คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13253/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บริษัทโจทก์ บริษัท เอบีบี ด. และบริษัท เอบีบี พ. มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายเดียวกันคือ บริษัท อาเซียอา นิติบุคคลตามกฎหมายไทยถือหุ้นร้อยละ 51 และมีบริษัท เอบีบี อ. นิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศ ถือหุ้นคิดเป็นร้อยละ 49 ก่อนจดทะเบียนเลิกบริษัทโจทก์มีกำไรสะสม 101,754,580 บาท ซึ่งโจทก์ควรจ่ายเป็นเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นของโจทก์ การจ่ายเงินปันผลให้แก่บริษัท เอบีบี อ. ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศโจทก์ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายตาม ป.รัษฎากร มาตรา 70 แต่โจทก์กลับจ่ายปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นเพียง 2,105,627 บาท แล้วนำกำไรอีก 99,000,000 บาท ไปจ่ายเป็นเงินสนับสนุนให้แก่บริษัท เอบีบี ด. และบริษัท เอบีบี พ. โดยไม่ได้รับผลตอบแทนเพื่อให้บริษัท เอบีบี ด. และบริษัท เอบีบี พ. นำเงินดังกล่าวไปชำระหนี้แก่บริษัท เอบีบี อ. ทั้งที่โจทก์มิได้เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท เอบีบี อ. หลังจากโจทก์ให้เงินสนับสนุนแก่บริษัท เอบีบี ด. และบริษัท เอบีบี พ. เพียงสองวัน โจทก์และบริษัท เอบีบี ด. และบริษัท เอบีบี พ. ได้จดทะเบียนเลิกบริษัทในวันเดียวกัน ปกติก่อนเลิกบริษัท หากโจทก์มีหนี้สินก็ควรนำเงินไปชำระหนี้ก่อนที่เหลือจึงนำแบ่งให้แก่ผู้ถือหุ้น การที่โจทก์จ่ายเงินสนับสนุนให้แก่บริษัท เอบีบี ด. และบริษัท เอบีบี พ. เป็นทางให้บริษัท อาเซียอา ผู้ถือหุ้นใหญ่ของโจทก์ขาดประโยชน์ที่พึงมีพึงได้จากกำไรสะสม 99,000,000 บาท ทางพิจารณาไม่ปรากฏว่ามีเหตุผลสมควรอันใดที่บริษัท อาเซียอา ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่มีอำนาจบริหารในบริษัทโจทก์จะยอมให้โจทก์กระทำให้บริษัท อาเซียอา ต้องเสียเปรียบ ดังนั้น การที่โจทก์ไม่จ่ายเงินปันผลให้แก่บริษัท เอบีบี อ. โดยตรง กับใช้วิธีให้เงินสนับสนุนแก่บริษัท เอบีบี ด. และบริษัท เอบีบี พ. ก็เพื่อที่โจทก์ไม่ต้องหักภาษีจากเงินได้ที่จ่ายให้บริษัท เอบีบี อ. ตามมาตรา 70 พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าบริษัท เอบีบี อ. ได้รับผลประโยชน์ทางอ้อมจากกำไรสะสมที่โจทก์ได้จ่ายเงินสนับสนุนให้แก่บริษัท เอบีบี ด. และบริษัท เอบีบี พ. ตามสัดส่วนของการถือหุ้นอันเป็นการเพิ่มพูนทรัพย์สินของบริษัท เอบีบี อ. อันอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน จึงเป็นเงินได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 39 และเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ข) ที่จ่ายจากประเทศไทย โจทก์มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 70

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร เลขที่ ภงด 74.1-05110010-25480802-002-00001 ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2548 หรือเลขที่ ภงด 74.1-01002071-25481110-002-00001 ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2548 เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร เลขที่ ภงด 74.1-05110010-25480802-002-00002 ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2548 เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เลขที่ ภญ. (อธ.1)/7/2552 หากศาลเห็นว่าโจทก์ควรต้องชำระภาษีตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์เพียงใดแล้ว ขอให้งดเงินเพิ่มทั้งหมดให้แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนด ค่าทนายความ 10,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยโจทก์นำสืบเพียงว่า โจทก์ไม่เคยจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น แต่ตามบันทึกคำให้การชั้นตรวจสอบ ที่นางสาวสอางค์โฉมไปให้การต่อเจ้าพนักงานประเมินต่างระบุว่าโจทก์ได้จ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในวันที่ 26 ธันวาคม 2545 ซึ่งนางสาวสอางค์โฉม เป็นผู้ชำระบัญชีของโจทก์ ย่อมมีความรู้ทางบัญชีและทราบความหมายของคำว่าเงินปันผลเป็นอย่างดี และมิได้โต้แย้งเจ้าพนักงานประเมินว่าถ้อยคำที่ระบุในเอกสารดังกล่าวนั้นไม่ถูกต้องอย่างไร กลับยอมลงลายมือชื่อในบันทึกคำให้การชั้นตรวจสอบทั้งสามฉบับ ทั้งในชั้นที่นางสาวสอางค์โฉมมาเบิกความต่อศาล นางสาวสอางค์โฉมก็มิได้เบิกความว่า บันทึกคำให้การของตนนั้นไม่ถูกต้องอย่างไร อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์จึงฟังไม่ขึ้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามพยานหลักฐานของจำเลยว่า โจทก์ได้จ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น 2,105,627.67 บาท จริง โดยปรากฏข้อเท็จจริงจากงบดุลว่า ก่อนที่โจทก์จะจดทะเบียนเลิกบริษัท โจทก์มีกำไรสะสม 101,754,580.01 บาท ประกอบด้วยกำไรสะสมที่จัดสรรเป็นทุนสำรอง 950,003 บาท และกำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรร 100,805,577 บาท ซึ่งเงินกำไรสะสมดังกล่าวโจทก์ควรจะนำมาแบ่งปันให้แก่ผู้ถือหุ้นของโจทก์ แต่โจทก์กลับจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นเพียง 2,105,627.67 บาท แล้วนำเงินกำไรสะสมจำนวนมากถึง 99,000,000 บาท ไปจ่ายเป็นเงินสนับสนุนให้แก่บริษัทเอบีบี ดิสทรีบิวชั่น จำกัด และบริษัทเอบีบี เพาเวอร์ จำกัด โดยไม่ได้รับผลตอบแทน เพื่อให้บริษัททั้งสองนำไปชำระหนี้แก่บริษัทเอบีบี อาเซียอา บราวน์ โบเวอรี่ จำกัด ทั้งที่โจทก์ก็มิได้เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทผู้รับเงินทั้งสอง และยังปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์กับบริษัทผู้รับเงินทั้งสอง มีผู้ถือหุ้นใหญ่รายเดียวกัน คือ บริษัทอาเซียอา บราวน์ โบเวอรี่ โฮลดิ้ง จำกัด และบริษัทเอบีบี อาเซียอา บราวน์ โบเวอรี่ จำกัด หลังจากที่โจทก์จ่ายเงินสนับสนุนให้แก่บริษัทผู้รับเงินทั้งสอง บริษัทผู้รับเงินทั้งสองก็ได้จดทะเบียนเลิกบริษัทในวันเดียวกันกับบริษัทโจทก์ ประกอบกับตามปกติก่อนการเลิกบริษัท หากโจทก์มีหนี้สินก็ควรนำเงินไปชำระหนี้ก่อนที่เหลือจึงนำมาแบ่งปันคืนให้แก่ผู้ถือหุ้น ทั้งการที่โจทก์จ่ายเงินสนับสนุนให้แก่บริษัทผู้รับเงินทั้งสอง ยังเป็นทางให้บริษัทเอบีบี อาเซียอา บราวน์ โบเวอรี่ จำกัด ผู้ถือหุ้นในโจทก์สัดส่วนร้อยละ 48.93 ขาดประโยชน์ที่พึงมีพึงได้จากกำไรสะสมที่โจทก์นำไปจ่ายเป็นเงินสนับสนุนให้แก่บริษัทผู้รับเงินทั้งสอง จำนวน 99,000,000 บาท ตามสัดส่วนที่บริษัทถือหุ้นคิดเป็นเงิน35,229,600 บาท และจำนวน 13,211,100 บาท ทางพิจารณาไม่ปรากฏว่ามีเหตุสมควรอันใดที่บริษัทเอบีบี อาเซียอา บราวน์ โบเวอรี่ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่มีอำนาจบริหารในบริษัทโจทก์จะยอมให้โจทก์กระทำให้ตนต้องเสียเปรียบ ซึ่งหากในวันที่เลิกประกอบกิจการโจทก์นำกำไรสะสมจ่ายเป็นเงินปันผลให้แก่บริษัทเอบีบี อาเซียอา บราวน์ โบเวอรี่ จำกัด นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของสมาพันธรัฐสวิส โจทก์ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายให้แก่บริษัทเอบีบี อาเซียอา บราวน์ โบเวอรี่ จำกัด ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น การที่โจทก์มิได้จ่ายเงินกำไรสะสมให้แก่บริษัทเอบีบี อาเซียอา บราวน์ โบเวอรี่ จำกัด โดยตรงกลับใช้วิธีให้เงินสนับสนุนแก่บริษัทผู้รับเงินทั้งสองที่มีบริษัทเอบีบี อาเซียอา บราวน์ โบเวอรี่ จำกัด ถือหุ้นอยู่ก็เพื่อที่โจทก์จะได้ไม่ต้องหักภาษีจากเงินได้ที่จ่ายให้บริษัทเอบีบี อาเซียอา บราวน์ โบเวอรี่ จำกัด พฤติการณ์ดังกล่าวจึงถือได้ว่าบริษัทเอบีบี อาเซียอา บราวน์ โบเวอรี่ จำกัด ได้รับผลประโยชน์ทางอ้อมจากกำไรสะสมที่โจทก์ได้จ่ายให้แก่บริษัทผู้รับเงินทั้งสองตามสัดส่วนของการถือหุ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มพูนทรัพย์สินของบริษัทเอบีบี อาเซียอา บราวน์ โบเวอรี่ จำกัด อันอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน จึงเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร และเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ข) ที่จ่ายในประเทศไทย โจทก์จึงมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย นำส่งจำเลยร้อยละ 10 ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร การประเมินของเจ้าพนักงานและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ต่อไปว่า มีเหตุสมควรลดหรืองดเงินเพิ่มให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า โจทก์มีกำไรสะสมจำนวนมากสามารถจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นได้ แต่โจทก์กลับนำกำไรสะสมไปจ่ายเป็นเงินสนับสนุนเป็นจำนวนถึง 99,000,000 บาท ให้แก่บริษัทผู้รับเงินทั้งสองที่มีบริษัทเอบีบี อาเซียอา บราวน์ โบเวอรี่ จำกัด ถือหุ้นอยู่ เพื่อหลีกเลี่ยงการหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายตามประมวลรัษฎากร มาตรา 70 กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรลดหรืองดเงินเพิ่มแก่โจทก์อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share