คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14047/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์มิได้ทำธุรกิจแข่งกับจำเลย เนื่องจากขณะโจทก์ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ถึงลูกความของบริษัท ด. โจทก์เชื่อโดยสุจริตใจว่าลูกความของบริษัทดังกล่าวไม่ได้เป็นลูกความของจำเลยอีกต่อไป เนื่องจากจำเลยโอนกิจการรวมถึงลูกความของจำเลยไปยังบริษัทนี้แล้ว ถือไม่ได้ว่าโจทก์จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายนั้น ศาลแรงงานภาค 8 วินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมีน้ำหนักน่าเชื่อมากกว่าพยานโจทก์ จึงฟังข้อเท็จจริงตามที่จำเลยนำสืบได้ความว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์กระทำผิดซ้ำคำเตือนและจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย โดยเปิดบริษัทที่ปรึกษากฎหมายแห่งใหม่และทำหนังสือเชิญชวนลูกความของจำเลยไปใช้บริการ อันเป็นการทำธุรกิจแข่งขันกับจำเลย ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าขณะโจทก์ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ลูกความของจำเลย ลูกความทั้งหมดของจำเลยโอนไปยังบริษัท ด. แล้วฟังไม่ขึ้น การกระทำของโจทก์ทำให้จำเลยเสียลูกค้า ขาดรายได้ เป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ดังนั้นอุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์โต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานภาค 8 รับฟังเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมาย อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
โจทก์ตกลงให้จำเลยกู้เงินจากสถาบันการเงินเพื่อไปเช่ารถยนต์ให้แก่โจทก์แล้วนำค่าจ้างของโจทก์ชำระค่าเช่ารถยนต์ วันที่ 24 มีนาคม 2552 จำเลยทำสัญญาเช่าแบบลีสซิ่งกับบริษัท ต. โดยมีข้อตกลงว่าให้บริษัท ต. ซื้อรถยนต์ตามคำร้องของจำเลยเพื่อให้จำเลยเช่ามีกำหนดเช่า 36 เดือน จำเลยนำค่าจ้างของโจทก์ชำระค่าเช่ารถยนต์มาตลอดจนกระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ 2553 โจทก์ประสงค์นำค่าเช่าไปชำระเอง แต่ก็ไม่นำไปชำระ บริษัท ต. ทวงถามค่าเช่ารถยนต์มายังจำเลย จำเลยแจ้งให้โจทก์ทราบแต่โจทก์ปฏิเสธไม่ชำระค่าเช่ารถยนต์อีกต่อไป ดังนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์เช่ารถยนต์มาใช้เอง แต่ให้จำเลยทำสัญญาเช่าแทนโจทก์โดยโจทก์ชำระค่าเช่ารถยนต์ มิใช่กรณีจำเลยจัดสวัสดิการให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้าง แต่เป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยมีข้อตกลงพิเศษเป็นการเฉพาะในลักษณะที่จำเลยเป็นเพียงตัวแทนโจทก์ในการทำสัญญาเช่าและเป็นผู้นำค่าเช่ารถยนต์ไปชำระให้แก่ผู้ให้เช่าแทนโจทก์ จึงมิใช่ข้อตกลงหักค่าจ้างเพื่อชำระหนี้ที่เป็นสวัสดิการที่จำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือว่าโจทก์ยินยอมให้หักค่าเช่ารถยนต์ออกจากค่าจ้างของโจทก์ตามมาตรา 76 (3) และมาตรา 77 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จำเลยมีสิทธิหักค่าเช่ารถยนต์ออกจากค่าจ้างของโจทก์ได้ตามข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 304,235 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างถึงวันฟ้องเป็นเงิน 3,125.70 บาท และนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าจ้างค้างชำระ 174,682.15 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างถึงวันฟ้องเป็นเงิน 3,589.35 บาท และนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ เงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 15 ของค่าจ้างค้างชำระทุกระยะ 7 วัน นับแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2553 จนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าชดเชย 1,825,410 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างถึงวันฟ้องเป็นเงิน 37,508.40 บาท และนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ เงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 15 ของค่าชดเชยทุกระยะ 7 วัน นับแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2553 จนกว่าจะชำระเสร็จ และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 1,216,940 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างถึงวันฟ้องเป็นเงิน 25,005.60 บาท และนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 8 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยมีสิทธิหักค่าเช่ารถยนต์ออกจากค่าจ้างของโจทก์หรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 77 บัญญัติว่า ในกรณีที่นายจ้างต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างหรือมีข้อตกลงกับลูกจ้างเกี่ยวกับการจ่ายเงินตามมาตรา 54 มาตรา 55 หรือการหักเงินตามมาตรา 76 นายจ้างต้องจัดทำเป็นหนังสือและให้ลูกจ้างลงลายมือชื่อในการให้ความยินยอมหรือมีข้อตกลงกันไว้ให้ชัดเจนเป็นการเฉพาะ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยมิได้แสดงหลักฐานเป็นหนังสือว่าโจทก์ยินยอมให้หักค่าเช่ารถยนต์ออกจากค่าจ้างของโจทก์แต่อย่างใด จำเลยจึงไม่มีสิทธิหักค่าเช่ารถยนต์ออกจากค่าจ้างของโจทก์ เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานภาค 8 รับฟังตามที่จำเลยนำสืบโดยโจทก์ไม่ได้โต้แย้งเป็นอันยุติว่า โจทก์ตกลงให้จำเลยกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินเพื่อไปเช่ารถยนต์ให้แก่โจทก์แล้วให้หักค่าจ้างของโจทก์ชำระค่าเช่ารถยนต์ วันที่ 24 มีนาคม 2552 จำเลยจึงทำสัญญาเช่าแบบลีสซิ่งกับบริษัทโตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด โดยมีข้อตกลงว่าให้บริษัทโตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ซื้อรถยนต์ตามคำร้องขอของจำเลยเพื่อให้จำเลยเช่า มีกำหนด เวลาเช่า 36 เดือน ตามสัญญาเช่า และมีการนำค่าจ้างของโจทก์ชำระค่าเช่ารถยนต์ตามสัญญาเช่าดังกล่าวมาตลอดจนกระทั่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 โจทก์แจ้งว่าจะนำค่าเช่ารถยนต์ไปชำระให้แก่บริษัทโตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด เอง แต่โจทก์ไม่ชำระ บริษัทโตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ทวงถามมายังจำเลย จำเลยแจ้งให้โจทก์ทราบแล้วโจทก์ปฏิเสธว่าจะไม่ชำระค่าเช่ารถยนต์อีกต่อไป จากข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงว่าเป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์จะเช่ารถยนต์มาใช้เอง แต่ให้จำเลยไปดำเนินการทำสัญญาเช่าแทนโจทก์โดยโจทก์เป็นผู้ชำระค่าเช่ารถยนต์ มิใช่เป็นกรณีที่จำเลยในฐานะนายจ้างจัดสวัสดิการให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างแต่อย่างใด แต่เป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยมีข้อตกลงพิเศษเป็นการเฉพาะในลักษณะที่จำเลยเป็นเพียงตัวแทนโจทก์ในการทำสัญญาเช่าและเป็นผู้นำค่าเช่ารถยนต์ไปชำระให้แก่ผู้ให้เช่าแทนโจทก์โดยวิธีการนำค่าจ้างที่จำเลยจะต้องชำระให้แก่โจทก์ไปชำระเป็นค่าเช่ารถยนต์ให้แก่ผู้ให้เช่าแทน ซึ่งมีการปฏิบัติกันมาตั้งแต่วันทำสัญญาเช่าจนกระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ที่โจทก์ประสงค์จะไปชำระค่าเช่ารถยนต์เอง แต่โจทก์ไม่ชำระ ซึ่งข้อตกลงที่ให้จำเลยเป็นผู้นำค่าจ้างของโจทก์ไปชำระค่าเช่ารถยนต์แทนโจทก์นั้น มิใช่การหักค่าจ้างตามความในมาตรา 76 และข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยในเรื่องการเช่ารถยนต์ก็มิใช่การตกลงให้หักค่าจ้างเพื่อชำระหนี้ที่เป็นสวัสดิการตามความในมาตรา 76 (3) ดังที่ศาลแรงงานภาค 8 วินิจฉัย จึงไม่จำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือว่าโจทก์ยินยอมให้หักค่าเช่ารถยนต์ออกจากค่าจ้างของโจทก์ตามความในมาตรา 77 ดังนั้น จำเลยจึงมีสิทธิหักค่าเช่ารถยนต์ออกจากค่าจ้างของโจทก์ได้ตามข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลย ที่ศาลแรงงานภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น สำหรับอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน

Share