แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ภายหลังห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮ. โดยลูกหนี้ที่ 1 ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มของเดือนภาษีกันยายน 2540 และได้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มบางส่วน คงเหลือภาษีค้าง 26,000 บาท การคำนวณเงินเพิ่มตาม ป.รัษฎากร มาตรา 89/1 ประกอบมาตรา 27 นั้นให้เริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีหรือยื่นแบบนำส่งภาษีจนถึงวันชำระภาษีหรือนำส่งภาษี แต่เงินเพิ่มที่คำนวณได้มิให้เกินจำนวนภาษีที่ต้องชำระหรือนำส่ง ดังนั้น เมื่อต่อมา ห้างฯ ชำระหนี้ภาษีแก่เจ้าหนี้และหักกลบลบหนี้ รวม 4 ครั้ง เงินที่ชำระแต่ละครั้งต้องนำไปหักกับภาษีมูลค่าเพิ่มค้าง ส่วนการคำนวณเงินเพิ่ม ต้องคิดจากยอดหนี้ภาษีค้างแต่ละช่วงที่เหลืออยู่ภายหลังหักชำระหนี้แต่ละครั้งแล้ว มิใช่นำเงินทั้งสี่จำนวนมารวมกันแล้วนำไปหักออกจากยอดภาษีค้างแล้วจึงคิดเงินเพิ่มเพียงครั้งเดียว ดังเช่นที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเพราะเป็นการชำระหนี้คนละคราวต่างช่วงเวลากัน และลูกหนี้ที่ 1 ต้องรับผิดในส่วนของเงินเพิ่มไม่เกินจำนวนภาษีที่ต้องชำระหรือนำส่ง
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) ทั้งสองเด็ดขาด เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2548
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ภาษีอากร 58,086.56 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 รายละเอียดปรากฏตามบัญชีท้ายคำขอรับชำระหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 104 แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้ว ทำความเห็นว่าในส่วนมูลหนี้อันดับ 1 ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ในสำนวนคำขอรับชำระหนี้) ว่าเจ้าหนี้นำเงินที่ได้รับจากการอายัดเงินในบัญชีเงินฝากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2541 จำนวน 3,460.23 บาท และจากการอายัดเงินในบัญชีเงินฝากธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขาห้วยยอด เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2541 จำนวน 1,040.47 บาท และเงินจาก ภ.พ. 72 เลขที่ 101394 – 101396 ลงวันที่ 25 กันยายน 2541 จำนวน 10,303.74 บาท เข้าหักชำระหนี้และหักกลบลบหนี้ โดยนำเงินดังกล่าวมาเฉลี่ยตามสัดส่วนของจำนวนภาษีและเงินเพิ่ม ณ วันที่ได้รับชำระหนี้ดังกล่าว ตามนัยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 65/2539 ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2539 ทำให้คงมีหนี้ภาษีมูลค่าเพิ่มค้างชำระเพียง ณ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2541 จำนวน 11,261.50 บาท นั้น เห็นว่า ทั้งหนี้ภาษีมูลค่าเพิ่มและเงินเพิ่มต่างก็เป็นภาษีอากรค้างตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 วรรคหนึ่ง และมาตรา 89/2 เมื่อหนี้ภาษีอากรค้างดังกล่าวมีหลายจำนวนและกรณีมีข้อสงสัยว่าจะต้องนำเงินในบัญชีเงินฝากไปชำระหนี้ภาษีมูลค่าเพิ่มหรือเงินเพิ่ม กรณีจึงตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด เฮงเซ่งฮวดมอเตอร์ โดยลูกหนี้ที่ 1 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการ ผู้ซึ่งจะต้องเป็นผู้เสียในมูลหนี้นั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 11 ด้วยการนำเงินฝากดังกล่าวไปหักหนี้ภาษีมูลค่าเพิ่มก่อน (ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 3691/2545) ดังนั้น ลูกหนี้ที่ 1 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการห้างฯ จึงต้องรับผิดในหนี้ภาษีมูลค่าเพิ่มค้างชำระต่อเจ้าหนี้เป็นเงิน 24,000 บาท หักเงินที่ได้รับชำระจากการอายัดเงินในบัญชีเงินฝากธนาคารและเงินตาม ภ.พ. 72 รวมจำนวน 14,804.44 บาท คงเหลือภาษีมูลค่าเพิ่มค้าง 9,195.56 บาท พร้อมเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงิน 9,195.56 บาท (ภาษีที่ต้องชำระหรือนำส่ง) ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2548 (วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด) ทั้งนี้เงินเพิ่มต้องไม่เกิน 9,195.56 บาท (จำนวนภาษีที่ต้องชำระ) ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89/1 คำนวณเงินเพิ่มได้ 9,195.56 บาท รวมเป็นหนี้ภาษีมูลค่าเพิ่มค้างทั้งสิ้น 18,391.12 บาท รายละเอียดปรากฏตามรายงานการคำนวณดอกเบี้ยในสำนวนลงวันที่ 18 กันยายน 2552 และส่วนมูลหนี้อันดับที่ 2 ภาษีธุรกิจเฉพาะ น่าเชื่อว่าเจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ 22,921.80 บาท ตามที่เจ้าหนี้ขอมา จึงเห็นควรให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในมูลหนี้ภาษีอากรทั้งสิ้น 41,312.92 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 ในฐานะเจ้าหนี้ไม่มีประกัน พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 94 โดยให้ได้รับชำระหนี้โดยส่วนเฉลี่ยอย่างเจ้าหนี้สามัญตามมาตรา 130 (7) ส่วนที่ขอเกินมาให้ยกเสีย
ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ว่า คำสั่งของศาลล้มละลายกลางในส่วนการคำนวณเงินเพิ่มของภาษีมูลค่าเพิ่มชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ณ วันที่ 15 ตุลาคม 2540 ภายหลังห้างหุ้นส่วนจำกัด เฮงเซ่งฮวดมอเตอร์ โดยลูกหนี้ที่ 1 ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มของเดือนภาษีกันยายน 2540 และได้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มบางส่วน คงเหลือภาษีค้าง 26,000 บาท โดยลูกหนี้ที่ 1 ได้ยื่นแบบแสดงรายการประเมินตนเองตามใบแจ้งการค้างชำระภาษีอากร(บ.ช. 35) จำนวน 26,000 บาท ไว้ต่อเจ้าหนี้ โดยยังไม่ชำระภาษีค้างที่เหลือแต่อย่างใด การคำนวณเงินเพิ่มของภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89/1 ประกอบมาตรา 27 นั้นให้เริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีหรือยื่นแบบนำส่งภาษีจนถึงวันชำระภาษีหรือนำส่งภาษี แต่เงินเพิ่มที่คำนวณได้มิให้เกินจำนวนภาษีที่ต้องชำระหรือนำส่งดังนั้น เมื่อต่อมาห้างฯ โดยลูกหนี้ที่ 1 ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้และหักกลบลบหนี้กับเจ้าหนี้รวม 4 ครั้ง ได้แก่วันที่ 17 พฤศจิกายน 2540 จำนวน 2,030 บาท วันที่ 31มีนาคม 2541 จำนวน 3,460.23 บาท วันที่ 24 เมษายน 2541 จำนวน1,040.47 บาท และวันที่ 4 พฤศจิกายน 2541 จำนวน 10,303.74 บาท รวมเป็นเงินที่ชำระทั้งสิ้น 16,834.44 บาท เงินที่ชำระแต่ละครั้งต้องนำไปหักกับภาษีมูลค่าเพิ่มค้าง ส่วนการคำนวณเงินเพิ่มของภาษีมูลค่าเพิ่มค้างนั้นต้องคิดจากยอดหนี้ภาษีมูลค่าเพิ่มค้างแต่ละช่วงที่เหลืออยู่ภายหลังหักชำระหนี้แต่ละครั้งแล้ว กล่าวคือ ช่วงที่ 1 เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2540 จนถึงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2540 คือ26,000 x 1.5 % x 2 = 780 บาท ช่วงที่ 2 เริ่มนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2540 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2541 คือ 23,970 (มาจาก 26,000 – 2,030) x 1.5 % x 4 = 1,438.20 บาท ช่วงที่ 3 เริ่มนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2541 จนถึงวันที่ 24 เมษายน 2541 คือ 20,509.77 (มาจาก 23,970 – 3,460.23) x 1.5 % x 1 = 307.65 บาท ช่วงที่ 4 เริ่มนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2541 จนถึงตุลาคม 2541 คือ 19,469.30 (มาจาก 20,509.77 – 1,040.47) x 1.5 % x 6 = 1,752.24 บาท ช่วงที่ 5 เริ่มนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2541 จนถึงวันที่ลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด (31 สิงหาคม 2548) คือ 9,165.56 (มาจาก 19,469.30 – 10,303.74) x 1.5 % x 82 = 11,273.64 บาท มิใช่เป็นการนำเงินทั้งสี่จำนวนมารวมกันแล้วนำไปหักออกจากภาษีมูลค่าเพิ่มค้าง แล้วจึงคิดเงินเพิ่มครั้งเดียวดังเช่นที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเพราะเป็นการชำระหนี้คนละคราวกันต่างช่วงเวลากัน จากการคำนวณดังกล่าวจนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาด ลูกหนี้ที่ 1 ต้องรับผิดในส่วนเงินเพิ่มแก่เจ้าหนี้ 15,551.73 บาท ซึ่งไม่เกินจำนวนภาษีที่ต้องชำระหรือนำส่ง (26,000 บาท) ลูกหนี้ที่ 1 จึงต้องชำระในส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มและเงินเพิ่มให้แก่เจ้าหนี้ทั้งสิ้น 24,717.29 บาท ไม่ใช่ 18,391.12 บาท ตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลาง อุทธรณ์ของเจ้าหนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้เพิ่มอีกในส่วนมูลหนี้ภาษีมูลค่าเพิ่มค้างจำนวน 6,326.17 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 ในฐานะเจ้าหนี้ไม่มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 94 โดยให้ได้รับชำระหนี้โดยส่วนเฉลี่ยอย่างเจ้าหนี้สามัญตามมาตรา 130 (7) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ