ้น เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจจัดรวมขายที่ดินทั้งห้าแปลงไปด้วยกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 (1) (ข) เช่นนี้ ถือได้ว่าคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ให้รวมขายที่ดินทั้งห้าแปลงไปด้วยกันนั้น เป็นส่วนหนึ่งของคำโฆษณาบอกขายหรือข้อความอื่นซึ่งผู้ทอดตลาดได้แถลงก่อนเผดิมการสู้ราคาทรัพย์สินเฉพาะรายตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 510 โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อในการขายทอดตลาดต้องทำตามคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีด้วย การขายทอดตลาดที่ดินทั้งห้าแปลงของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงชอบแล้ว ไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
สำหรับฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินได้ราคา 1,610,000 บาท ต่ำกว่าราคาประเมินประมาณ 400,000 บาท ซึ่งเป็นราคาต่ำเกินสมควรเกิดจากการคบคิดกันฉ้อฉลในระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องในการเข้าสู้ราคา หรือความไม่สุจริตของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการปฏิบัติหน้าที่นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 อ้างในคำร้องว่า เหตุที่ทำให้ราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินมีจำนวนต่ำเกินสมควรนั้น เกิดจากการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีนำราคาที่โจทก์ประมูลซื้อที่ดินครั้งก่อนกองหนึ่ง 1,040,000 บาท และอีกกองหนึ่ง 520,000 บาท มาประมูลใหม่โดยเพิ่มราคาขึ้นครั้งละ 50,000 บาท ไม่มีการเสนอราคาเริ่มต้น เป็นการคบคิดกันฉ้อฉลในระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องในการเข้าสู้ราคา หรือความไม่สุจริตของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการปฏิบัติหน้าที่ จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องเพื่อขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง และศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ได้ว่ามีการคบคิดกันฉ้อฉลในระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องในการเข้าสู้ราคาหรือความไม่สุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการปฏิบัติหน้าที่ อันเป็นคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง ซึ่งมาตรา 309 ทวิ วรรคสี่ บัญญัติว่าคำสั่งของศาลตามวรรคสองให้เป็นที่สุด ฉะนั้น คำสั่งศาลชั้นต้นในประเด็นนี้จึงเป็นที่สุดตามบทมาตราดังกล่าว จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น แม้ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ในประเด็นข้อนี้ของจำเลยที่ 1 และศาลอุทธรณ์ภาค 2 รับวินิจฉัยให้รวมกับประเด็นการขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 ตลอดจนศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกานั้นก็เป็นการไม่ชอบ ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่ 1 ที่จะฎีกาต่อมาได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความ 15,000 บาท แทนโจทก์ และศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความ 5,000 บาท แทนโจทก์นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 24) พ.ศ.2551 มาตรา 21 บัญญัติว่า “บทบัญญัติในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่มาตรา 6 ไม่ใช้บังคับแก่บรรดาคดีที่ได้ยื่นคำฟ้องไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและให้ใช้กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่มีการฟ้องคดีบังคับแก่คดีดังกล่าวจนกว่าคดีจะถึงที่สุด…” คดีนี้ โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2543 ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ การกำหนดค่าทนายความจึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่มีการฟ้องคดีจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ซึ่งตามตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเดิม กำหนดอัตราค่าทนายความขั้นสูงในศาลชั้นต้นสำหรับคดีไม่มีทุนทรัพย์ 3,000 บาท และศาลอุทธรณ์ 1,500 บาท ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความ 15,000 บาท และศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความ 5,000 บาท แทนโจทก์ จึงเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดเป็นการไม่ชอบ แม้จำเลยที่ 1 มิได้ฎีกาในปัญหานี้ แต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 (เดิม)
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความในศาลชั้นต้น 3,000 บาท ชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาชั้นละ 1,500 บาท แทนโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากนี้ให้เป็นพับ

Share