แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
หนังสือมอบอำนาจของบริษัทโจทก์ที่มอบอำนาจให้ ร. ฟ้องคดีนี้มีหนังสือซึ่งโนตารีปับลิก แห่งเมืองที่โจทก์มีภูมิลำเนาลงนามรับรองว่า บริษัทโจทก์ตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศนั้นและผู้ลงนามในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวซึ่งเป็นหัวหน้าเสมียนของบริษัทโจทก์ได้ลงนามและประทับตรากำกับในนามของบริษัทโจทก์โดยคำสั่งของคณะกรรมการด้วยความสมัครใจและเป็นการกระทำเพื่อบริษัทโจทก์ทุกประการ ทั้งยังมีคำรับรองลายมือชื่อโนตารีปับลิก จากประธานศาลและคำรับรองลายมือชื่อของประธานศาลดังกล่าวจากสถานกงสุลใหญ่ของประเทศไทยในประเทศนั้นต่อท้ายอีกด้วย เมื่อจำเลยมิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงฟังได้ตามหนังสือมอบอำนาจนั้นว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลและมอบอำนาจให้ ร. ฟ้องคดีนี้ เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นอักษรโรมันว่า “Adidas”อ่านออกเสียงว่า อะดีดาส ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นอักษรโรมันว่า “Adidang” อ่านออกเสียงว่า อดีดังรูปลักษณ์และลีลาการเขียนของตัวอักษรและการออกสำเนียงเรียกขาน ทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่า สินค้าของจำเลยคือสินค้าของโจทก์ ซึ่งแพร่หลายอยู่ในประเทศไทยมาก่อน เครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงเป็นการเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าจำเลย และห้ามจำเลยมิให้ใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทกับบรรดาสินค้าของจำเลย ศาลชั้นต้นพิพากษา ห้ามมิให้จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าพิพาท ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า “ในปัญหาที่ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลและมอบอำนาจให้นายโรจน์วิทย์ เปเรร่า ฟ้องคดีนี้หรือไม่นั้น โจทก์มีนายธเนศ เปเรร่า เป็นพยานเบิกความว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดจดทะเบียนที่ประเทศเยอรมนีตะวันตก โจทก์มอบอำนาจให้ตนและนายโรจน์วิทย์ เปเรร่าเป็นผู้ทำการแทนตามหนังสือมอบอำนาจพร้อมคำแปลหมาย จ.13 ศาลฎีกาได้พิเคราะห์แล้วเอกสารดังกล่าวระบุว่าบริษัทโจทก์มอบอำนาจและแต่งตั้งให้นายโรจน์วิทย์ เปเรร่า และหรือนายธเนศ เปเรร่าเป็นตัวแทนและผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ เพื่อขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าใด ๆ เพื่อป้องกันเครื่องหมายการค้าใด ๆ ของโจทก์ให้พ้นจากการละเมิด รวมทั้งยื่นฟ้องและดำเนินการไปจนถึงที่สุดในศาลไทยเพื่อการนั้น โจทก์ลงนามและประทับตราเป็นสำคัญ ฯลฯ ผู้ลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจนี้คือนายอัลเฟรด เบนเต้ และนางมาเรียนน์ฮอฟพ์มันน์ นอกจากนี้มีหนังสือรับรองของโนตารีปับลิกแห่งเมืองเฮอร์ไซจีเนาแร๊ซแห่งประเทศเยอรมนีตะวันตก ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของบริษัทโจทก์ว่าผู้รับรองรู้จักนายอัลเฟรดและนางมาเรียนน์ซึ่งเป็นผู้ลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจเป็นอย่างดีบุคคลทั้งสองเป็นหัวหน้าเสมียนของบริษัทโจทก์ซึ่งผู้รับรองรู้จักเช่นเดียวกันว่าเป็นบริษัทจำกัดจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศเยอรมนีตะวันตก อนึ่งผู้รับรองทราบดีว่าหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวข้างต้นนี้ได้รับการลงนามและประทับตรากำกับในนามของบริษัทโจทก์โดยคำสั่งของคณะกรรมการและนายอัลเฟรดนางมาเรียนน์รับรองว่าได้ลงลายมือชื่อด้วยความสมัครใจ และเป็นการกระทำเพื่อบริษัทโจทก์ทุกประการ ตอนท้ายมีลายมือชื่อของโนตารีปับลิก ถัดจากนั้นมีคำรับรองจากประธานศาลแห่งจังหวัดนูรันเบอร์กฟูร์ดรับรองลายมือชื่อของโนตารีปับลิก ท้ายสุดมีคำรับรองของสถานกงสุลใหญ่ของประเทศไทยประจำเมืองมินเฮนซึ่งรับรองลายมือชื่อของประธานศาลดังกล่าวตามหลักฐานต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว บ่งชี้ว่าบริษัทโจทก์เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนตามกฎหมายของประเทศเยอรมนีตะวันตก โจทก์เป็นผู้มอบอำนาจให้นายโรจน์วิทย์ เปเรร่า และหรือนายธเนศ เปเรร่าเป็นผู้ฟ้องคดีเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ในประเทศไทยนายอัลเฟรด เบนต้า และนางมาเรียนน์ ฮอฟพ์มันน์ เป็นผู้ลงชื่อในนามของโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว ซึ่งโนตารีปับลิก ก็รับรองว่าหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวได้รับการลงนามและประทับตรากำกับในนามของบริษัทโจทก์โดยคำสั่งของคณะกรรมการ ฝ่ายจำเลยมิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงฟังได้ว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลและมอบอำนาจให้นายโรจน์วิทย์ เปเรร่า ฟ้องคดีนี้ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาโต้แย้งกันในขั้นฎีกาอีกประการหนึ่งที่ว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยเลียนแบบและมีลักษณะคล้ายหรือเหมือนกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือไม่ ซึ่งคู่ความโต้แย้งกันมาตลอดทั้งสามศาล แต่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยปัญหาข้อนี้เนื่องจากได้ยกฟ้อง เพราะเหตุที่โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมให้คดีได้เสร็จเด็ดขาดไปโดยไม่ล่าช้า ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาใหม่ ศาลฎีกาได้พิจารณาเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยเปรียบเทียบกันแล้ว ปรากฏว่าเป็นอักษรโรมันด้วยกันพยัญชนะ 5 ตัวแรกเหมือนกัน รูปลักษณะและลีลาการเขียนก็เหมือนกันและอ่านออกเสียงคล้ายกันมาก คืออะดิดาส กับอะดีดัง การที่จำเลยซึ่งเป็นคนไทยจะประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าใช้ชื่อเป็นภาษาต่างประเทศและตัวอักษรโรมันให้คล้ายคลึงกับเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นซึ่งใช้อยู่แล้วโดยบังเอิญนั้นนับว่าเป็นไปได้ยากมาก ทั้งรูปรอยประดิษฐ์คนขี่รถจักรยานที่จำเลยใช้ประกอบคำว่า “Adidang” ในคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยหมาย จ.4 กับที่อยู่บนสินค้ากระเป๋าของจำเลยหมาย จ.12 และที่จำเลยอ้างส่งศาลก็อยู่คนละตำแหน่งคือในคำขอจดทะเบียน คนและรถจักรยานหันหน้าไปทางด้านขวา แต่บนสินค้ากลับหันหน้าไปทางด้านซ้าย แสดงให้เห็นว่าจำเลยมิได้ให้ความสำคัญแก่รูปรอยประดิษฐ์ดังกล่าวซึ่งเป็นเพียงส่วนประกอบ หากแต่มุ่งถึงความเหมือนกันของรูปลักษณะและลีลาการเขียนของตัวอักษรกับการออกสำเนียงเรียกขานที่คล้ายกันมากกว่า และในด้านประชาชนทั่วไปก็น่าจะสนใจตัวอักษรมากกว่ารูปรอยประดิษฐ์ประกอบตัวอักษร เพราะเครื่องหมายการค้าของโจทก์ก็มีทั้งตัวอักษร”Adidas” และรูปรอยประดิษฐ์ใบไม้สามแฉก โดยบางครั้งก็ใช้รวมกันและบางครั้งก็ใช้แยกกันตามความเหมาะสม ฉะนั้นแม้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ขอจดทะเบียนจะมีรูปรอยประดิษฐ์เพิ่มขึ้นหรือแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์บ้างก็หาเป็นข้อสำคัญไม่ ในเมื่อสาระสำคัญอยู่ที่รูปลักษณะและลีลาการเขียนของตัวอักษรและการออกสำเนียงเรียกขานมากกว่าอย่างอื่น ตามพฤติการณ์ที่โจทก์จำเลยนำสืบน่าเชื่อว่าจำเลยเห็นว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์แพร่หลายอยู่ในประเทศไทย จึงพยายามประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าของจำเลยขึ้นมาโดยเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจว่าสินค้าของจำเลยคือสินค้าของโจทก์ เพราะเป็นสินค้าจำพวกเดียวกันทั้งอาจกล่าวได้ว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยคล้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์มากจนน่าจะทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ได้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น