แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อเท็จจริงที่ได้ความจากการไกล่เกลี่ยประนีประนอมยอมความจะนำมาพิจารณาในชั้นพิจารณาของศาลได้หรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับสภาพของข้อเท็จจริงแต่ละราย หากข้อเท็จจริงใดเป็นเรื่องที่คู่ความประสงค์จะให้เป็นข้อพิจารณาโดยแท้ในชั้นไกล่เกลี่ย ซึ่งเป็นกระบวนการที่อาศัยความจริงใจของคู่กรณีที่จำเลยแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจที่จะหาทางระงับข้อพิพาทด้วยการตกลงกัน ข้อมูลบางอย่างอาจเป็นคุณเป็นโทษต่อเจ้าของข้อมูล ข้อมูลเช่นนี้ก็ไม่อาจนำมาใช้เป็นประโยชน์ในภายหลังได้ มิฉะนั้นจะเป็นการทำลายความเชื่อมั่นของคู่กรณีต่อระบบการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทที่ต่อไปคู่กรณีอาจไม่เปิดเผยข้อมูลแก่กันเพื่อหาทางระงับคดี แต่ข้อมูลเกี่ยวกับข้อเท็จจริงใดที่ไม่ว่าจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลในชั้นไกล่เกลี่ยกันหรือไม่ ก็เป็นที่ทราบของคู่กรณีอยู่แล้วก็ดี หรือข้อมูลใดคู่ความประสงค์ให้นำมาเป็นประโยชน์ในชั้นพิจารณา เมื่อการไกล่เกลี่ยไม่อาจตกลงกันได้ก็ดี ศาลย่อมรับฟังข้อเท็จจริงนั้นได้ เมื่อในการไกล่เกลี่ยจำเลยเสนอว่าสามารถชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูได้เพียงเดือนละ 3,000 บาท แต่ตกลงกันไม่ได้ แล้วต่อมาจำเลยแถลงต่อศาลตามรายงานกระบวนพิจารณาว่า ในชั้นไกล่เกลี่ยจำเลยยินดีให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเดือนละ 3,000 บาท และแถลงแทนการสืบพยานบุคคล ศาลจึงรับฟังคำแถลงดังกล่าวได้ในฐานเป็นจำนวนเงินเบื้องต้นที่จะให้ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่บุตรของโจทก์จำเลยต่อไป โดยพิจารณาประกอบสภาพเศรษฐกิจและพฤติการณ์ในการทำมาหาได้ของจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูเดือนละ 4,000 บาท จึงเหมาะสมแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้พิพากษาว่า เด็กหญิง ภ. ผู้เยาว์ เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของจำเลย ให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์เป็นรายเดือน เดือนละ 20,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าผู้เยาว์จะบรรลุนิติภาวะหรือจบการศึกษาชั้นสูงสุด
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา คู่ความทั้งสองฝ่ายยินยอมให้มีการตรวจสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอพิสูจน์ความเป็นบิดาและบุตรระหว่างจำเลยกับผู้เยาว์ และจำเลยยอมรับผลการตรวจสารพันธุกรรมว่าผู้เยาว์เป็นบุตรจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า เด็กหญิง ภ. ผู้เยาว์ เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่เกิดกับโจทก์ ให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์เดือนละ 6,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 19 เมษายน 2555) เป็นต้นไปจนกว่าผู้เยาว์จะสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี แต่ถ้าพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปย่อมไม่ตัดสิทธิคู่ความที่จะขอให้สั่งแก้ไขในเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/39 วรรคหนึ่ง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูเด็กหญิง ภ. ผู้เยาว์ เดือนละ 4,000 บาท นับจากวันที่คำพิพากษาถึงที่สุดเป็นต้นไป จนกว่าผู้เยาว์จะบรรลุนิติภาวะ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เดิมโจทก์จำเลยทำงานเป็นพนักงานขายอยู่ที่บริษัทซาก้าเจมส์ จำกัด ด้วยกัน รู้จักรักใคร่กัน ต่อมาได้อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา ต่อมาหลังจากโจทก์ตั้งครรภ์ โจทก์จำเลยเลิกอยู่กินด้วยกัน โจทก์คลอดเด็กหญิง ภ. เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2555 จากผลการตรวจสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ ไม่พบข้อขัดแย้งความเป็นบิดามารดาและบุตรปรากฏตามหนังสือแจ้งผลการตรวจสารพันธุกรรม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2555
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ เดือนละ 4,000 บาท เหมาะสมหรือไม่ โดยจำเลยอ้างว่า จำเลยมีรายได้น้อย แม้ในชั้นไกล่เกลี่ยจำเลยจะเคยเสนอให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูเดือนละ 3,000 บาท ก็เป็นเพียงข้อเสนอเบื้องต้นซึ่งโจทก์มิได้ตกลงด้วยเท่านั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ได้ความจากการไกล่เกลี่ยประนีประนอมยอมความจะนำมาพิจารณาในชั้นพิจารณาของศาลได้หรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับสภาพของข้อเท็จจริงแต่ละรายไป หากข้อเท็จจริงใดเป็นเรื่องที่คู่ความประสงค์จะให้เป็นข้อพิจารณาโดยแท้ในชั้นไกล่เกลี่ย ซึ่งเป็นกระบวนการที่อาศัยความจริงใจของคู่กรณีที่จำเลยแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจที่จะหาทางระงับข้อพิพาทด้วยการตกลงกัน ข้อมูลบางอย่างอาจเป็นคุณเป็นโทษต่อเจ้าของข้อมูล ข้อมูลเช่นนี้ก็ไม่อาจนำมาใช้เป็นประโยชน์ในภายหลังได้ มิฉะนั้นก็จะเป็นการทำลายความเชื่อมั่นของคู่กรณีต่อระบบการไกล่เกลี่ยเพื่อระงับข้อพิพาท ที่ต่อไปคู่กรณีไม่อาจเปิดเผยข้อมูลแก่กันเพื่อหาทางระงับคดี แต่สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับข้อเท็จจริงใดที่ไม่ว่าจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลในชั้นไกล่เกลี่ยกันหรือไม่ ก็เป็นที่ทราบของคู่กรณีอยู่แล้วก็ดี หรือข้อมูลใดคู่ความประสงค์ให้นำมาเป็นประโยชน์ในชั้นพิจารณา เมื่อการไกล่เกลี่ยแต่ไม่อาจตกลงกันได้ก็ดี ศาลย่อมรับฟังข้อเท็จจริงนั้นได้ เมื่อจำเลยเสนอขอให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรในชั้นไกล่เกลี่ยว่าจำเลยจะเสนอให้เดือนละ 3,000 บาท แต่ตกลงกันไม่ได้ ต่อมาจำเลยแถลงต่อศาลปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 13 มีนาคม 2556 ว่า ในชั้นไกล่เกลี่ยจำเลยยินดีให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเดือนละ 3,000 บาท อันเป็นกรณีที่โจทก์จำเลยแถลงต่อศาลแทนการสืบพยานบุคคล แล้วโจทก์จำเลยแถลงหมดพยานเช่นนี้ เป็นเรื่องที่คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงแทนการสืบพยานบุคคล ข้อเท็จจริงที่จำเลยแถลงว่ายินดีให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเดือนละ 3,000 บาท จึงรับฟังได้ในฐานเป็นจำนวนเงินเบื้องต้นที่จะให้ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่บุตรของโจทก์จำเลยต่อไป และเมื่อคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ประกอบกับพฤติการณ์เกี่ยวกับทางทำมาหาได้ของจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูเดือนละ 4,000 บาท จึงเหมาะสมแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ