คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1755/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ศาลอุทธรณ์รวมโทษจำคุกของจำเลยทั้งสามสิบกระทงเข้าด้วยกันแล้วจึงลดโทษ จะเป็นผลร้ายแก่จำเลยมากกว่าลดโทษแต่ละกระทงเสียก่อนแล้วจึงรวมเข้าด้วยกัน เพราะการกำหนดโทษจำคุก 12 เดือน ย่อมมีกำหนดเท่ากับ 360 วัน น้อยกว่าจำนวนวันตามปีปฏิทินที่อาจมีถึง 365 วัน หรือ 366 วัน สุดแล้วแต่ว่าจะเป็นปีอธิกสุรทินหรือปีจันทรคติก็ตาม แต่คดีนี้ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 147 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปีหรือจำคุกตลอดชีวิต เมื่อศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 5 ปี รวม 30 กระทง เป็นจำคุก 150 ปี ไม่ว่าศาลอุทธรณ์จะรวมโทษก่อนแล้วลดโทษเป็นจำคุก 75 ปี หรือลดโทษก่อนแล้วรวมโทษเป็นจำคุก 60 ปี 180 เดือน ก็ตาม ศาลอุทธรณ์ก็ต้องลงโทษจำคุกจำเลย 50 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 91 (3) การรวมโทษก่อนลดโทษให้แก่จำเลยย่อมไม่เป็นผลร้ายแก่จำเลยจนถึงกับต้องแก้ไขโทษจำคุกจำเลยเสียใหม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 147 และ 157
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และ 157 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษจำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 30 กระทงเป็นจำคุก 150 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 75 ปี กรณีความผิดกระทงหนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปี จึงให้ลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3)
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 สำหรับโทษและนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยจะออกใบเสร็จรับเงินเลขที่ปลอมเพียงครั้งเดียวแล้วใช้เบียดบังเอาทรัพย์ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ผู้เสียหาย มาเป็นของจำเลยโดยทุจริตต่อหน้าที่ก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยจะเป็นกรรมเดียวกันหรือหลายกรรมต่างกันนั้นมิได้พิจารณาแต่เพียงว่าจำเลยออกใบเสร็จรับเงินเลขที่ปลอมเพียงครั้งเดียวเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาถึงการกระทำอื่น ๆ ของจำเลยประกอบด้วย เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยออกใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี ค่าภาระการใช้ท่าเรือ ค่าบริการและความสะดวกต่าง ๆ ของกิจการท่าเรือประเภทต่างๆ และรับเงินค่าภาระเป็นเงินสด รวมสินค้า/บริการ และภาษีมูลค่าเพิ่ม จากลูกค้าซึ่งเป็นบริษัทต่าง ๆ ที่ได้เข้าใช้บริการและความสะดวกต่าง ๆ ของกิจการท่าเรือของผู้เสียหาย แล้วเบียดบังเอาเงินที่จำเลยรับไว้จากลูกค้าเพื่อส่งมอบให้แก่ผู้เสียหายไปเป็นของตน ต่างวันและเวลากัน กับคนละบริษัท ทั้งจำนวนเงินที่จำเลยเบียดบังไปก็เป็นคนละจำนวนกันด้วย เช่นนี้ การกระทำของจำเลยในแต่ละครั้งจึงเป็นความผิดสำเร็จในตัวเองและเป็นการกระทำโดยมีเจตนาต่างกัน ถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิดโดยมีเจตนาแยกต่างหากจากกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรม หาใช่เป็นการกระทำความผิดต่อเนื่องกัน อันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทดังที่จำเลยฎีกาไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่า ที่ศาลอุทธรณ์รวมโทษจำคุกจำเลยก่อนลดโทษให้แก่จำเลยชอบหรือไม่ เห็นว่า แม้ศาลอุทธรณ์รวมโทษจำคุกของจำเลยทั้งสามสิบกระทงเข้าด้วยกันแล้วจึงลดโทษ จะเป็นผลร้ายแก่จำเลยมากกว่าลดโทษแต่ละกระทงเสียก่อนแล้วจึงรวมเข้าด้วยกัน เพราะประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 21 วรรคสอง บัญญัติว่า “ถ้าระยะเวลาที่คำนวณนั้นกำหนดเป็นเดือน ให้นับสามสิบวันเป็นหนึ่งเดือน ถ้ากำหนดเป็นปี ให้คำนวณตามปีปฏิทินในราชการ” ซึ่งการกำหนดโทษจำคุก 12 เดือน ย่อมมีกำหนดเท่ากับ 360 วัน น้อยกว่าจำนวนวันตามปีปฏิทินที่อาจมีถึง 365 วัน หรือ 366 วัน สุดแท้แต่ว่าจะเป็นปีอธิกสุรทินหรือปีจันทรคติ ก็ตาม แต่คดีนี้ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปีหรือจำคุกตลอดชีวิต เมื่อศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 5 ปี รวม 30 กระทง เป็นจำคุก 150 ปี ไม่ว่าศาลอุทธรณ์จะรวมโทษก่อนแล้วลดโทษเป็นจำคุก 75 ปี หรือลดโทษก่อนแล้วรวมโทษเป็นจำคุก 60 ปี 180 เดือน ก็ตาม ศาลอุทธรณ์ก็ต้องลงโทษจำคุกจำเลย 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) การรวมโทษก่อนลดโทษให้แก่จำเลยย่อมไม่เป็นผลร้ายแก่จำเลยจนถึงกับต้องแก้ไขโทษจำคุกจำเลยเสียใหม่ จึงไม่มีเหตุที่จะแก้ไขโทษจำคุกของจำเลยโดยลดโทษก่อนแล้วจึงรวมโทษดังที่จำเลยฎีกา ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายว่า มีเหตุที่จะรอการลงโทษจำคุกหรือรอการกำหนดโทษให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยมิได้คำนึงถึงความเสียหายในการจัดเก็บรายได้ของผู้เสียหายซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ทั้งจำเลยกระทำต่อเนื่องกันเป็นเวลาหลายเดือนและเงินที่จำเลยเบียดบังไปเมื่อรวมกันแล้วก็มีจำนวนสูง พฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดของจำเลยเป็นเรื่องที่ร้ายแรง แม้จำเลยยินยอมรับผิดต่อผู้เสียหายและได้ชดใช้เงินทั้งหมดคืนให้แก่ผู้เสียหายแล้วก็ตาม แต่ก่อนที่จะกระทำความผิดจำเลยควรจะคิดใคร่ครวญให้ดี มิใช่กระทำความผิดแล้วจึงนำเงินมาชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหายเพื่อนำมาเป็นข้ออ้างขอให้ศาลฎีกาปรานีแก่จำเลย ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อนและมีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัวก็ยังมิใช่เหตุเพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกหรือรอการกำหนดโทษให้แก่จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน

Share