คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10156/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ผู้จัดการทั่วไปของจำเลยที่ 1 เบิกความว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีสาขาในประเทศราชอาณาจักรสวีเดน ขั้นตอนในการดำเนินการขนส่งจะต้องอาศัย Agent หรือผู้รับขนส่งที่ประเทศต้นทาง ตามใบวางบิลของจำเลยที่ 2 มีการหักส่วนของกำไรที่เป็นของจำเลยที่ 1 ออกด้วย จำเลยที่ 1 มีกำไรจากค่าขนส่งส่วนหนึ่ง ค่าธรรมเนียมใบสั่งปล่อยสินค้า และค่าเงินที่ผันผวน เมื่อตรวจดูการโต้ตอบทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างพนักงานฝ่ายขายของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีหน้าที่ขายระวางกับเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 แล้ว เห็นได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ผลประโยชน์ในส่วนที่เป็นค่าระวาง (Air Freight) ด้วย เมื่อ ม. ติดต่อว่าจ้างจำเลยที่ 1 เพื่อการขนส่งสินค้าพิพาทตามภาระที่เกิดจากเงื่อนไขการส่งมอบแบบ FCA และต่อมาเมื่อการขนส่งเสร็จสิ้นจำเลยที่ 1 ได้รับค่าตอบแทนส่วนหนึ่งจากค่าระวางทั้งหมดที่เกิดขึ้นดังกล่าวจาก ม. แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้เป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาทเอง กรณีก็ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นคู่สัญญาขนส่งกับ ม. ผู้ส่งที่แท้จริงตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 608 และ 610 แล้ว หากสินค้าพิพาทเสียหายในระหว่างการขนส่ง จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามมาตรา 616 และเมื่อจำเลยที่ 1 มอบหมายให้จำเลยที่ 2 ขนส่งสินค้าพิพาท จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้ขนส่งอื่นที่ต้องรับผิดด้วยหากว่าสินค้าพิพาทเสียหายในระหว่างการขนส่ง ทั้งนี้ ตามมาตรา 617 และ 618
จำเลยที่ 2 ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ให้ขนส่งสินค้าพิพาทแต่จำเลยที่ 2 มอบหมายต่อไปให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาทมายังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำเลยที่ 3 จึงอยู่ในฐานะเป็นผู้ขนส่งอื่นในการขนส่งที่มีผู้ขนส่งหลายคนหลายทอดตามความหมายในมาตรา 617 และ 618 แม้ใบรับขนของทางอากาศจะไม่มีชื่อของ ม. ปรากฏอยู่ แต่ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาทที่แท้จริง และถ้าข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าสินค้าเสียหายในระหว่างการขนส่งโดยจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ย่อมมีความรับผิดต่อ ม. ผู้ซื้อในเงื่อนไขส่งมอบแบบ FCA นอกจากนั้นตามใบรับขนของทางอากาศของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนของ แม้จะระบุว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ส่งและจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับตราส่ง แต่ก็ระบุในช่อง Nature and Quantity of Goods ว่า CONSOLIDATED CARGO AS PER ATTACHED MANIFEST โดยมี Cargo Manifest แนบอยู่ในช่อง House Airway Bill/Consignee ระบุชื่อ ม. เป็นผู้รับตราส่งไว้ด้วย เช่นนี้ จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ประกอบกิจการขนส่งย่อมรู้และเข้าใจอยู่แล้วว่าผู้รับสินค้าพิพาทที่ปลายทางที่แท้จริงคือ ม. ผู้รับตราส่งที่แท้จริงตามมาตรา 627 เมื่อโจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยแล้วย่อมรับช่วงสิทธิมาฟ้องจำเลยที่ 3 ได้
ตามใบรับขนของทางอากาศที่จำเลยที่ 3 ออกด้านหน้ามีช่องระบุข้อความให้ผู้ส่งทราบว่า ผู้ส่งสามารถกำหนดเพิ่มจำนวนจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งได้มากกว่าที่ผู้ขนส่งจำกัดความรับผิดไว้ ด้วยการชำระค่าระวางขนส่งเพิ่มเติมแก่ผู้ขนส่ง และที่ด้านหลังมีข้อความพิมพ์ไว้ ซึ่งมี Notice Concerning Carrier’s Limitation of Liability กำหนดจำนวนจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 3 ไว้ที่ 19 SDR ต่อน้ำหนักสินค้าที่เสียหายหรือสูญหาย 1 กิโลกรัม เมื่อด้านหน้าของใบรับขนของทางอากาศไม่ปรากฏว่ามีการระบุมูลค่าของสินค้าพิพาทไว้ในช่อง Value for Carriage ดังนี้ จำเลยที่ 3 ย่อมจำกัดความรับผิดไว้ได้ตามที่ปรากฏหลังใบรับขนของทางอากาศ
เมื่อความเสียหายเกิดขึ้นในระหว่างการดูแลของจำเลยทั้งสาม และโจทก์จ่ายเงินชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปได้โดยไม่จำต้องบอกกล่าวก่อน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 4,752,389.68 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 4,645,480 บาท แก่โจทก์นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 3 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 4,645,480 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2554 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ดอกเบี้ยนับแต่วันดังกล่าวจนถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 1 พฤศจิกายน 2554) ต้องไม่เกิน 106,909.68 บาท กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความจำนวน 40,000 บาท
จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อแรกตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งหรือไม่ ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 เป็นเพียงตัวแทนของบริษัทเมดิทอป จำกัด ในการจัดการขนส่งสินค้าพิพาท จำเลยที่ 1 ไม่ได้รับค่าระวางขนส่ง ค่าระวางขนส่งที่เรียกเก็บจากบริษัทเมดิทอป จำกัด ได้นำส่งแก่จำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 1 ได้รับเพียงค่าออกใบสั่งปล่อยสินค้าจากการบริการครั้งนี้เพียง 883 บาท นั้น เห็นว่า นายชัยฤกษ์ ผู้จัดการทั่วไปของจำเลยที่ 1 เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า นางอริศราไม่ทราบชื่อสกุลเป็นพนักงานฝ่ายขายอาวุโสของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ขายระวางแก่ลูกค้า ระวางที่ว่าเป็นระวางเรือและระวางเครื่องบิน จำเลยที่ 1 ไม่มีสาขาในประเทศราชอาณาจักรสวีเดน ขั้นตอนในการดำเนินการขนส่งจะต้องอาศัย Agent หรือผู้รับขนส่งที่ประเทศต้นทาง ตามใบวางบิลของจำเลยที่ 2 มีการหักส่วนของกำไรที่เป็นของจำเลยที่ 1 ออกด้วย จำเลยที่ 1 มีกำไรจากค่าขนส่งส่วนหนึ่ง ค่าธรรมเนียมใบสั่งปล่อยสินค้า และค่าเงินที่ผันผวน เมื่อตรวจดูการโต้ตอบทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างนางอริศรากับผู้ที่ใช้ชื่อว่า Tony Sjoberg เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 แล้ว เห็นได้ว่านอกจากเป็นการติดต่อประสานงานเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าพิพาทแล้ว ยังมีการกล่าวถึงอัตราค่าระวางขนส่งสินค้าพิพาทเที่ยวนี้ด้วย โดยในไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ นาย Tony แจ้งอัตราค่าระวางของจำเลยที่ 2 ว่า สินค้าน้ำหนัก 100 กิโลกรัม ขึ้นไป ราคากิโลกรัมละ 6 โดรนาสวีเดน แล้วนางอริศราตอบไปตามเอกสารแผ่นแรกว่า อัตราค่าระวางของจำเลยที่ 1 คือ 100 กิโลกรัม ขึ้นไป คิดราคากิโลกรัมละ 9 โดรนาสวีเดน และเมื่อเปรียบเทียบกับใบวางบิลของจำเลยที่ 2 ที่มีถึงจำเลยที่ 1 ในรายการ Profit Split ซึ่งหมายถึงการแบ่งผลประโยชน์แล้ว เห็นได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ผลประโยชน์ในส่วนที่เป็นค่าระวาง (Air Freight) ด้วยในอัตรากิโลกรัมละ 1 โดรนาสวีเดน เป็นเงิน 151 โดรนาสวีเดน เมื่อบริษัทเมดิทอป จำกัด ติดต่อว่าจ้างจำเลยที่ 1 เพื่อการขนส่งสินค้าพิพาทตามภาระที่เกิดจากเงื่อนไขการส่งมอบแบบ FCA และต่อมาเมื่อการขนส่งเสร็จสิ้นจำเลยที่ 1 ได้รับค่าตอบแทนส่วนหนึ่งจากค่าระวางทั้งหมดที่เกิดขึ้นดังกล่าวจากบริษัทเมดิทอป จำกัด แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้เป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาทเอง กรณีก็ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาขนส่งกับบริษัทเมดิทอป จำกัด ผู้ส่งที่แท้จริงตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 608 และ 610 แล้ว หากสินค้าพิพาทเสียหายในระหว่างการขนส่ง จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามมาตรา 616 และเมื่อจำเลยที่ 1 มอบหมายให้จำเลยที่ 2 ขนส่งสินค้าพิพาท จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้ขนส่งคนอื่นที่ต้องรับผิดด้วยหากว่าสินค้าพิพาทเสียหายในระหว่างการขนส่ง ทั้งนี้ ตามมาตรา 617 และ 618 อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ว่า โจทก์รับช่วงสิทธิจากบริษัทเมดิทอป จำกัด มาฟ้องจำเลยที่ 3 ได้หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 2 ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ให้ขนส่งสินค้าพิพาทแต่จำเลยที่ 2 ได้มอบหมายต่อไปให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาทมายังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำเลยที่ 3 จึงอยู่ในฐานะเป็นผู้ขนส่งคนอื่นในการขนส่งที่มีผู้ขนส่งหลายคนหลายทอดตามความหมายในมาตรา 617 และ 618 แม้ใบรับขนของทางอากาศ จะไม่มีชื่อของบริษัทเมดิทอป จำกัด ปรากฏอยู่เลยก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาทที่แท้จริง และถ้าข้อเท็จจริงฟังได้ว่า สินค้าเสียหายในระหว่างการขนส่งโดยจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ย่อมมีความรับผิดต่อบริษัทเมดิทอป จำกัด ผู้ซื้อในเงื่อนไขส่งมอบแบบ FCA ที่บริษัทเซลลา วิชั่น เอบี ได้ส่งมอบสินค้าพิพาทที่ต้นทางแล้วและการเสี่ยงภัยในการที่สินค้าพิพาทจะเสียหายระหว่างการขนส่งจะตกเป็นพับแก่บริษัทเมดิทอป จำกัด ได้โอนมายังบริษัทเมดิทอป จำกัด แล้ว นอกจากนั้นตามใบรับขนของทางอากาศของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนของ แม้จะระบุว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ส่งและจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับตราส่ง แต่ก็ระบุในช่อง Nature and Quantity of Goods ว่า CONSOLIDATED CARGO AS PER ATTACHED MANIFEST โดยในเอกสารมี Cargo Manifest แนบอยู่ในช่อง House Airway Bill/Consignee ระบุชื่อบริษัทเมดิทอป จำกัด เป็นผู้รับตราส่งไว้ด้วย เช่นนี้ จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ประกอบกิจการขนส่งย่อมรู้และเข้าใจอยู่แล้วว่าผู้รับสินค้าพิพาทที่ปลายทางที่แท้จริงคือบริษัทเมดิทอป จำกัด ไม่ใช่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการขนส่งเช่นเดียวกันและกำลังดำเนินการเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าพิพาทเพื่อบริษัทเมดิทอป จำกัด ตามวิธีการในการประกอบกิจการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ เมื่อสินค้าถึงปลายทางตามที่กำหนดและบริษัทเมดิทอป จำกัด เรียกให้ส่งมอบสินค้าพิพาทแล้ว แต่นั้นไปสิทธิทั้งหลายของผู้ส่งอันเกิดแต่สัญญารับขนนั้นย่อมตกไปได้แก่บริษัทเมดิทอป จำกัด ผู้รับตราส่งที่แท้จริงตามมาตรา 627 เมื่อโจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยแล้วย่อมได้รับช่วงสิทธิมาฟ้องจำเลยที่ 3 ได้ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่มีหลักฐานว่าบริษัทเมดิทอป จำกัด ได้จ่ายค่าสินค้าแก่ผู้ขายแล้วนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 3 มิได้ยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การ ทั้งเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 มีว่า จำเลยที่ 3 สามารถจำกัดความรับผิดได้ที่ 19 SDR หรือ 29 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อน้ำหนักสินค้าพิพาท 1 กิโลกรัม ได้หรือไม่ เห็นว่า ตามใบรับขนของทางอากาศ ที่จำเลยที่ 3 ออกนั้น ที่ด้านหน้ามีช่องระบุข้อความให้ผู้ส่งทราบว่า ผู้ส่งสามารถกำหนดเพิ่มจำนวนจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งได้มากกว่าที่ผู้ขนส่งจำกัดความรับผิดไว้ ด้วยการชำระค่าระวางขนส่งเพิ่มเติมแก่ผู้ขนส่ง และที่ด้านหลังมีข้อความพิมพ์ไว้ ซึ่งมี Notice Concerning Carrier’s Limitation of Liability กำหนดจำนวนจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 3 ไว้ที่ 19 SDR ต่อน้ำหนักสินค้าที่เสียหายหรือสูญหาย 1 กิโลกรัม เมื่อที่ด้านหน้าของใบรับขนของทางอากาศไม่ปรากฏว่ามีการระบุมูลค่าของสินค้าพิพาทไว้ในช่อง Value for Carriage ดังนี้ จำเลยที่ 3 ย่อมสามารถจำกัดความรับผิดได้เพียง 19 SDR ต่อน้ำหนักพิพาท 1 กิโลกรัม ตามที่ปรากฏหลังใบรับขนของทางอากาศ เมื่อสินค้าที่ขนส่งมีน้ำหนัก 139 กิโลกรัม ได้รับความเสียหายทั้งหมด จำเลยที่ 3 จึงจำกัดความรับผิดไว้ไม่เกิน 2,641 SDR อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 3 ฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อสุดท้ายตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 มีว่า โจทก์เรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 3 ได้หรือไม่ ที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่เคยทวงถาม จำเลยที่ 3 จึงไม่ได้ผิดนัดนั้น โจทก์ฟ้องและนำสืบว่า ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยแก่บริษัทเมดิทอป จำกัด เป็นเงิน 4,645,480 บาท ด้วยเช็คลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2554 เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2554 ตามใบสำคัญจ่ายและเรียกดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2554 เป็นต้นไป แต่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ลงในเช็ค เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าความเสียหายเกิดขึ้นในระหว่างการดูแลของจำเลยทั้งสาม และโจทก์จ่ายเงินชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปได้โดยไม่จำต้องบอกกล่าวก่อน ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2554 ชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในต้นเงินไม่เกิน 2,641 SDR การคิดอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย ในวันที่ 14 กรกฎาคม 2554 ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 20,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share