คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10943/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จำเลยที่ 2 จะแปรรูปเป็นบริษัทไปแล้วแต่มาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 และหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติก็ยังกำหนดให้จำเลยที่ 2 เป็นรัฐวิสาหกิจอยู่เช่นเดิม เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การยืนยันมาตั้งแต่แรกว่าเป็นรัฐวิสาหกิจ ดังนั้น ก็ยังถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นหน่วยงานของรัฐตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 4 เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจึงเป็นพนักงานของจำเลยที่ 2 โจทก์ทั้งสองฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดไม่ได้ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง
ในการทำสัญญาเช่า การที่จำเลยร่วมผู้ให้เช่าตกลงกับจำเลยที่ 2 ผู้เช่าว่าจำเลยร่วมตกลงยอมรับผิดต่อผู้โดยสารในรถยนต์ที่นำมาให้เช่าและบุคคลภายนอกในความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ลูกจ้างจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดขับรถยนต์ที่เช่าไปก่อความเสียหายขึ้น เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 ไม่ถือว่าเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมไม่มีผลบังคับตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 และไม่ใช่ความตกลงที่ทำไว้ล่วงหน้าเป็นข้อความยกเว้นมิให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดเพื่อกลฉ้อฉลหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตนในอันจะถือว่าเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 373 เนื่องจากจำเลยที่ 2 ก็ยังต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองในเหตุละเมิดที่จำเลยที่ 1 กระทำขึ้นในครั้งนี้ เมื่อเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก การที่จำเลยที่ 1 ลูกจ้างจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดในทางการที่ว่าจ้างโดยขับรถยนต์กระบะที่เช่าไปก่อความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 2 ในฐานะคู่สัญญาจึงมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยร่วมชดใช้ค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองได้ กรณีไม่ใช่เป็นสัญญาเฉพาะตัวโดยตรง ดังนั้น แม้จำเลยร่วมไม่ใช่ลูกจ้างจำเลยที่ 2 ในอันที่จะใช้สิทธิไล่เบี้ย แต่ก็ถือว่าจำเลยที่ 2 อาจฟ้องจำเลยร่วมเพื่อใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงเข้ากรณี ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) ก ที่จำเลยที่ 2 มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ 2 ได้
ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าเสียหาย หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระให้จำเลยร่วมและจำเลยที่ 3 ชำระแทนเป็นการไม่ชอบเนื่องจากกรณีไม่ใช่ผู้ค้ำประกัน

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวน ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยให้เรียกโจทก์สำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 เรียกโจทก์ในสำนวนหลังว่า โจทก์ที่ 2 เรียกจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ทั้งสองสำนวนว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เช่นเดิม
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,000,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และจำนวน 4,000,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกบริษัทไทย วี.พี. คอร์ปอเรชั่น จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การทั้งสองสำนวนขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 1,790,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 22 ธันวาคม 2548) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระให้จำเลยร่วมชำระเงินจำนวน 1,790,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยร่วมชำระเงินจำนวน 65,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 65,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 500,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้นดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 22 ธันวาคม 2548) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระให้จำเลยร่วมชำระเงินจำนวน 500,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้นดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยร่วมชำระเงินจำนวน 17,351 บาท แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 17,351 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 และจำเลยร่วมร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ทั้งสองสำนวนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์แต่ละคนชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ สำนวนแรก 25,000 บาท ค่าทนายความสำนวนหลัง 10,000 บาท ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ทั้งสองสำนวน ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 1 ทั้งสองสำนวนให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 1,140,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว ยกคำร้องของจำเลยที่ 2 ที่ขอให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นจำเลยและยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะส่วนที่ให้บังคับแก่จำเลยร่วม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดแก่จำเลยร่วมและให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ที่ 1 และที่ 2 คนละ 5,000 บาท
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังว่า จำเลยที่ 1 ลูกจ้างจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดในทางการที่จ้างโดยประมาทเลินเล่อ ด้วยการที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน ณม 1879 กรุงเทพมหานคร ที่จำเลยที่ 2 เช่ามาจากจำเลยร่วมเจ้าของซึ่งเอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 3 โดยปราศจากความระมัดระวังกล่าวคือ ขณะที่โจทก์ที่ 2 ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน กก 5717 ฉะเชิงเทรา โดยมีพระครูสิทธิสุตาภรณ์ บุตรโจทก์ที่ 1 นั่งโดยสารมาด้วยมาตามถนนสุวินทวงศ์มุ่งหน้าไปทางจังหวัดฉะเชิงเทราในช่องเดินรถที่ 2 ติดกับเกาะกลางถนนเมื่อมาถึงที่เกิดเหตุหน้าร้านอาหาร เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร ขณะนั้นจำเลยที่ 1 ขับรถในช่องเดินรถฝั่งตรงข้ามมาเลี้ยวกลับรถที่ช่องกลับรถตรงเกาะกลางถนน โดยจำเลยที่ 1 ไม่หยุดรถรอให้โจทก์ที่ 2 ขับรถผ่านพ้นไปก่อน แต่จำเลยที่ 1 กลับขับรถล้ำเข้าไปในช่องเดินรถของโจทก์ที่ 2 ตัดหน้ารถโจทก์ที่ 2 ที่ขับมาในระยะกระชั้นชิดเป็นเหตุให้รถโจทก์ที่ 2 เฉี่ยวชนกับรถจำเลยที่ 1 แล้วรถโจทก์ที่ 2 เสียหลักหมุนไปชนกับเสาไฟฟ้าบนเกาะกลางถนน ทำให้โจทก์ที่ 2 ได้รับอันตรายสาหัสม้ามแตกส่วนบุตรโจทก์ที่ 1 ถึงแก่ความตายเป็นผลให้โจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายต้องเสียค่าใช้จ่ายในการปลงศพและโจทก์ที่ 1 ต้องขาดไร้อุปการะเป็นเงิน 1,140,000 บาท และโจทก์ที่ 2 ได้รับความเสียหายต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล 500,000 บาท พนักงานสอบสวนมีความเห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายประมาทจึงส่งเรื่องให้พนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาในความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และได้รับอันตรายสาหัส จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ซึ่งศาลฎีกามีคำพิพากษายืนว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดและลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1341/2549 ของศาลจังหวัดมีนบุรี ในส่วนคดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระให้จำเลยร่วมชำระแทน ส่วนจำเลยที่ 1 ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง แต่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งกลับคำสั่งศาลชั้นต้นโดยให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 2 ที่ขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ 2 เป็นผลให้จำเลยร่วมไม่ต้องรับผิดในความเสียหายที่จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง
มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาอ้างว่า จำเลยที่ 1 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ทั้งสองเนื่องจากแม้จำเลยที่ 1 ลูกจ้างจะเป็นพนักงานของจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 2 ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐในอันที่จะต้องอยู่ภายใต้บังคับตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 ที่โจทก์ทั้งสองจะฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดไม่ได้โดยเหตุที่จำเลยที่ 2 แปรรูปเป็นบริษัทไปแล้วตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 จึงไม่เป็นรัฐวิสาหกิจอันเป็นหน่วยงานของรัฐอีกต่อไป ดังนั้นโจทก์ทั้งสองจึงฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดได้ จำเลยที่ 1 ผู้กระทำละเมิดในทางการที่จ้างจึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 นายจ้างรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง เห็นว่า แม้จำเลยที่ 2 จะแปรรูปเป็นบริษัทไปแล้วแต่ตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 และหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติก็ยังกำหนดให้จำเลยที่ 2 เป็นรัฐวิสาหกิจอยู่เช่นเดิม เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การยืนยันมาตั้งแต่แรกว่าจำเลยที่ 2 เป็นรัฐวิสาหกิจ ดังนั้น ก็ยังถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 4 เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจึงเป็นพนักงานของจำเลยที่ 2 โจทก์ทั้งสองจึงฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดไม่ได้ ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง ฎีกาจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งกลับคำสั่งศาลชั้นต้นโดยให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 2 ที่ขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกให้จำเลยร่วมเข้ามาเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ 2 เป็นผลให้จำเลยร่วมไม่ต้องรับผิดในความเสียหายที่จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองเป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ในการทำสัญญาเช่า การที่จำเลยร่วมผู้ให้เช่าตกลงกับจำเลยที่ 2 ผู้เช่าว่า จำเลยร่วมตกลงยอมรับผิดต่อผู้โดยสารในรถยนต์ที่นำมาให้เช่าและบุคคลภายนอกในความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ลูกจ้างจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดขับรถยนต์ที่เช่าไปก่อความเสียหายขึ้น เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 กรณีจะมาถือว่า ในการทำสัญญาเช่าจำเลยร่วมไม่สามารถที่จะปฏิเสธได้จึงต้องตกลงกับจำเลยที่ 2 ไปเช่นนั้น มิฉะนั้นจะถือว่าจำเลยร่วมผิดข้อตกลงในการประกวดราคาจะต้องถูกริบหลักประกันทันทีจึงถือว่าเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม จึงไม่มีผลบังคับตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 อย่างที่จำเลยร่วมนำสืบนั้นไม่ได้ จึงไม่ถือว่าเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและกรณีก็ไม่ใช่ความตกลงที่ทำไว้ล่วงหน้า เป็นข้อความยกเว้นมิให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดเพื่อกลฉ้อฉลหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตนในอันจะถือว่าเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 373 อย่างที่จำเลยร่วมยื่นคำให้การเนื่องจากจำเลยที่ 2 ก็ยังต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองในเหตุละเมิดที่จำเลยที่ 1 กระทำขึ้นในครั้งนี้ เมื่อเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก การที่จำเลยที่ 1 ลูกจ้างจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดในทางการที่ว่าจ้างโดยขับรถยนต์กระบะที่เช่าไปก่อความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองตามที่กล่าวมาแล้ว จำเลยที่ 2 ในฐานะคู่สัญญา จึงมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยร่วมชดใช้ค่าเสียหายในความเสียหายที่จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองได้ กรณีไม่ใช่เป็นสัญญาเฉพาะตัวโดยตรง ดังนั้นแม้จำเลยร่วมไม่ใช่ลูกจ้างจำเลยที่ 2 ในอันที่จะใช้สิทธิไล่เบี้ยอย่างที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย แต่ก็ถือว่าจำเลยที่ 2 อาจฟ้องจำเลยร่วมเพื่อใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงเข้ากรณีประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) ก ที่จำเลยที่ 2 มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ 2 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งกลับคำสั่งศาลชั้นต้นโดยให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการไม่ชอบ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยร่วมจึงต้องรับผิดในความเสียหายที่จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่ แม้ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยไว้ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาใหม่ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยร่วมมีความผูกพันต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองตามสัญญาเช่าดังกล่าว จำเลยร่วมจึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 รับผิดในความเสียหายที่จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองด้วย
มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ที่ 2 มีส่วนประมาทในการก่อเหตุละเมิดครั้งนี้หรือไม่ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาอ้างว่า โจทก์ที่ 2 มีส่วนประมาทเนื่องจากโจทก์ที่ 2 ขับรถด้วยความเร็วสูงเข้าไปชนรถที่จำเลยที่ 1 ขับในขณะจอดรออยู่ในช่องกลับรถเพื่อเลี้ยวกลับรถ เห็นว่า ถ้าเป็นอย่างที่จำเลยที่ 2 ฎีกา กรณีไม่ถือเพียงว่าโจทก์ที่ 2 มีส่วนประมาทเท่านั้น แต่กรณีเป็นถึงขนาดโจทก์ที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 2 โดยประมาทเลินเล่อ โดยจำเลยที่ 1 ไม่มีส่วนประมาทด้วยเลย ถ้าเป็นเช่นนี้โจทก์ที่ 2 ก็น่าจะถูกฟ้องเป็นคดีอาญาไม่ใช่จำเลยที่ 1 มาถูกฟ้องเป็นคดีอาญาเสียเองดังกล่าว เมื่อในคดีอาญาที่จำเลยที่ 1 ถูกฟ้อง จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพโดยไม่ปฏิเสธสู้คดีเช่นนั้นไว้เลย ดังนั้น ฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น รับฟังได้ว่าโจทก์ที่ 2 ไม่มีส่วนประมาท ดังนั้น จำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมจึงต้องร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองในจำนวนตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าเสียหาย หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระให้จำเลยร่วมและจำเลยที่ 3 ชำระแทนเป็นการไม่ชอบ เนื่องจากกรณีนี้ไม่ใช่ผู้ค้ำประกันจึงเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนที่ยกคำร้องของจำเลยที่ 2 ที่ขอให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นจำเลยและให้บังคับตามคำสั่งศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมร่วมกันชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 1,140,000 บาท โดยให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในวงเงิน 65,000 บาท กับให้จำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมร่วมกันชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 500,000 บาท โดยให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในวงเงิน 17,351 บาท ไม่คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดแก่จำเลยร่วมและให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share