คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14112/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.รัษฎากร มาตรา 81 (1) (จ) บัญญัติว่า ให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการประกอบกิจการประเภทการขายยาหรือเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับพืชหรือสัตว์ เพื่อบำรุง รักษา ป้องกัน ทำลาย หรือกำจัดศัตรูหรือโรคของพืชและสัตว์ บทบัญญัติดังกล่าวไม่มีข้อความใดกำหนดว่า ยาหรือเคมีภัณฑ์ดังกล่าวจะต้องใช้สำหรับฉีดให้แก่สัตว์หรือใช้เฉพาะภายในสัตว์โดยตรง แม้ยาตัวนี้ไม่สามารถทำให้สัตว์ที่ติดเชื้อไข้หวัดนกหายจากโรคหรือฆ่าเชื้อโรคในตัวสัตว์นั้นได้ แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า มีส่วนประกอบของสารเคมีหลายชนิดและมีคุณสมบัติสำคัญในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัสรวมทั้งเชื้อไข้หวัดนก โดยใช้ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อในบริเวณโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ วัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้ในโรงเรือนเลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะ จึงเป็นเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับสัตว์ เพื่อป้องกัน ทำลาย หรือกำจัดศัตรูหรือโรคของสัตว์ ตามมาตรา 81 (1) (จ)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.73.1) เลขที่ 1040000010-25530303-005 – 00277 ลงวันที่ 3 มีนาคม 2553 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ สภ.10 (ขก) 027/2553
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้แก้ไขการประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.73.1) เลขที่ 1040000010-25530303-005-00277 ลงวันที่ 3 มีนาคม 2553 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ สภ.10 (ขก) 027/2553 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2553 โดยให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มแก่โจทก์ 1,093,285.50 บาท พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มของเงินภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าว ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า การขายผลิตภัณฑ์น้ำยาฆ่าเชื้อโรคไข้หวัดนกของโจทก์ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า แม้ผลิตภัณฑ์น้ำยาฆ่าเชื้อโรคของโจทก์จะมีประสิทธิภาพในการทำลายฆ่าเชื้อโรคไข้หวัดนกได้จริง แต่ไม่ได้นำไปฉีดให้แก่สัตว์ปีกโดยตรง สำหรับสัตว์ที่ติดเชื้อไข้หวัดนกยาตัวนี้ไม่สามารถทำให้สัตว์หายจากโรคหรือฆ่าเชื้อโรคในตัวสัตว์ได้หากสัตว์ยังมีชีวิตอยู่กรณีของโจทก์จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น ปัญหานี้ ประมวลรัษฎากร มาตรา 81 บัญญัติว่า “ให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการประกอบกิจการประเภทต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ (1) การขายสินค้าที่มิใช่การส่งออก หรือการให้บริการ ดังต่อไปนี้… (จ) การขายยาหรือเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับพืชหรือสัตว์ เพื่อบำรุง รักษา ป้องกัน ทำลาย หรือกำจัดศัตรูหรือโรคของพืชและสัตว์” จากบทบัญญัติดังกล่าวคงได้ความเพียงว่า สินค้าที่จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามข้อ (จ) มีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ ยาและเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับพืชหรือสัตว์ ทั้งนี้ต้องใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการบำรุง รักษา ป้องกัน ทำลาย หรือกำจัดศัตรูหรือโรคของพืชและสัตว์เท่านั้น โดยไม่มีข้อความใดกำหนดไว้ว่า ยาหรือเคมีภัณฑ์ดังกล่าวจะต้องใช้สำหรับฉีดให้แก่สัตว์โดยตรงหรือใช้เฉพาะภายในสัตว์โดยตรงดังที่จำเลยอุทธรณ์ แม้ยาตัวนี้ไม่สามารถทำให้สัตว์ที่ติดเชื้อไข้หวัดนกหายจากโรคหรือฆ่าเชื้อโรคในตัวสัตว์นั้นได้ก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ขายผลิตภัณฑ์น้ำยาทำความสะอาดและฆ่าเชื้อชื่อ “เบ็ค 1” และ “ดี 320” ให้แก่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดมหาสารคามและสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งผลิตภัณฑ์ทั้งสองรายการดังกล่าวมีส่วนประกอบของสารเคมีหลายชนิดและมีคุณสมบัติสำคัญในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัสรวมทั้งเชื้อไข้หวัดนก โดยใช้ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อในบริเวณโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ วัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้ในโรงเรือนเลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะ ตามฉลากผลิตภัณฑ์ ทั้งเหตุที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทั้งสองแห่งจัดซื้อผลิตภัณฑ์น้ำยาทำความสะอาดดังกล่าวจากโจทก์เนื่องจากขณะนั้นมีสถานการณ์โรคไข้หวัดนกระบาด ผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการจึงอนุมัติให้จัดซื้อผลิตภัณฑ์น้ำยาทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคสำหรับฉีดป้องกันการระบาดของไข้หวัดนกในพื้นที่เสี่ยงภัย เช่น ฟาร์มสัตว์หรือโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ แสดงให้เห็นว่า วัตถุประสงค์หลักในการใช้ผลิตภัณฑ์ของโจทก์ก็เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ปีกในพื้นที่ติดเชื้อโรคไข้หวัดนกและลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคดังกล่าว เมื่อพิจารณาคุณสมบัติประกอบกับวัตถุประสงค์ในการใช้ผลิตภัณฑ์ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ “เบ็ค 1” และ “ดี 320” ที่โจทก์ขายให้แก่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดมหาสารคามและสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดกาฬสินธุ์ในคดีนี้จึงเป็นเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับสัตว์ เพื่อป้องกัน ทำลาย หรือกำจัดศัตรูหรือโรคของสัตว์ ตามความหมายของมาตรา 81 (1) (จ) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว โจทก์ย่อมเป็นผู้ประกอบกิจการขายสินค้าที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตราดังกล่าว ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share