แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่เอกชนฟ้องว่า หน่วยงานทางปกครองผิดสัญญาซื้อขายเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพา ชนิด Notebook Computer พร้อมโปรแกรมใช้งาน ขอให้ชำระเงินแก่โจทก์ จึงต้องพิจารณาว่าสัญญาพิพาทดังกล่าวเป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง เห็นว่า สัญญาพิพาทมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การปฏิบัติงานของจำเลยเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเพื่อความสะดวกของจำเลยในการปฏิบัติงานทางธุรการเท่านั้น ไม่มีลักษณะเป็นการให้โจทก์เข้าร่วมจัดทำบริการสาธารณะโดยตรง และไม่มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ที่จะถือว่าเป็นสัญญาทางปกครอง อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางแพ่งที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๘๐/๒๕๕๘
วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๘
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)
ศาลจังหวัดตลิ่งชัน
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดตลิ่งชันโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๗ บริษัทสลิลทิพย์วารี จำกัด โจทก์ ยื่นฟ้อง กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง จำเลย ต่อศาลจังหวัดตลิ่งชัน เป็นคดีหมายเลขดำที่ ผบ. ๖๗๗๓/๒๕๕๗ ความว่า เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๕ โจทก์ได้ทำสัญญาซื้อขายเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพา ชนิด Notebook Computer ยี่ห้อ Samsung รุ่น NP๒๐๐A๔B พร้อมโปรแกรมใช้งานกับจำเลย จำนวน ๒๔๐ เครื่อง เป็นเงิน ๙,๒๕๐,๐๐๐ บาท โดยแบ่งการชำระเงินและส่งมอบเป็น ๓ งวด โจทก์ได้ส่งมอบงานงวดที่ ๑ ให้แก่จำเลยเมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๕ แต่จำเลยปฏิเสธการชำระเงินงวดที่ ๑ ให้แก่โจทก์ อ้างว่าโจทก์ต้องส่งมอบแผ่นซีดีติดตั้งโปรแกรมไมโครซอฟท์ ออฟฟิศ ให้จำเลยก่อน ซึ่งโจทก์แจ้งจำเลยแล้วว่าไม่มี และต้องใช้วิธีดาวน์โหลดจากเว็บไซต์เพื่อติดตั้งเท่านั้น สัญญาในงานงวดที่ ๒ จำเลยมิได้ส่งข้อมูล Source Code ที่สมบูรณ์ให้แก่โจทก์ เพื่อนำไปเป็นฐานข้อมูลในการพัฒนาโปรแกรมระบบงานสารสนเทศเพื่อมาติดตั้งให้แก่จำเลย เป็นผลทำให้โจทก์ส่งงานงวดที่ ๒ ให้แก่จำเลยล่าช้า ส่วนงานงวดที่ ๓ เป็นการฝึกอบรมผู้ใช้โปรแกรมที่มีการพัฒนาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นงานต่อเนื่องจากงานงวดที่ ๒ โดยโจทก์แจ้งส่งมอบงานงวดที่ ๓ พร้อมกับงานงวดที่ ๒ ทันที แต่จำเลยกลับขอเลื่อนการรับงานงวดที่ ๓ ออกไปอีก ต่อมาจำเลยได้ชำระเงินงวดที่ ๑ ให้แก่โจทก์โดยหักเงินค่าปรับไว้จำนวน ๔๙๓,๙๕๐ บาท จากนั้นจำเลยมีหนังสือขอคิดค่าปรับจากการส่งมอบงานงวดที่ ๒ จำนวน ๒,๗๘๙,๐๐๐ บาท และขอคิดค่าปรับจากการส่งมอบงานงวดที่ ๓ จำนวน ๑,๙๔๒,๕๐๐ บาท รวมเป็นเงินค่าปรับทั้งสิ้น ๕,๒๒๕,๔๕๐ บาท โจทก์เห็นว่าจำเลยไม่มีสิทธิคิดค่าปรับจากโจทก์ เนื่องจากโจทก์ส่งงานงวดที่ ๑ ภายในกำหนดเวลา ส่วนงานงวดที่ ๒ และงวดที่ ๓ ที่โจทก์ส่งมอบล่าช้าเกิดจากความผิดและความบกพร่องของจำเลย จำเลยจึงต้องคืนเงินค่าปรับงานงวดที่ ๑ ที่จำเลยหักไว้ และชำระค่าจ้างงานงวดที่ ๒ และงวดที่ ๓ ให้แก่โจทก์ นอกจากนี้ จำเลยยังต้องชดใช้เงินที่โจทก์ได้ทดรองจ่ายเพื่อซื้อโปรแกรมไมโครซอฟท์ ออฟฟิศ จำนวน ๑,๖๑๓,๔๗๔.๔๐ บาท แทนจำเลยด้วย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ จำนวน ๘,๕๘๒,๔๒๔.๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย และให้คืนหลักประกันสัญญาแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยทำสัญญากับโจทก์จริง แต่โจทก์ส่งมอบงานงวดที่ ๑ ไม่เป็นไปตามขอบเขตของงานที่กำหนดให้ส่งมอบระบบปฏิบัติการพร้อมแผ่นโปรแกรม ต่อมาโจทก์จัดหาแผ่นซีดีโปรแกรมส่งมอบให้แก่จำเลยหลังจากครบกำหนดส่งมอบงานงวดที่ ๑ แล้ว จำเลยจึงปรับโจทก์กรณีส่งมอบงานล่าช้า ส่วนงานงวดที่ ๒ ระบบปฏิบัติการไม่สามารถรองรับงานในระบบของจำเลยได้ แต่โจทก์ไม่แก้ไข จำเลยจึงคิดค่าปรับ โจทก์แก้ไขงานโดยต้องรับผิดชอบเองจึงไม่อาจเรียกเงินค่าทดรองซื้อระบบปฏิบัติการโปรแกรมไมโครซอฟท์ ออฟฟิศ จากจำเลยได้ โจทก์ผิดเองที่ส่งมอบงานงวดที่ ๑ และที่ ๓ ล่าช้า และงานงวดที่ ๒ ไม่ถูกต้อง จำเลยจึงมีสิทธิคิดค่าปรับจากโจทก์ และจำเลยยังไม่ต้องคืนหลักประกันสัญญาให้แก่โจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง คดีโจทก์ขาดอายุความ
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลจังหวัดตลิ่งชันพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้จำเลยเป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินกิจการสงเคราะห์การทำสวนยาง และมีอำนาจกระทำการใดๆ ที่จำเป็น หรือเป็นอุปกรณ์แก่วัตถุประสงค์ดังกล่าวนั้นด้วย ตามมาตรา ๔ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง พ.ศ. ๒๕๐๓ และจำเลยอยู่ในสังกัดของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่เมื่อมีการทำสัญญาซื้อขายคอมพิวเตอร์กับโจทก์โดยเป็นสัญญาที่ซื้อขายและติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมโปรแกรมใช้งานเพื่อนำไปใช้ในกิจการงานของจำเลยเอง ไม่ใช่สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ ดังนั้น สัญญาซื้อขายในคดีนี้จึงไม่ใช่สัญญาทางปกครองและไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นเพียงสัญญาทางแพ่ง ซึ่งศาลยุติธรรมมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดี คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยเป็นนิติบุคคล ตามมาตรา ๔ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง พ.ศ. ๒๕๐๓ มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินกิจการสงเคราะห์การทำสวนยาง และมีอำนาจกระทำการใดๆ ที่จำเป็นหรือเป็นอุปกรณ์แก่วัตถุประสงค์ดังกล่าวนั้นได้ รวมทั้งการทำสวนยางและสวนไม้ยืนต้น ตลอดจนกิจการที่เกี่ยวข้องเป็นการสาธิตและส่งเสริม เพื่อประโยชน์ในการสงเคราะห์ กับให้รวมตลอดถึงการดำเนินการส่งเสริมหรือสงเคราะห์การปลูกแทนไม้ยืนต้นชนิดอื่นที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจตามที่รัฐบาลมอบหมาย จำเลยจึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อจำเลยทำสัญญาซื้อขายเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพา ชนิด Notebook Computer พร้อมโปรแกรมการใช้งานกับโจทก์ สัญญาดังกล่าวจึงมีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และโดยที่สัญญาซื้อขายเครื่องคอมพิวเตอร์ในครั้งนี้ โจทก์มิได้มีหน้าที่เพียงส่งมอบเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพา ชนิด Notebook Computer พร้อมอุปกรณ์และติดตั้งระบบปฏิบัติการให้แก่จำเลยเท่านั้น แต่โจทก์ยังต้องมีหน้าที่ติดตั้งโปรแกรมใช้งานบนเครื่อง Notebook นอกจากนี้ โจทก์ต้องฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางเกี่ยวกับโครงสร้างของการพัฒนาโปรแกรม (System Flow และ Program Flow) ระบบการ Download และ Upload ข้อมูล รวมถึงการฝึกอบรมผู้ใช้ระบบงานในสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดภาคใต้อย่างน้อย ๓ ครั้ง กรณีจึงเห็นได้ว่า การจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพา ชนิด Notebook Computer พร้อมติดตั้งโปรแกรมการใช้งานดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อให้พนักงานสงเคราะห์สวนยางภาคสนามนำเครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวไปใช้ในการให้บริการแก่เกษตรกรชาวสวนยางเกี่ยวกับการอนุมัติให้การสงเคราะห์ การสำรวจรังวัด การตรวจสวนยางและติดตามสวนยาง ให้คำแนะนำความรู้และเทคโนโลยีการทำสวนยาง และการจ่ายเงินสงเคราะห์แก่เกษตรกรชาวสวนยางที่ขอรับการสงเคราะห์ โดยเครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวสามารถเชื่อมต่อกับระบบงานสารสนเทศของจำเลยได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ถูกต้อง และสามารถจัดเก็บข้อมูลบนเครื่องแม่ข่ายของจำเลยได้ ดังนั้น สัญญาซื้อขายคอมพิวเตอร์แบบพกพา ชนิด Notebook Computer ระหว่างโจทก์กับจำเลยในคดีนี้จึงมีวัตถุแห่งสัญญาเพื่อจัดหาหรือจัดให้มีเครื่องมือและอุปกรณ์ที่สำคัญและจำเป็นเพื่อใช้ในการจัดทำบริการสาธารณะในภารกิจหน้าที่ของจำเลย สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อโจทก์อ้างว่าจำเลยไม่มีสิทธิหักเงินค่าปรับจากโจทก์ เนื่องจากเหตุแห่งความล่าช้าเกิดจากความผิดหรือความบกพร่องของจำเลย ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์จำนวน ๘,๕๘๒,๔๒๔.๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว และให้คืนหลักประกันสัญญาให้แก่โจทก์ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาปกครองซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ทั้งนี้ ตามคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ที่ ๗/๒๕๕๕ ที่ ๓๘/๒๕๕๔ ที่ ๒๘/๒๕๕๔ ที่ ๒๓/๒๕๕๔ และที่ ๒๗/๒๕๕๑
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนฟ้องขอให้บังคับจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลชำระเงินแก่โจทก์กรณีผิดสัญญาซื้อขายเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพา ชนิด Notebook Computer พร้อมโปรแกรมใช้งาน จึงต้องพิจารณาว่า สัญญาพิพาทดังกล่าวเป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และมาตรา ๓ บัญญัติให้สัญญาทางปกครอง หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ จำเลยเป็นนิติบุคคล ตามมาตรา ๔ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง พ.ศ. ๒๕๐๓ มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินกิจการสงเคราะห์การทำสวนยาง และมีอำนาจกระทำการใดๆ ที่จำเป็นหรือเป็นอุปกรณ์แก่วัตถุประสงค์ดังกล่าวนั้นได้ รวมทั้งการทำสวนยางและสวนไม้ยืนต้น ตลอดจนกิจการที่เกี่ยวข้องเป็นการสาธิตและส่งเสริม เพื่อประโยชน์ในการสงเคราะห์ กับให้รวมตลอดถึงการดำเนินการส่งเสริมหรือสงเคราะห์การปลูกแทนไม้ยืนต้นชนิดอื่นที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจตามที่รัฐบาลมอบหมาย จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อเท็จจริงคดีนี้จำเลยทำสัญญาพิพาทกับโจทก์ โดยมีสาระสำคัญว่าให้โจทก์ส่งมอบเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพา ชนิด Notebook Computer พร้อมโปรแกรมใช้งานแก่จำเลย เพื่อนำไปใช้ในกิจการของจำเลยเอง ดังนี้ สัญญาพิพาทจึงมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การปฏิบัติงานของจำเลยเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเพื่อความสะดวกของจำเลยในการปฏิบัติงานทางธุรการเท่านั้น สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่มีลักษณะเป็นการให้โจทก์เข้าร่วมจัดทำบริการสาธารณะโดยตรง และไม่มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ที่จะถือว่าเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางแพ่งที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง บริษัทสลิลทิพย์วารี จำกัด โจทก์ กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด
(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ