คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12346/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 1474 (2) บัญญัติว่า สินสมรสได้แก่ ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือ เมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส จึงเป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดชัดเจนแล้วว่า หากผู้ให้ทรัพย์สินแก่สามีหรือภริยาคนใดคนหนึ่งในระหว่างสมรสประสงค์จะยกให้เป็นสินสมรส ผู้ยกให้ต้องระบุไว้ในหนังสือยกให้ให้ชัดเจน และกฎหมายมิได้จำกัดว่าต้องเป็นการยกให้โดยเสน่หาเท่านั้น ที่ ป.พ.พ. มาตรา 1471 (3) บัญญัติว่า สินส่วนตัวได้แก่ ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาในระหว่างสมรสโดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หานั้น เป็นการขยายความว่า เมื่อเป็นการให้ไม่ว่าจะเป็นการให้โดยเสน่หาหรือไม่ ผู้ให้ต้องระบุให้ชัดแจ้งว่าประสงค์จะให้เป็นสินสมรส ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า น. บิดาของจำเลยที่ 1 ทำหนังสือยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยเสน่หา โดยไม่ได้ระบุว่าเป็นสินสมรสก็ต้องถือเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 แม้จะมีข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบว่า น. ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยมีเงื่อนไขและค่าตอบแทนเนื่องจากโจทก์และจำเลยที่ 1 นำเงินไปชำระหนี้เพื่อไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทตามคำขอร้องของ น. ก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงผลตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ชัดแจ้งแล้วได้ ส่วนที่ดินที่แบ่งแยกจากที่ดินพิพาทหลังจากได้รับการยกให้มาแล้วก็ย่อมเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 เช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือสัญญาให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 157 และ 26430 ตำบลเดื่อศรีคันไชย อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2554 ให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงคืนโจทก์ หากจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์มีว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 157 และ 26430 ตำบลเดื่อศรีคันไชย อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 (2) บัญญัติว่า สินสมรสได้แก่ ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาในระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือ เมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส จึงเป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดชัดเจนแล้วว่า หากผู้ให้ทรัพย์สินแก่สามีหรือภริยาคนใดคนหนึ่งในระหว่างสมรส ประสงค์จะยกให้เป็นสินสมรส ผู้ยกให้ต้องระบุไว้ในหนังสือยกให้ให้ชัดเจน และกฎหมายมิได้จำกัดว่า ต้องเป็นการยกให้โดยเสน่หา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471 (3) ที่บัญญัติว่า “สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาในระหว่างสมรสโดยการยกให้โดยเสน่หา” นั้น เป็นการขยายความว่า เมื่อเป็นการยกให้ไม่ว่าจะเป็นการยกให้โดยเสน่หาหรือไม่ ผู้ให้ต้องระบุให้ชัดแจ้งว่า ประสงค์จะให้เป็นสินสมรส ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 157 ดังกล่าว เป็นที่ดินที่นายนิยมซึ่งเป็นบิดาของจำเลยที่ 1 ทำหนังสือยกให้แก่จำเลยที่ 1 โดยเสน่หา ตามหนังสือสัญญาการให้ที่ดิน เมื่อหนังสือสัญญายกให้ระบุว่าเป็นการยกให้โดยเสน่หาโดยไม่ได้ระบุว่าเป็นสินสมรส ก็ต้องถือเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 แม้จะมีข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบว่า นายนิยมยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นการยกให้โดยมีเงื่อนไขและมีค่าตอบแทน เนื่องจากโจทก์และจำเลยที่ 1 ร่วมกันนำเงินไปชำระหนี้เพื่อไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทตามคำขอร้องของนายนิยม ก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงผลตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ชัดแจ้งแล้วได้ ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 26430 เป็นที่ดินที่จำเลยที่ 1 ทำการแบ่งแยกจากที่ดินโฉนดเลขที่ดิน 157 หลังจากได้รับการยกให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 157 มาแล้ว ที่ดินโฉนดเลขที่ 26430 ย่อมเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 เช่นกัน เมื่อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมิใช่สินสมรส โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนการทำนิติกรรมตามฟ้องได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share