คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 438/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 303 บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องนั้นท่านว่าจะพึงโอนกันได้ เว้นไว้แต่สภาพแห่งสิทธินั้นเองจะไม่เปิดช่องให้โอนกันได้ ตามบทบัญญัติดังกล่าวแม้กฎหมายให้สิทธิแก่เจ้าหนี้สามารถโอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อลูกหนี้ให้แก่ผู้รับโอนได้ โดยมิได้บัญญัติว่าการโอนสิทธิเรียกร้องนั้นจะต้องมีค่าตอบแทนและผู้รับโอนจะต้องเป็นสถาบันการเงินหรือบริษัทบริหารสินทรัพย์และจะต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในมูลหนี้ที่รับโอนก็ตาม แต่กฎหมายมีข้อยกเว้นไว้ว่า ถ้าสภาพแห่งสิทธิเรียกร้องนั้นเองไม่เปิดช่องให้โอนกันได้หรือเป็นสิทธิเฉพาะตัวหรือมีกฎหมายห้ามโอนแล้วย่อมไม่สามารถกระทำได้ตามบทมาตราดังกล่าว สิทธิเรียกร้องที่โจทก์รับโอนมาจากบริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. เป็นสิทธิเรียกร้องที่ธนาคาร อ. มีต่อบริษัท ป. ซึ่งรวมถึงสิทธิเรียกร้องที่ธนาคาร อ. ได้ฟ้องบริษัท ป. ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ กลางและต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้และคดีทั้งสองอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล ประกอบกับได้ความว่าโจทก์รับซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพคดีนี้มีมูลหนี้จำนวนประมาณ 312,000,000 บาท โดยซื้อมาเพียง 30,000,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่ามูลหนี้มาก ดังนั้น การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. จึงไม่ใช่การโอนสิทธิเรียกร้องกันโดยปกติธรรมดาตาม ป.พ.พ. มาตรา 303 วรรคหนึ่ง หากแต่เป็นการซื้อขายความในการดำเนินคดีทั้งสองคดีแก่บริษัท ป. เมื่อโจทก์ไม่ใช่บริษัทบริหารสินทรัพย์ตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 หรือนิติบุคคลที่มีกฎหมายบัญญัติให้มีอำนาจทำสัญญารับโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ในคดีหรือสินทรัพย์ด้อยคุณภาพเพื่อนำมาบริหารหรือจำหน่ายจ่ายโอนได้ การรับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวของโจทก์จึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยถอนคำร้องคัดค้านการจดทะเบียนโอนสิทธิรับจำนองเครื่องจักรของบริษัทปัญจพลพัลพ์ อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) ที่ยื่นต่อนายทะเบียนเครื่องจักรกลางทุกฉบับ หากจำเลยไม่ถอน ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนตามกฎหมายของเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจคนหนึ่งของบริษัทปัญจพล พัลพ์ อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) เดิมบริษัทปัญจพล พัลพ์ อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) เป็นลูกหนี้ธนาคารเอเชีย จำกัด (มหาชน) ในมูลหนี้เลตเตอร์ออฟเครดิต ทรัสต์รีซีท และตั๋วเงิน โดยจดทะเบียนจำนองเครื่องจักรจำนวน 16 เครื่อง หมายเลขทะเบียน 40-308-208-0001 ถึง 40-308-208-0016 ไว้เป็นประกันหนี้ และมีจำเลยเป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ดังกล่าว วันที่ 17 มีนาคม 2542 ธนาคารเอเชีย จำกัด (มหาชน) ฟ้องบริษัทปัญจพล พัลพ์ อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) และจำเลยกับพวกให้ร่วมกันชำระหนี้และบังคับจำนอง 2 คดี คดีแรกที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง คดีที่ 2 ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ต่อมาธนาคารเอเชีย จำกัด (มหาชน) เปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) วันที่ 12 เมษายน 2550 ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) โอนสิทธิเรียกร้องในหนี้พร้อมหลักประกันให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ เอแคป จำกัด และนายทะเบียนเครื่องจักรกลางรับจดทะเบียนโอนสิทธิรับจำนองเครื่องจักรทั้งสิบหกเครื่องเป็นชื่อบริษัทบริหารสินทรัพย์ เอแคป จำกัดแล้ว วันที่ 22 กันยายน 2553 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว บริษัทปัญจพล พัลพ์ อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) ลูกหนี้ และวันที่ 15 ธันวาคม 2554 มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2553 บริษัทบริหารสินทรัพย์ เอแคป จำกัด โอนสิทธิเรียกร้องในหนี้พร้อมหลักประกันให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ แสตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด และนายทะเบียนเครื่องจักรกลางรับจดทะเบียนโอนสิทธิรับจำนองเครื่องจักรทั้งสิบหกเครื่องเป็นชื่อบริษัทบริหารสินทรัพย์ แสตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด แล้ว วันที่ 3 มีนาคม 2554 บริษัทบริหารสินทรัพย์ แสตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด โอนสิทธิเรียกร้องหนี้พร้อมหลักประกันดังกล่าวให้แก่โจทก์ วันที่ 8 มิถุนายน 2554 โจทก์ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนโอนสิทธิรับจำนองเครื่องจักรทั้งสิบหกเครื่องต่อนายทะเบียนเครื่องจักรกลาง วันที่ 19 กรกฎาคม 2554 จำเลยยื่นคำร้องคัดค้าน
คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์รับโอนสิทธิเรียกร้องมาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า การโอนสิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 303 ไม่จำต้องมีค่าตอบแทนก็มีผลสมบูรณ์ใช้บังคับได้ ทั้งกฎหมายมิได้บัญญัติว่าผู้รับโอนจะต้องเป็นสถาบันการเงินหรือบริษัทบริหารสินทรัพย์และจะต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในมูลหนี้นั้น เมื่อสิทธิเรียกร้องดังกล่าวไม่ใช่หนี้ตามคำพิพากษา กรณีจึงมิใช่เป็นเรื่องการซื้อขายความและไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่เป็นโมฆะดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 303 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องนั้นท่านว่าจะพึงโอนกันได้ เว้นไว้แต่สภาพแห่งสิทธินั้นเองจะไม่เปิดช่องให้โอนกันได้ และมาตรา 306 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้การโอนหนี้ต้องทำเป็นหนังสือและจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้ต่อเมื่อได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้หรือลูกหนี้จะได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้น คำบอกกล่าวหรือความยินยอมเช่นว่านี้ต้องทำเป็นหนังสือ ตามบทบัญญัติดังกล่าวแม้กฎหมายให้สิทธิแก่เจ้าหนี้สามารถโอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อลูกหนี้ให้แก่ผู้รับโอนได้ โดยมิได้บัญญัติว่าการโอนสิทธิเรียกร้องนั้นจะต้องมีค่าตอบแทนและผู้รับโอนจะต้องเป็นสถาบันการเงินหรือบริษัทบริหารสินทรัพย์และจะต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในมูลหนี้ที่รับโอนก็ตาม แต่กฎหมายมีข้อยกเว้นไว้ว่าถ้าสภาพแห่งสิทธิเรียกร้องนั้นเองไม่เปิดช่องให้โอนกันได้หรือเป็นสิทธิเฉพาะตัวหรือมีกฎหมายห้ามโอนแล้ว ย่อมไม่สามารถกระทำได้ตามบทมาตราดังกล่าว สิทธิเรียกร้องที่โจทก์รับโอนมาจากบริษัทบริหารสินทรัพย์ แสตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด เป็นสิทธิเรียกร้องที่ธนาคารเอเชีย จำกัด (มหาชน) มีต่อบริษัทปัญจพล พัลพ์ อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) ซึ่งรวมถึงสิทธิเรียกร้องที่ธนาคารเอเชีย จำกัด (มหาชน) ได้ฟ้องบริษัทปัญจพล พัลพ์ อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ กค. 83/2542 ในมูลหนี้เลตเตอร์ออฟเครดิต ทรัสต์รีซีท จำนอง และต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ในคดีหมายเลขดำที่ 5608/2542 ในมูลหนี้ตั๋วเงิน จำนอง โดยมีเครื่องจักรทั้งสิบหกเครื่องของบริษัทปัญจพล พัลพ์ อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ทั้งสองคดี ซึ่งขณะที่โจทก์ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องกับบริษัทบริหารสินทรัพย์ แสตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด นั้น คดีของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอยู่ระหว่างการนัดพร้อม ส่วนคดีของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีสำหรับบริษัทปัญจพล พัลพ์ อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) ชั่วคราวจึงถือว่าทั้งสองคดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล ประกอบกับได้ความจากนางสาวสิริพรรณ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ว่า โจทก์รับซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพคดีนี้มีมูลหนี้จำนวนประมาณ 312,000,000 บาท โดยซื้อมาในราคาเพียง 30,000,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่ามูลหนี้มาก ดังนั้น การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ แสตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด จึงมิใช่เป็นการโอนสิทธิเรียกร้องกันโดยปกติธรรมดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 303 วรรคหนึ่ง ดังที่โจทก์ฎีกาแต่ประการใด หากแต่เป็นการซื้อขายความในการดำเนินคดีทั้งสองคดีดังกล่าวแก่บริษัทปัญจพล พัลพ์ อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) ลูกหนี้ต่อไป ในข้อนี้เห็นได้จากสำเนาสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง ที่ระบุว่าสิทธิเรียกร้องที่ผู้โอนและผู้รับโอนตกลงซื้อขายกันหมายถึง ข้อเรียกร้อง คดีความเหตุแห่งการฟ้องร้อง และสิทธิอื่นใดของผู้โอนทั้งหมด สนับสนุนให้เห็นเจตนาของคู่สัญญาได้โดยชัดแจ้งว่า สิทธิเรียกร้องที่โอนแก่กันระหว่างโจทก์กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ แสตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด ตามสำเนาสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องนั้น ได้รวมถึงสิทธิในการดำเนินคดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลทั้งสองคดีดังกล่าวแก่บริษัทปัญจพล พัลพ์ อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) ด้วย แม้จะเรียกว่าสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องที่แท้ก็คือสัญญาโอนสิทธิในการดำเนินคดีหรือซื้อขายความนั่นเอง เมื่อโจทก์ไม่ใช่บริษัทบริหารสินทรัพย์ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 หรือนิติบุคคลที่มีกฎหมายบัญญัติให้มีอำนาจทำสัญญารับโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ในคดีหรือสินทรัพย์ด้อยคุณภาพเพื่อนำมาบริหารหรือจำหน่ายจ่ายโอนได้ การกระทำของโจทก์ย่อมเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 การรับโอนสิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยถอนคำร้องคัดค้านการขอจดทะเบียนโอนสิทธิรับจำนองเครื่องจักรได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้างมาข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า สิทธิเรียกร้องที่โจทก์รับโอนมาเป็นหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ในคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.12/2542 ของศาลล้มละลายกลางซึ่งยังไม่มีคำพิพากษาให้บริษัทปัญจพล พัลพ์ อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) ชำระหนี้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ แสตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด และตามแผนฟื้นฟูกิจการบทที่ 10 ระบุว่าการโอนสิทธิเรียกร้องหรือโอนหนี้สามารถกระทำได้ตามที่กฎหมายกำหนด และจำเลยแก้ฎีกาว่า โจทก์ไม่เคยกล่าวอ้างว่าสิทธิเรียกร้องที่รับโอน มาเป็นหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการในคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.12/2542 ของศาลล้มละลายกลางจึงเป็นข้อเท็จจริงนอกคำฟ้องและคำให้การไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่าโจทก์รับโอนสิทธิเรียกร้องหนี้หลายประเภทมาจากบริษัทบริหารสินทรัพย์ แสตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด เจ้าหนี้ของบริษัทปัญจพล พัลพ์ อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้จดทะเบียนจำนองเครื่องจักรจำนวน 16 เครื่อง ไว้เป็นประกันหนี้ และในชั้นพิจารณาโจทก์มิได้นำสืบเลยว่าสิทธิเรียกร้องที่โจทก์รับโอนมานั้นเป็นหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ในคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.12/2542 ของศาลล้มละลายกลางแต่อย่างใด ทั้งในอุทธรณ์ของโจทก์ก็มิได้กล่าวอ้างถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว โจทก์เพิ่งยกข้อเท็จจริงนี้ขึ้นอ้างในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์และคำแก้ฎีกาของจำเลยต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share