แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของผู้ฟ้องคดีขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดีและขอให้ปรับที่ดินให้อยู่ในสภาพเดิมหรือชดใช้ค่าเสียหาย ผู้ถูกฟ้องคดี ให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณประโยชน์ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้ก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กรุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดีจึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี เห็นว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่ารุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดีนั้นเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีหรือที่สาธารณะ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๖๓/๒๕๕๙
วันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๙
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดอุทัยธานี
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนี้
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๗ นายธน หรือชวลิต รัศมี ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง องค์การบริหารส่วนตำบลสะแกกรัง ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๔๐๘/๒๕๕๗ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๖๓๗๙ เลขที่ดิน ๖๕ ตำบลสะแกกรัง อำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี เนื้อที่ ๔ ไร่ ๒ งาน ๒๕ ตารางวา เมื่อประมาณเดือน กันยายน ๒๕๕๖ ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของผู้ฟ้องคดี ประมาณ ๑ เมตร ความยาวตลอดแนวที่ดิน โดยผู้ฟ้องคดีมิได้ให้ความยินยอมและได้แจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีรื้อถอนถนนดังกล่าวออกจากที่ดินของผู้ฟ้องคดี แต่ผู้ถูกฟ้องคดียังคงเพิกเฉยและยืนยันว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณะขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำที่ดินแปลงโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๖๓๗๙ และขอให้ปรับที่ดินให้อยู่ในสภาพเดิมหรือชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินค่าที่ดิน จำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท
ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่บิดามารดาของผู้ฟ้องคดีได้ยกให้เป็นทางสาธารณประโยชน์โดยกันที่ดินให้ ๒ เมตร เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้ก่อสร้าง
๒
ถนนคอนกรีตเสริมเหล็กรุกล้ำ ขณะก่อสร้างผู้ฟ้องคดีก็ไม่ได้โต้แย้งหรือคัดค้าน ผู้ฟ้องคดีไม่ใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ตามมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีไม่เป็นการละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีและเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดียื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นราชการส่วนท้องถิ่นมีฐานะ เป็นนิติบุคคล จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มีอำนาจหน้าที่ในการจัดให้มีและบำรุงรักษาทางน้ำและทางบก การคุ้มครองดูแลและรักษาทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามมาตรา ๖๗ (๑) และมาตรา ๖๘ (๘) แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ เมื่อข้อพิพาทในคดีนี้เป็นกรณีสืบเนื่องมาจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กบริเวณหมู่ที่ ๑ ตำบลสะแกกรัง อำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี อันเป็นการจัดทำบริการสาธารณะที่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งผู้ฟ้องคดีอ้างว่าการดำเนินการดังกล่าวรุกล้ำที่ดินแปลงโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๖๓๗๙ ของผู้ฟ้องคดี มูลเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดอุทัยธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ แล้วจึงพิจารณาได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิดหรือไม่ กรณีจึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองหรือศาลยุติธรรม
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๖๓๗๙ ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของผู้ฟ้องคดี ประมาณ ๑ เมตร ความยาวตลอดแนวที่ดินขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำที่ดินแปลงโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๖๓๗๙ และขอให้
๓
ปรับที่ดินให้อยู่ในสภาพเดิมหรือชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินค่าที่ดิน จำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่บิดามารดาของผู้ฟ้องคดีได้ยกให้เป็นทางสาธารณประโยชน์โดยกันที่ดินให้ ๒ เมตรเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้ก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กรุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดีจึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี เห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องโดยมีคำขอให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำในที่ดินของผู้ฟ้องคดี โดยอ้างว่าที่ดินบริเวณพิพาทเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีส่วนผู้ถูกฟ้องคดีโต้แย้งว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณะโดยการยกให้ของบิดามารดาผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินเดิม กรณีจึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่ารุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดีนั้นเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีหรือที่สาธารณะ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายธน หรือชวลิต รัศมี ผู้ฟ้องคดี องค์การบริหารส่วนตำบลสะแกกรัง ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) ชาญชัย แสวงศักดิ์
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายชาญชัย แสวงศักดิ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ