คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1798/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 29 ที่ใช้ บังคับอยู่ ณ วันที่ 25 มิถุนายน 2534 นั้น การสละสมณเพศเพราะถูกจับในข้อหาคดีอาญาแยกได้เป็น 3 กรณี คือ 1.เมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการไม่เห็นสมควรให้ ปล่อยชั่วคราวและเจ้าอาวาสไม่ยอมรับตัวไว้ควบคุมพนักงานสอบสวนดำเนินการให้สละสมณเพศได้ 2. พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเห็นว่าไม่ควรปล่อยชั่วคราวและไม่ควรมอบตัวให้เจ้าอาวาสรับตัวไปควบคุม ก็ดำเนินการให้สละสมณเพศ ได้ และ 3. พระภิกษุรูปนั้นไม่ได้สังกัดอยู่ในวัดใดวัดหนึ่ง หรือเป็นพระจรจัด ก็ดำเนินการให้สละสมณเพศได้ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2534 ร้อยตำรวจโทส. นำจำเลยไปมอบให้พนักงานสอบสวนโดยมี ก. แจ้งว่าจำเลยแต่งกายเป็นพระภิกษุโดยมิชอบและยุ่งเกี่ยวกับ พ. ภริยาของ ก. พนักงานสอบสวนจึงนำจำเลยไปพบเจ้าคณะเขตและพระภิกษุผู้ใหญ่ อีกหลายรูปเพื่อสอบสวนจำเลย เมื่อไม่ได้ความชัดว่าขณะนั้นจำเลยจำพรรษาและสังกัดวัดใดแล้ว จำเลยได้ ยินยอมสึก จากการเป็นพระภิกษุโดยเปลื้องจีวร ออกแล้ว แต่งกายด้วย ชุดขาว เมื่อกรณีเห็นได้แจ้งชัดว่าจำเลยถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอาญาและพนักงานสอบสวนไม่เห็นสมควรให้ ปล่อยชั่วคราว ทั้งจำเลยมิได้สังกัดในวัดใดวัดหนึ่ง พนักงานสอบสวน จึงได้ดำเนินการให้จำเลยสละสมณเพศ โดยนำจำเลย ไปพบเจ้าคณะเขตและพระภิกษุผู้ใหญ่อีกหลายรูปเพื่อทำการสึก จำเลยจากการเป็นพระภิกษุ การที่จำเลยยินยอม เปลื้องจีวร ออกแล้ว แต่งกายด้วยชุดขาวเช่นนี้ถือได้ว่า จำเลยได้สละสมณเพศแล้ว เพราะพระภิกษุที่ไม่ปฏิบัติ ตามพระธรรมวินัยหรือต้องปาราชิก จะขาดจากการเป็น พระภิกษุทันทีโดยเจ้าคณะเขตหรือเจ้าคณะตำบลหรือ เจ้าคณะแขวงสามารถให้พระภิกษุรูปนั้นสึกได้โดย ไม่ต้องกล่าวคำอำลาสิกขาการที่จำเลยยินยอมเปลื้องจีวร ออกเพื่อต่อสู้คดี ย่อมไม่เป็นเหตุให้จำเลยซึ่งได้สละสมณเพศแล้วกลับมาเป็นพระภิกษุใหม่อีก ดังนั้นการที่ ต่อมาจำเลยกลับมาแต่งกายเป็นพระภิกษุเพื่อให้ บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นพระภิกษุจึงเป็นการกระทำที่ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 208

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2537 เวลากลางวัน จำเลยบังอาจนำสบง จีวร และอังสะ อันเป็นเครื่องแต่งกายสำหรับพระภิกษุในพุทธศาสนามาแต่งกายโดยมิชอบ เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นภิกษุในพุทธศาสนา โดยจำเลยไม่มีสิทธิแต่งกายเช่นนั้นได้ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 208
จำเลยให้การปฎิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 208 จำคุก 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยอุปสมบทเป็นพระภิกษุโดยถูกต้อง มิใช่พระภิกษุปลอม พระเทพศีลวิสุทธิ์เจ้าอาวาสวัดอรุณราชวรารามจึงไม่มีอำนาจให้จำเลยสละสมณเพศตามคำสั่งมหาเถรสมาคมเรื่องห้ามพระภิกษุสามเณรเที่ยวเตร็ดเตร่และพักค้างแรมตามบ้านเรือน พ.ศ. 2521 ข้อ 6(2) ได้ จำเลยยังไม่ขาดจากการเป็นพระภิกษุ จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้องนั้นเห็นว่า คดีนี้ต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายศาลฎีกาต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาว่า จำเลยบวชเป็นพระภิกษุที่วัดเฉลิมอาสน์ในปี 2520 เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2534 ร้อยตำรวจโทเสริมศักดิ์ รุ่งเรืองนำจำเลยไปมอบให้ร้อยตำรวจโทสายนต์ ดีสวัสดิ์ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางกอกใหญ่ โดยมีนายกศม ยูงทองตามไปแจ้งความว่าจำเลยแต่งกายเป็นพระภิกษุโดยมิชอบ และยุ่งเกี่ยวกับนางพูนศรี ยูงทอง ภริยาของนายกศม ร้อยตำรวจโทสายนต์ถามจำเลยเกี่ยวกับหนังสือสุทธิสำหรับพระภิกษุของจำเลยจำเลยบอกว่าหนังสือสุทธิหายไปนานแล้ว ร้อยตำรวจโทสายนต์จึงนำจำเลยไปพบพระเทพศีลวิสุทธิ์เจ้าอาวาสวัดอรุณราชวรารามและมีตำแหน่งเป็นเจ้าคณะเขตบางกอกใหญ่เพื่อให้สอบสวนจำเลยว่าเป็นพระภิกษุจริงหรือไม่ พระเทพศีลวิสุทธิ์และพระภิกษุผู้ใหญ่หลายรูปร่วมกันสอบสวนจำเลย แต่ไม่ได้ความชัดว่าขณะนั้นจำเลยจำพรรษาหรือสังกัดวัดใด พฤติกรรมของจำเลยในขณะนั้น ถือได้ว่าเป็นเรื่องประพฤติล่วงละเมิดพระธรรมวินัยพระเทพศีลวิสุทธิ์ขอให้จำเลยสละสมณเพศ ในที่สุดจำเลยยินยอมแต่งกายด้วยชุดขาวโดยอ้างว่าเพื่อต่อสู้คดีเจ้าพนักงานตำรวจจึงจับจำเลยและแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่า จำเลยแต่งกายเป็นพระภิกษุโดยมิชอบ จำเลยให้การปฏิเสธ หลังจากนั้นอีก 2 วัน จำเลยได้รับอนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างสอบสวน จำเลยได้แต่งกายเป็นพระภิกษุโดยมิได้อุปสมบทใหม่ ครั้นถึงวันที่ 14 กรกฎาคม 2534 จำเลยนำหนังสือสุทธิของจำเลยไปแสดงต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนมีความเห็นไม่ฟ้องจำเลยและพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องจำเลย ต่อมาวันที่ 23 มีนาคม 2537นายกศมและพระครูวรกิจจานุกูล เจ้าคณะแขวงคันนายาวซึ่งเป็นพระวินยาธิการ กองงานเลขานุการ เจ้าคณะกรุงเทพมหานครไปแจ้งความต่อพันตำรวจโทเอนก ไพศรี พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลท่าพระว่า จำเลยสึกจากการเป็นพระภิกษุแล้วยังแต่งกายเป็นพระภิกษุและพักอาศัยอยู่ที่ตึกแถว เมื่อไปที่ตึกแถวตามที่ได้รับแจ้งจากนายกศมก็พบจำเลยแต่งกายเป็นพระภิกษุอยู่กับนางพูนศรีและบุตรสาวอีก 2 คน ได้พบหนังสือและวีดีโอลามกด้วย เจ้าพนักงานตำรวจได้จับจำเลยมาดำเนินคดี
มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวสมควรวินิจฉัยก่อนว่าเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2534 พระเทพศีลวิสุทธิ์เจ้าอาวาสวัดอรุณราชวรารามและมีตำแหน่งเป็นเจ้าคณะเขตบางกอกใหญ่ได้สอบสวนจำเลยที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นพระภิกษุปลอมและยุ่งเกี่ยวกับนางพูนศรีภริยานายกศม แล้วขอให้จำเลยสละสมณเพศ การที่จำเลยยินยอมเปลื้องจีวร ออกแล้ว แต่งกายด้วยชุดขาวแทนถือว่าจำเลยสละสมณเพศหรือพ้นจากการเป็นพระภิกษุแล้วหรือไม่ ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 29 ที่ใช้บังคับอยู่ขณะนั้นบัญญัติว่า “พระภิกษุรูปใดถูกจับโดยต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา เมื่อพนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการไม่เห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราวและเจ้าอาวาสแห่งวัดที่พระภิกษุรูปนั้นสังกัดไม่รับมอบตัวไว้ควบคุม หรือพนักงานสอบสวนไม่เห็นสมควรให้เจ้าอาวาสรับตัวไปควบคุม หรือพระภิกษุรูปนั้นมิได้สังกัดในวัดใดวัดหนึ่ง ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจจัดดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสียได้” เห็นว่า ตามบทกฎหมายดังกล่าวการสละสมณเพศเพราะถูกจับในข้อหาคดีอาญาแยกได้เป็น 3 กรณี คือ 1. เมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการไม่เห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราวและเจ้าอาวาสไม่ยอมรับตัวไว้ควบคุมพนักงานสอบสวนดำเนินการให้สละสมณเพศได้ 2. พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเห็นว่าไม่ควรปล่อยชั่วคราวและไม่ควรมอบตัวให้เจ้าอาวาสรับตัวไปควบคุม ก็ดำเนินการให้สละสมณเพศได้และ 3. พระภิกษุรูปนั้นไม่ได้สังกัดอยู่ในวัดใดวัดหนึ่งหรือเป็นพระจรจัดก็ดำเนินการให้สละสมณเพศได้ กรณีของจำเลยเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในวันที่ 25 มิถุนายน 2534ร้อยตำรวจโทเสริมศักดิ์นำจำเลยไปมอบให้ร้อยตำรวจโทสายนต์พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางกอกใหญ่ โดยมีนายกศมแจ้งว่าจำเลยแต่งกายเป็นพระภิกษุโดยมิชอบและยุ่งเกี่ยวกับนางพูนศรีภริยาของนายกศม ร้อยตำรวจโทสายนต์จึงนำจำเลยไปพบพระเทพศีลวิสุทธิ์เจ้าอาวาสวัดอรุณราชวรารามและมีตำแหน่งเป็นเจ้าคณะเขตบางกอกใหญ่และพระภิกษุผู้ใหญ่อีกหลายรูปเพื่อสอบสวนจำเลยแล้ว ไม่ได้ความชัดว่าขณะนั้นจำเลยจำพรรษาและสังกัดวัดใดจำเลยยินยอมสึกจากการเป็นพระภิกษุโดยเปลื้องจีวร ออกแล้ว แต่งกายด้วยชุดขาว กรณีเห็นได้แจ้งชัดว่าจำเลยถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอาญาและพนักงานสอบสวนไม่เห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราว ทั้งจำเลยมิได้สังกัดในวัดใดวัดหนึ่งพนักงานสอบสวนก็ได้ดำเนินการให้จำเลยสละสมณเพศโดยนำจำเลยไปพบพระเทพศีลวิสุทธิ์และพระภิกษุผู้ใหญ่อีกหลายรูปเพื่อทำการสึกจำเลยจากการเป็นพระภิกษุ การที่จำเลยยินยอมเปลื้องจีวรออกแล้ว แต่งกายด้วยชุดขาวเช่นนี้ ถือได้ว่าจำเลยได้สละสมณเพศแล้วในขณะนั้นตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 29 ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของพระธรรมสิริชัยหรือพระเทพศีลวิสุทธิ์ เจ้าอาวาสวัดอรุณราชวรารามและเป็นรองเจ้าคณะกรุงเทพมหานครพระมหาสมเกียรติโกวิโท ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวรารามและพระมหาเสวย ชนสโภ ว่าพระภิกษุที่ไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยหรือต้องปาราชิก จะขาดจากการเป็นพระภิกษุทันทีโดยเจ้าคณะเขตหรือเจ้าคณะตำบลหรือเจ้าคณะแขวงสามารถให้พระภิกษุรูปนั้นสึกได้โดยไม่ต้องกล่าวคำอำลา สิกขา ที่จำเลยอ้างว่ายินยอมเปลื้องจีวร ออกเพื่อต่อสู้คดี ก็ไม่เป็นเหตุให้จำเลยซึ่งได้สละสมณเพศแล้วกลับมาเป็นพระภิกษุใหม่อีกการที่จำเลยแต่งกายเป็นพระภิกษุเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นพระภิกษุเป็นการกระทำที่เป็นความผิดตามฟ้อง แต่ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลย 6 เดือน นั้นหนักเกินไป ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดโทษเสียใหม่ให้เหมาะสม แต่ตามพฤติการณ์แห่งคดีไม่สมควรรอการลงโทษให้จำเลย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลย 3 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share