คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14541-14551/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำฟ้องบรรยายว่านับแต่เริ่มทำงานเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2553 จนครบ 1 ปี จำเลยไม่จัดให้โจทก์แต่ละคนหยุดพักผ่อนประจำปีโดยให้ทำงานแทน จึงขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีนั้น พอถือได้ว่าเป็นการฟ้องเรียกค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีซึ่งเกิดมีขึ้นในปี 2554 รวมมาด้วย ซึ่งจำเลยมีหน้าที่จ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์แต่ละคนที่เป็นลูกจ้างรายวันแม้ไม่มีการเลิกจ้างแต่เป็นการลาออก ในอัตราไม่น้อยกว่า 2 เท่า ของอัตราค่าจ้างในวันทำงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 62 และมาตรา 64 แต่จำเลยจ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้โจทก์แต่ละคนเท่ากับอัตราค่าจ้างรายวัน จึงต้องจ่ายส่วนที่ขาดให้แก่โจทก์แต่ละคน
นายจ้างไม่มีสิทธิหักค่าจ้างของลูกจ้างเพราะเหตุขาดงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 76 วรรคหนึ่ง จำเลยต้องคืนค่าจ้างที่หักไว้แก่โจทก์แต่ละคน ส่วนดอกเบี้ยของค่าจ้างที่หักไว้นั้นเมื่อ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งโจทก์แต่ละคนมีคำขอท้ายคำฟ้องเรียกดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง แม้ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง และคู่ความไม่อุทธรณ์ แต่เพื่อความเป็นธรรมศาลฎีกาเห็นสมควรให้จำเลยเสียดอกเบี้ยของค่าจ้างที่หักไว้ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52
เมื่อนายจ้างมีหน้าที่จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง ณ สถานที่ทำงานของลูกจ้าง ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 55 การที่จำเลยหักค่าจ้างบางส่วนของโจทก์แต่ละคนไว้ทุกเดือนแล้วนำไปชำระค่าธรรมเนียมแก่ธนาคารในการโอนค่าจ้างเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์แต่ละคน จึงไม่ใช่หนี้ที่เป็นไปเพื่อสวัสดิการอันเป็นประโยชน์แก่เป็นลูกจ้างแต่ฝ่ายเดียวตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 76 วรรคหนึ่ง (3) จำเลยต้องคืนค่าจ้างที่หักไว้พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แก่โจทก์แต่ละคน

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสิบเอ็ดสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 11
โจทก์ทั้งสิบเอ็ดฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 8 ถึงที่ 11 คนละ 2,100 บาท กับจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 11 เป็นเงินคนละ 210 บาท 1,019.41 บาท 1,610 บาท 210 บาท 910 บาท 3,010 บาท 3,101 บาท 1,610 บาท 210 บาท 44,310 บาท และ 210 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสิบเอ็ดตามลำดับ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลาง โจทก์ที่ 2 สละประเด็นข้อเรียกร้องในค่าล่วงเวลา ส่วนจำเลยสละประเด็นข้อต่อสู้เรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 และที่ 8 ถึงที่ 11
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 9 และที่ 11 คนละ 2,310 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โจทก์ที่ 3 จำนวน 2,660 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 2,310 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 350 บาท โจทก์ที่ 5 จำนวน 2,485 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 2,310 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 175 บาท โจทก์ที่ 6 จำนวน 3,010 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 2,310 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 700 บาท โจทก์ที่ 7 จำนวน 910 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 210 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 700 บาท โจทก์ที่ 8 จำนวน 2,650 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 2,310 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 350 บาท โจทก์ที่ 10 จำนวน 13,335 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 2,310 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 11,025 บาท โดยดอกเบี้ยให้นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสิบเอ็ด คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัย ปัญหาที่จำเลยอุทธรณ์ข้อแรกว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 กับที่ 8 ถึงที่ 11 ลาออกไม่เข้าเงื่อนไขที่จะมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเมื่อถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดตามมาตรา 67 และ 119 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และโจทก์ดังกล่าวไม่ได้ฟ้องเรียกค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีนั้น เห็นว่า คำฟ้องของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 กับที่ 8 ถึงที่ 11 บรรยายว่า ระหว่างการทำงานจำเลยมีข้อตกลงให้มีวันหยุดพักผ่อนประจำปีปีละ 6 วัน ให้แก่ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี ซึ่งโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 กับที่ 8 ถึงที่ 11 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี ย่อมมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีในปี 2553 รวม 6 วัน เป็นเงิน 2,100 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จึงพอถือได้ว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 กับที่ 8 ถึงที่ 11 ฟ้องเรียกค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่เกิดขึ้นในปี 2554 หลังจากทำงานให้แก่จำเลยติดต่อกันครบ 1 ปี นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2553 รวมมาด้วย เมื่อจำเลยให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 กับที่ 8 ถึงที่ 11 ซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี ทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี จำเลยจึงมีหน้าที่จ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ดังกล่าวแม้ไม่มีการเลิกจ้างแต่เป็นการลาออก ซึ่งต้องจ่ายให้ไม่น้อยกว่า 2 เท่าของอัตราค่าจ้างในวันทำงานเนื่องจากโจทก์ดังกล่าวเป็นลูกจ้างรายวันที่ไม่ได้รับค่าจ้างในวันหยุด ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 62 และมาตรา 64 อันเป็นคนละกรณีกับมาตรา 67 ดังที่จำเลยอุทธรณ์ เมื่อจำเลยจ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้โจทก์ดังกล่าวคนละเท่ากับอัตราค่าจ้างรายวันจำนวน 6 วัน เป็นเงิน 2,100 บาท จึงต้องจ่ายส่วนที่ขาดให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 กับที่ 8 ถึงที่ 11 อีกคนละ 2,100 บาท ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ดังกล่าวไม่ได้เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องจึงชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
ปัญหาที่จำเลยอุทธรณ์ข้อต่อไปว่าจำเลยมีสิทธิหักค่าจ้างโจทก์ที่ 3 ที่ 5 ถึงที่ 8 และที่ 10 เป็น 2 เท่าของค่าจ้างรายวันเนื่องจากกระทำผิดกรณีขาดงานตามกฎระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยหรือไม่ เห็นว่า นายจ้างจะหักค่าจ้างได้ก็ต่อเมื่อเป็นไปตามข้อยกเว้นในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 76 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า “ห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง… เว้นแต่เป็นการหักเพื่อ (1) ชำระภาษีเงินได้ตามจำนวนที่ลูกจ้างต้องจ่ายหรือชำระเงินอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ (2) ชำระค่าบำรุงสหภาพแรงงานตามข้อบังคับของสหภาพแรงงาน (3) ชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์หรือสหกรณ์อื่นที่มีลักษณะเดียวกันกับสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือหนี้ที่เป็นไปเพื่อสวัสดิการที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างฝ่ายเดียว โดยได้รับความยินยอมล่วงหน้าจากลูกจ้าง (4) เป็นเงินประกันตามมาตรา 10 หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้างซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินอย่างร้ายแรง โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง (5) เป็นเงินสะสมตามข้อตกลงเกี่ยวกับกองทุนเงินสะสม …” การที่กฎระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยและตารางแนบท้ายกำหนดว่า ขาดงานหัก 2 เท่า และจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างหักค่าจ้างของโจทก์ที่ 3 ที่ 5 ถึงที่ 8 และที่ 10 เป็น 2 เท่าของค่าจ้างรายวันที่โจทก์ดังกล่าวได้รับในอัตราวันละ 350 บาท โดยหักค่าจ้างโจทก์ที่ 3 ซึ่งขาดงาน 2 วัน จำนวน 1,400 บาท โจทก์ที่ 5 ซึ่งขาดงาน 1 วัน จำนวน 700 บาท โจทก์ที่ 6 ซึ่งขาดงาน 4 วัน จำนวน 2,800 บาท โจทก์ที่ 7 ซึ่งขาดงาน 4 วัน จำนวน 2,800 บาท โจทก์ที่ 8 ซึ่งขาดงาน 2 วัน จำนวน 1,400 บาท และโจทก์ที่ 10 ซึ่งขาดงาน 63 วัน จำนวน 44,100 บาท เช่นนี้ เป็นกรณีที่จำเลยหักค่าจ้างเนื่องจากขาดงาน ซึ่งไม่เข้าข้อยกเว้นตามบทกฎหมายดังกล่าว จำเลยไม่มีสิทธิหักค่าจ้างจำนวนดังกล่าว เมื่อหักไว้แล้วจำเลยจึงต้องคืนค่าจ้างจำนวนที่หักไปดังกล่าวแก่โจทก์ที่ 3 ที่ 5 ถึงที่ 8 และที่ 10 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่าเป็นโทษปรับกรณีขาดงานและให้ปรับ 1.5 เท่าของค่าจ้างรายวันมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ในส่วนที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของค่าจ้างที่หักไว้นั้น เห็นว่า จำเลยมีหน้าที่ชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์ที่ 3 ที่ 5 ถึงที่ 8 และที่ 10 แต่จำเลยกลับอ้างเหตุขาดงานมาหักค่าจ้างอันเป็นการไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 76 วรรคหนึ่ง จำเลยมีหน้าที่ชำระคืนค่าจ้างแก่โจทก์ดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง ซึ่งโจทก์ดังกล่าวมีคำขอท้ายฟ้องเรียกดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวนับแต่วันฟ้องดังนี้แม้ศาลแรงงานกลางจะพิพากษาให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยสำหรับค่าจ้างที่หักไว้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ก็ตาม แต่เพื่อความเป็นธรรม ศาลฎีกาเห็นสมควรให้จำเลยเสียดอกเบี้ยในค่าจ้างที่หักไว้อัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52
ปัญหาที่จำเลยอุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่าจำเลยหักค่าจ้างโจทก์ทั้งสิบเอ็ดคนละ 10 บาท ต่อเดือน เป็นเวลา 21 เดือน เป็นค่าธรรมเนียมแก่ธนาคารในการจ่ายค่าจ้างผ่านธนาคารอันเป็นประโยชน์แก่โจทก์ทั้งสิบเอ็ด แม้ไม่ได้ทำเป็นหนังสือให้ความยินยอมแต่ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกำหนดให้จำเลยจ่ายค่าจ้างผ่านธนาคารได้หากลูกจ้างยินยอม ซึ่งจำเลยจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ทั้งสิบเอ็ดด้วยวิธีนี้ตลอดมาอันเป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่ามีข้อตกลงกันไว้ชัดเจนว่าโจทก์ทุกคนยอมให้จำเลยหักค่าจ้าง จำเลยย่อมมีสิทธิหักค่าจ้างโจทก์ทั้งสิบเอ็ดได้โดยไม่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 77 นั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ทั้งสิบเอ็ดซึ่งเป็นลูกจ้างให้ ณ สถานที่ทำงานของโจทก์ทั้งสิบเอ็ดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 55 การหักค่าจ้างชำระค่าธรรมเนียมการโอนค่าจ้างเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ทั้งสิบเอ็ดจึงไม่ใช่หนี้ที่เป็นไปเพื่อสวัสดิการอันเป็นประโยชน์แก่โจทก์ทั้งสิบเอ็ดซึ่งเป็นลูกจ้างแต่ฝ่ายเดียวตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 76 (3) ดังนั้นจำเลยไม่มีสิทธิหักค่าจ้างโจทก์ทั้งสิบเอ็ดเป็นค่าธรรมเนียมแก่ธนาคารจึงต้องคืนค่าจ้างที่หักไว้แก่โจทก์ทั้งสิบเอ็ด ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาในปัญหานี้มานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ทุกข้อของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 เป็นค่าจ้างที่หักไว้เป็นค่าธรรมเนียมธนาคาร 210 บาท และค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2,100 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นค่าจ้างที่หักไว้เป็นค่าธรรมเนียมธนาคาร 210 บาท และค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2,100 บาท โจทก์ที่ 3 เป็นค่าจ้างที่หักไว้เป็นค่าธรรมเนียมธนาคาร 210 บาท กับที่หักไว้กรณีขาดงาน 1,400 บาท และค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2,100 บาท โจทก์ที่ 4 เป็นค่าจ้างที่หักไว้เป็นค่าธรรมเนียมธนาคาร 210 บาท และค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2,100 บาท โจทก์ที่ 5 เป็นค่าจ้างที่หักไว้เป็นค่าธรรมเนียมธนาคาร 210 บาท กับที่หักไว้กรณีขาดงาน 700 บาท และค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2,100 บาท โจทก์ที่ 6 เป็นค่าจ้างที่หักไว้เป็นค่าธรรมเนียมธนาคาร 210 บาท กับที่หักไว้กรณีขาดงาน 2,800 บาท และค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2,100 บาท โจทก์ที่ 7 เป็นค่าจ้างที่หักไว้เป็นค่าธรรมเนียมธนาคาร 210 บาท กับที่หักไว้กรณีขาดงาน 2,800 บาท โจทก์ที่ 8 เป็นค่าจ้างที่หักไว้เป็นค่าธรรมเนียมธนาคาร 210 บาท กับที่หักไว้กรณีขาดงาน 1,400 บาท และค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2,100 บาท โจทก์ที่ 9 เป็นค่าจ้างที่หักไว้เป็นค่าธรรมเนียมธนาคาร 210 บาท และค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2,100 บาท โจทก์ที่ 10 เป็นค่าจ้างที่หักไว้เป็นค่าธรรมเนียมธนาคาร 210 บาท กับที่หักไว้กรณีขาดงาน 44,100 บาท และค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2,100 บาท โจทก์ที่ 11 เป็นค่าจ้างที่หักไว้เป็นค่าธรรมเนียมธนาคาร 210 บาท และค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินทุกจำนวน นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสิบเอ็ด

Share