คำวินิจฉัยที่ 23/2559

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีนี้โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานทางปกครองและเอกชนร่วมกันโดยอ้างว่า เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นเอกชนเกินกว่าเนื้อที่ตาม น.ส. ๓ ก. และรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ทั้งสอง พร้อมทั้งขอให้จำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ ในฐานะเจ้าของที่ดินข้างเคียงระวังแนวเขตที่ดินให้ถูกต้อง ขอให้อธิบดีกรมที่ดินเพิกถอนโฉนดที่ดินของจำเลยที่ ๓ และออกโฉนดที่ดินให้โจทก์ทั้งสอง เห็นว่า คดีนี้ แม้ว่าโจทก์ทั้งสองจะฟ้องขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดิน อันเป็นคำสั่งทางปกครอง แต่ก็เป็นคดีที่โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้คุ้มครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท จึงเป็นคดีที่เกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๓/๒๕๕๙

วันที่ ๘ เมษายน ๒๕๕๙

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดนครราชสีมา
ระหว่าง
ศาลปกครองนครราชสีมา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดนครราชสีมาโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๗ นางเกษราภรณ์ จันทร์สอน ที่ ๑ พันตำรวจโท อดิศักดิ์ จันทร์สอน ที่ ๒ โจทก์ ยื่นฟ้อง อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๑ เทศบาลตำบลหนองไข่น้ำ ที่ ๒ นางน้อย ยันพิมาย ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลจังหวัดนครราชสีมา เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๙๔๙/๒๕๕๗ ความว่า โจทก์ทั้งสองเป็นสามีภรรยาและเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๕๐๖๗๗ ตำบลหนองไข่น้ำ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ ๑๑ ไร่ ๔ ตารางวา โดยซื้อที่ดินดังกล่าวมาจากนางปราณี ศิริปรุ เมื่อปี ๒๕๕๔ โฉนดที่ดินเลขที่ ๒๕๐๖๗๗ เดิมมีหลักฐานเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๑๐๐๕ เลขที่ดิน ๑๘๑ ตำบลโคกสูง (ตำบลหนองไข่น้ำ) อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ ๑๒ ไร่ ๓ งาน ๑๐ ตารางวา ซึ่งนางปราณีซื้อที่ดินตามหนังสือ น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๐๐๕ มาจากนายจันทร์ เก่าจอหอ ผู้ถือสิทธิครอบครองเดิม แนวเขตที่ดินตามน.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๐๐๕ ทางด้านทิศตะวันตกจดกับที่ดิน น.ส. ๓ เลขที่ ๓๓๒ เดิมมีเนื้อที่ ๔๒ ไร่ ๓ งาน ๙๕ ตารางวา แนวเขตที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๐๐๕ และ น.ส. ๓ เลขที่ ๓๓๒ ด้านที่อยู่ติดกันมีคันนาเป็นแนวกั้นไม่มีทางสาธารณะตัดผ่านแต่อย่างใด เมื่อปี ๒๕๔๗ จำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นทายาทของนายจันทร์ได้จดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดิน น.ส. ๓ เลขที่ ๓๓๒ มาเป็นของตน ต่อมาในปี ๒๕๕๒ จำเลยที่ ๓ ได้ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งอยู่ในความควบคุมกำกับดูแลของจำเลยที่ ๑ ในการรังวัดจำเลยที่ ๓ นำชี้แนวเขตที่ดินด้านทิศตะวันออกของ น.ส. ๓ เลขที่ ๓๓๒ รุกล้ำเข้ามาในแนวเขตที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๐๐๕ ของโจทก์ทั้งสอง เป็นผลให้เนื้อที่ดินเดิมซึ่งมีประมาณ ๔๒ ไร่ ๓ งาน ๙๕ ตารางวา เพิ่มขึ้นเป็น ๕๑ ไร่ ๖๔ ตารางวา ส่วนเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ ระวังชี้และรับรองแนวเขตข้างเคียงที่ดินของจำเลยที่ ๓ ว่าเป็นทางหลวงเทศบาลซึ่งติดกับทิศตะวันตกของที่ดินโจทก์ทั้งสอง จากนั้นสำนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมาได้ออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๕๖๔๒๓ ให้แก่จำเลยที่ ๓ ตามที่ได้มีการนำชี้รังวัด การกระทำของจำเลยทั้งสามทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายต้องสูญเสียเนื้อที่ดินไม่ครบตรงตามจำนวนที่เป็นจริง ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้จำเลยที่ ๑ เพิกถอนการออกโฉนดเลขที่ ๒๕๐๖๗๗ เลขที่ดิน ๖๓๔ และโฉนดเลขที่ ๒๓๖๔๒๓ เลขที่ดิน ๖๓๑ ตำบลหนองไข่น้ำ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ที่ไม่ถูกต้องและให้ดำเนินการใหม่ให้ถูกต้องและให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ระวังชี้และสอบเขตที่ดินใหม่ให้ถูกต้อง
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การว่า ที่ดินตามโฉนดทั้งสองแปลงเดิมเคยเป็นที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. ของนายจันทร์ ซึ่งนายจันทร์ได้อุทิศที่ดินบางส่วนซึ่งเป็นรอยต่อของที่ดินทั้งสองแปลงให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ นางปราณีซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๕๐๖๗๗ ซึ่งรับโอนมาจากนายจันทร์ก็มิได้โต้แย้งถึงความมีอยู่ของทางสาธารณประโยชน์ดังกล่าว โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้รับโอนจึงอ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทไม่ได้ การออกโฉนดที่ดินชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า ที่ดินพิพาทนายจันทร์เจ้าของเดิมได้อุทิศเป็นทางสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้สัญจรไปมานานกว่า ๒๐ ปี ก่อนโจทก์ทั้งสองซื้อที่ดิน ส่วนที่ดินที่เพิ่มขึ้นในโฉนดเลขที่ ๒๓๖๔๒๓ ของจำเลยที่ ๓ เนื่องจากนายจันทร์และจำเลยที่ ๓ บุกเบิกทำประโยชน์เพิ่มเติมทางด้านทิศใต้และทิศตะวันตก ไม่ได้บุกรุกที่ดินของโจทก์ทั้งสอง การออกโฉนดที่ดินพิพาทชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดนครราชสีมาพิจารณาแล้วเห็นว่า ฟ้องโจทก์กล่าวอ้างว่า การที่จำเลยที่ ๓ นำที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) เลขที่ ๓๓๒ ซึ่งแต่เดิมมีเนื้อที่ดิน เพียง ๔๒ ไร่ ๓ งาน ๙๕ ตารางวา ไปขอออกโฉนดที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา โดยการกำกับดูแลของจำเลยที่ ๑ โดยมีจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นผู้นำชี้แนวเขตที่ดินในการรังวัดออกโฉนดที่ดิน ต่อมาเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมาได้ออกเป็นโฉนดเลขที่ ๒๓๖๔๒๓ มีเนื้อที่ดิน ๕๑ ไร่ ๖๔ ตารางวา ให้แก่จำเลยที่ ๓ จึงทำให้ที่ดินในโฉนดเลขที่ ๒๕๐๖๗๗ ซึ่งออกโดยอาศัยสิทธิตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๑๐๐๕ ที่โจทก์ทั้งสองซื้อมาจากนางปราณี แต่เดิมมีจำนวนที่ดินถึง ๑๒ ไร่ ๓ งาน ๑๐ ตารางวา กลับมีจำนวนเนื้อที่ดินลดลงเพียง ๑๑ ไร่ ๔ ตารางวา จึงเป็นการออกโฉนดที่ดินให้จำเลยที่ ๓ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงต้องมีการเพิกถอนการออกโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าว และจำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธว่า กระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย การที่ศาลจะมีคำพิพากษาตามคำขอของโจทก์ได้หรือไม่นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า การออกโฉนดเลขที่ ๒๕๐๖๗๗ และ เลขที่ ๒๓๖๔๒๓ เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและมีเหตุจำต้องเพิกถอนหรือไม่เป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการออกโฉนดที่ดินซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครราชสีมาพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างว่า การที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของจำเลยที่ ๑ ออกโฉนดเลขที่ ๒๓๖๔๒๓ เนื้อที่ดิน ๕๑ ไร่ ๖๔ ตารางวา ให้แก่จำเลยที่ ๓ ซึ่งตามหลักฐานเดิมเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) เลขที่ ๓๓๒ มีเนื้อที่ดินเพียง ๔๒ ไร่ ๓ งาน ๙๕ ตารางวา โดยการรังวัดออกโฉนดที่ดินดังกล่าวมีจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ เป็นผู้นำชี้แนวเขตที่ดิน ทำให้ที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๒๕๐๖๗๗ ซึ่งออกโดยอาศัยสิทธิตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๑๐๐๕ และอยู่ติดกับที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๒๓๖๔๒๓ ที่โจทก์ทั้งสองซื้อมาจากนางปราณี ศิริปรุ โดยเดิมมี เนื้อที่ดิน ๑๒ ไร่ ๓ งาน ๑๐ ตารางวา กลับมีจำนวนเนื้อที่ดินลดลงเหลือเพียง ๑๑ ไร่ ๔ ตารางวา ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย จึงนำคดีมาฟ้องขอให้จำเลยที่ ๑ เพิกถอนการออกโฉนดเลขที่ ๒๕๐๖๗๗ และเลขที่ ๒๓๖๔๒๓ ตำบลหนองไข่น้ำ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ที่ไม่ถูกต้องและให้ดำเนินการใหม่ โดยให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ระวังชี้และสอบเขตที่ดินใหม่ให้ถูกต้อง กรณีจึงเป็นการโต้แย้งว่าเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมาออกโฉนดเลขที่ ๒๕๐๖๗๗ และเลขที่ ๒๓๖๔๒๓ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจำเลยที่ ๑ มีอำนาจที่จะเพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าวได้ตามนัยมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และโดยที่โฉนดที่ดินเป็นหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินได้อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายที่ดินออกให้แก่บุคคลที่มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์อยู่ในที่ดิน เพื่อใช้เป็นหลักฐานรับรองสิทธิในที่ดินของผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินนั้น การออกโฉนดที่ดินและการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับโฉนดที่ดินจึงมีลักษณะเป็นคำสั่งทางปกครองตามนัยมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ เมื่อโจทก์ทั้งสองเห็นว่า การรังวัดออกโฉนดเลขที่ ๒๕๐๖๗๗ และเลขที่ ๒๓๖๔๒๓ ดังกล่าว ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ นำชี้รุกล้ำที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๕๐๖๗๗ ซึ่งโจทก์ทั้งสองซื้อมาจากนางปราณี ศิริปรุ ที่เดิมมีเนื้อที่ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๑๐๐๕ จำนวน ๑๒ ไร่ ๓ งาน ๑๐ ตารางวา มีเนื้อที่ดินลดลงเหลือเพียง ๑๑ ไร่ ๔ ตารางวา ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลขอให้จำเลยที่ ๑ เพิกถอนการออกโฉนดที่ดินดังกล่าว กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามนัยมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องอธิบดีกรมที่ดิน จำเลยที่ ๑ เทศบาลหนองไข่น้ำในฐานะผู้ครอบครองดูแลที่สาธารณะข้างเคียงจำเลยที่ ๒ และเจ้าของที่ดินข้างเคียง จำเลยที่ ๓ โดยขอให้อธิบดีกรมที่ดินเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๕๐๖๗๗ ของโจทก์ทั้งสองและโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๓๖๔๒๓ ของจำเลยที่ ๓ และออกโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงใหม่ให้ถูกต้อง โดยกล่าวอ้างว่า เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา ออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๓๖๔๒๓ ให้แก่จำเลยที่ ๓ เกินกว่าเนื้อที่ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ ๓๓๒ และรุกล้ำเข้ามาในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ ๑๐๐๕ ของโจทก์ทั้งสอง ซึ่งต่อมาได้ออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๕๐๖๗๗ พร้อมทั้งขอให้จำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ ในฐานะเจ้าของที่ดินข้างเคียงระวังแนวเขตที่ดินให้ถูกต้อง จำเลยที่ ๑ และ ที่ ๒ ให้การว่า โฉนดที่ดินเลขที่ ๒๕๐๖๗๗ และเลขที่ ๒๓๖๔๒๓ ออกตามหลักฐานหนังสือรับรองการทำประโยชน์และได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์การออกโฉนดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๕๙ และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องแล้ว นางปราณีเจ้าของที่ดินเดิมลงชื่อรับรองการรังวัดเกี่ยวกับจำนวนเนื้อที่และเขตติดต่อโดยทราบดีว่ามีแนวเขตด้านทิศตะวันตกจดทางสาธารณะ โจทก์ทั้งสองเพิ่งซื้อที่ดินจากนางปราณีภายหลังจากออกโฉนดที่ดินแล้ว จึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสอง ส่วนจำเลยที่ ๓ ให้การว่า ก่อนที่นายจันทร์จะขายที่ดินให้นางปราณี นายจันทร์ได้อุทิศที่ดินตรงส่วนที่เป็นแนวเขตติดต่อระหว่างที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ ๑๐๐๕ และเลขที่ ๓๓๒ ให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ แต่ไม่มีการจดทะเบียนยกให้ ต่อมาปี ๒๕๕๒ จำเลยที่ ๓ ได้นำเจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดแบ่งแยกที่ดินที่นายจันทร์อุทิศให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ออกเป็นทางหลวงเทศบาล นางปราณีทราบเรื่องแล้วไม่ได้โต้แย้งคัดค้าน เหตุที่จำนวนเนื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ ๓๓๒ ของจำเลยที่ ๓ มีเนื้อที่ดินเพิ่มขึ้นอีก ๘ ไร่ ๖๙ ตารางวา เนื่องจากนายจันทร์กับจำเลยที่ ๓ บุกเบิกทำประโยชน์เพิ่มเติม เห็นว่า คดีนี้ แม้ว่าโจทก์จะฟ้องขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดิน อันเป็นคำสั่งทางปกครอง แต่ก็เป็นคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้คุ้มครองกรรมสิทธิ์ของโจทก์ในที่ดินพิพาท จึงเป็นคดีที่เกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางเกษราภรณ์ จันทร์สอน ที่ ๑ พันตำรวจโท อดิศักดิ์ จันทร์สอน ที่ ๒ โจทก์ อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๑ เทศบาลตำบลหนองไข่น้ำ ที่ ๒ นางน้อย ยันพิมาย ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) ชาญชัย แสวงศักดิ์
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายชาญชัย แสวงศักดิ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share