คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11225/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ว. ผู้ตายทำสัญญาเช่าอาคารกับโจทก์ เมื่อสัญญาเช่าระงับไปเพราะเหตุสิ้นกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 564 ว. ย่อมมีหน้าที่ที่ต้องขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปและส่งมอบอาคารที่เช่าให้แก่โจทก์ ซึ่งหน้าที่ดังกล่าวโดยสภาพแล้วย่อมมิใช่เป็นการเฉพาะตัวของ ว. ผู้ตายโดยแท้ หากแต่ถือว่าเป็นสิทธิหน้าที่และความรับผิดอันเป็นกองมรดกของ ว. ซึ่งตกทอดแก่ทายาทได้ตามมาตรา 1600 จำเลยทั้งสองในฐานะทายาทโดยธรรมของ ว. จึงต้องรับไปซึ่งหน้าที่ในอันที่จะต้องขนย้ายทรัพย์และบริวารออกจากอาคารและส่งมอบอาคารที่เช่าให้แก่โจทก์ กับต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์จนกว่าจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากอาคารที่เช่า

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองขนย้ายทรัพย์สินและบริวารของนายไววิทย์ ออกไปจากคูหาอาคารที่เช่าในตลาดสัตว์เลี้ยงหมายเลข 29 โดยส่งมอบคูหาอาคารที่เช่าคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย ห้ามเข้ามาเกี่ยวข้องในคูหาอาคารที่เช่าอีกต่อไป ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหาย
เป็นเงิน 741,299.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของค่าเช่าที่ค้างชำระ 668,680 บาท และเงินค่าภาษีโรงเรือนที่โจทก์จ่ายทดรองไปแล้ว 12,438 บาท เป็นเงิน 681,118 บาท และค่าเสียหายอัตราวันละ 610 บาท นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารของนายไววิทย์ ออกไปจากคูหาอาคารที่เช่าจนเป็นที่เรียบร้อยให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนด
ค่าทนายความ 8,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2546 นายไววิทย์ทำสัญญาเช่าคูหาอาคาร หมายเลข 29 ในตลาดสัตว์เลี้ยงกับโจทก์ กำหนดระยะเวลาการเช่า 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2545 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2546 ค่าเช่าอัตราวันละ 60 บาท โดยนายไววุฒิ บุตรของนายไววิทย์ลงชื่อในสัญญาเช่าแทน หลังครบกำหนด วันที่ 26 พฤศจิกายน 2546 โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าและให้นายไววิทย์ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากสถานที่เช่า ตามหนังสือขอบอกเลิกสัญญา แต่นายไววิทย์เพิกเฉย ต่อมาวันที่ 18 เมษายน 2548 นายไววิทย์ถึงแก่ความตาย แต่ยังคงมี
ผู้ครอบครองคูหาอาคาร หมายเลข 29 ของโจทก์ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน จำเลยทั้งสองเป็นทายาทโดยธรรมของนายไววิทย์ โดยจำเลยที่ 1 เป็นภริยา จำเลยที่ 2 เป็นบุตร
พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า นายไววิทย์ทำสัญญาเช่าคูหาอาคาร หมายเลข 29 ในตลาดสัตว์เลี้ยงกับโจทก์ เมื่อสัญญาเช่าระงับไปเพราะเหตุสิ้นกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 564 นายไววิทย์ย่อมมีหน้าที่ที่ต้องขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากคูหาอาคารที่เช่าและส่งมอบคูหาอาคารให้แก่โจทก์ ซึ่งหน้าที่ดังกล่าวว่าโดยสภาพแล้วย่อมมิใช่เป็นการเฉพาะตัวของนายไววิทย์ผู้ตายโดยแท้ หากแต่ถือว่าเป็นสิทธิหน้าที่และความรับผิดอันเป็นกองมรดกของนายไววิทย์ซึ่งตกทอด
แก่ทายาทได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1600 จำเลยทั้งสองในฐานะทายาทโดยธรรมของนายไววิทย์จึงต้องรับไปซึ่งหน้าที่ในอันที่จะต้องขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากคูหาอาคารที่เช่าและส่งมอบคูหาอาคารให้แก่โจทก์ ยิ่งกว่านั้น ได้ความจากนายไตรรัตน์ พยานโจทก์
เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่า นายไววุฒิเป็นผู้ที่ครอบครองในคูหาอาคารที่เช่ามาโดยตลอดซึ่งสอดคล้องกับการที่นายไววุฒิลงชื่อในสัญญาเช่าแทนนายไววิทย์ นายไววุฒิซึ่งเป็นบุตรของ
นายไววิทย์ ก็เป็นทายาทโดยธรรมที่อยู่ในฐานะและมีหน้าที่ในอันที่ต้องขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากคูหาอาคารที่เช่าและส่งมอบคูหาอาคารให้แก่โจทก์เช่นเดียวกันกับจำเลยทั้งสอง เมื่อไม่ปรากฏว่าหลังจากนายไววิทย์ถึงแก่ความตาย จำเลยทั้งสองได้กระทำการใด ๆ เพื่อการขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากคูหาอาคารที่เช่าและส่งมอบคูหาอาคารให้แก่โจทก์อันจะถือได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ทำหน้าที่ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายไววิทย์สมบูรณ์แล้ว แต่นายไววุฒิไม่ยินยอมหรือขัดขืนไม่ยอมให้จำเลยทั้งสองขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากคูหาอาคารที่เช่าและส่งมอบคูหาอาคารให้แก่โจทก์ ตามพฤติการณ์จึงเชื่อได้ว่าจำเลยทั้งสองรู้เห็นและร่วมกับนายไววุฒิที่จะไม่ยอมขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากคูหาอาคารที่เช่าและส่งมอบคูหาอาคารให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองในฐานะทายาทโดยธรรมของนายไววิทย์จึงไม่พ้นความรับผิดในอันที่จะต้องขนย้ายทรัพย์สินและบริวารของนายไววิทย์ออกไปจากคูหาอาคารที่เช่าและส่งมอบคูหาอาคารให้แก่โจทก์กับต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์จนกว่าจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากคูหาอาคารที่เช่า แต่ที่โจทก์เรียกค่าเสียหายเป็นค่าเช่าอัตรา
วันละ 610 บาท นับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2548 เป็นต้นไปนั้น เห็นว่า เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ตุลาคม 2546 โจทก์ไม่อาจอาศัยข้อสัญญาเช่าซึ่งสิ้นสุดลงไปแล้วมาปรับอัตราค่าเช่าให้สูงขึ้นได้อีก จึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายอัตราวันละ 60 บาท ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาเช่าเดิม พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2548 ถึงวันฟ้องเป็นเงินค่าเสียหาย 70,080 บาท ดอกเบี้ย 4,466.53 บาท รวมเป็นเงิน 74,546.53 บาทและค่าเสียหายอัตราวันละ 60 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารของนายไววิทย์ออกไปจากคูหาอาคารที่เช่าให้แก่โจทก์
ส่วนที่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระค่าภาษีโรงเรือนประจำปี 2547 ถึง 2550 เป็นเงิน 12,438 บาท นั้น เห็นว่า แม้สัญญาเช่ากำหนดให้โจทก์มีสิทธิเรียกได้ แต่ค่าภาษีโรงเรือนเกิดขึ้นภายหลังจากสัญญาเช่าสิ้นสุดลงแล้ว โจทก์จึงไม่อาจอาศัยข้อสัญญาเช่ามาเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดใน
ส่วนนี้ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากคูหาอาคารในตลาดสัตว์เลี้ยงหมายเลข 29 และส่งมอบคูหาอาคารดังกล่าวให้แก่โจทก์ กับให้ชำระเงิน 74,546.53 บาท แก่โจทก์ และชำระเงินอีกวันละ 60 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 11 สิงหาคม 2551) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากคูหาอาคารดังกล่าว แต่ทั้งนี้จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกของนายไววิทย์ ที่ตกทอดได้แก่ตน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตาม
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share