แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องในความผิดฐานตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับใบอนุญาตแต่เพียงว่า จำเลยตั้งสถานบริการประเภทที่มีอาหาร สุรา น้ำชาหรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่าย โดยจัดให้มีการแสดงดนตรีและการแสดงอย่างอื่นเพื่อการบันเทิงบริการแก่ลูกค้า ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการค้าของจำเลยโดยไม่ได้รับใบอนุญาต โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้นักร้อง นักแสดงหรือพนักงานอื่นใดนั่งกับลูกค้าหรือซึ่งปิดทำการหลังเวลา 24.00 นาฬิกา ด้วยแต่อย่างใด ฟ้องโจทก์ข้อหานี้จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2509 มาตรา 3 และมาตรา 4 ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
โจทก์บรรยายฟ้องในความผิดฐานค้ามนุษย์ว่า จำเลยกระทำการค้ามนุษย์เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น เป็นธุระจัดหา ล่อไป โดยการพูดยุยงส่งเสริม โดยใช้อุบายหลอกลวง ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรมหรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใดด้วยการให้ผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กอายุเกินสิบห้าปีแต่ไม่เกินสิบแปดปีให้ค้าประเวณี ทั้งนี้ เพื่อการอนาจารและสนองความใคร่ของผู้อื่นเพื่อสินจ้างหรือประโยชน์อื่นใด แม้ผู้เสียหายจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม และเป็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้าเด็กอายุเกินกว่าสิบห้าปีแต่ไม่เกินสิบแปดปีโดยบังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ยุยง ส่งเสริม หรือยินยอมให้ผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กกระทำการค้าประเวณี ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าตอบแทนหรือเพื่อการใด เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ไม่ว่าเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม เป็นการบรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (1) แต่โจทก์ฎีกาว่า พฤติการณ์ของจำเลยเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ รับผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กไว้ให้มานั่งดริ้ง และเมื่อเด็กจะออกไปค้าประเวณีต้องจ่ายค่าปรับค่าร้านให้แก่จำเลย 300 บาท มิฉะนั้นเด็กไม่มีโอกาสที่จะออกจากร้านจำเลยไปได้นั้น เป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ด้วยการรับไว้ซึ่งเด็กเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (2) ซึ่งเป็นการกระทำที่โจทก์ไม่ได้บรรยายไว้ในฟ้อง อีกทั้งฟ้องตามที่บรรยายมาก็ไม่อาจแปลความหรือทำให้เข้าใจได้ว่าจำเลยรับไว้ซึ่งเด็กเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ข้อที่โจทก์ฎีกามาจึงเป็นการนอกเหนือไปจากที่โจทก์ฟ้อง ศาลจะลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (2) ไม่ได้ ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 มาตรา 3, 4, 26 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 4, 6, 52 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 26 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (1), 52 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 3 เดือน ฐานค้ามนุษย์ จำคุก 6 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามฐานตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับใบอนุญาต คงจำคุก 2 เดือน ฐานค้ามนุษย์ คงจำคุก 4 ปี รวมจำคุก 4 ปี 2 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง แต่ให้คืนธนบัตรฉบับละ1,000 บาท ที่ใช้ล่อซื้อของกลางแก่จำเลย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ร้อยตำรวจตรีสมเด็จ กับพวกวางแผนให้สายลับไปล่อซื้อบริการค้าประเวณีที่ร้านอาหารเอมอรคาราโอเกะ ตั้งอยู่หมู่ที่ 14 ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีอาหาร สุรา จำหน่ายโดยมีตู้คาราโอเกะชนิดหยอดเหรียญให้บริการ มีจำเลยเป็นเจ้าของผู้ดูแลร้านอาหารดังกล่าวสายลับเข้าไปในร้านอาหารของจำเลยและติดต่อล่อซื้อใช้บริการค้าประเวณีจากนางสาวอารีรัตน์ผู้เสียหาย ซึ่งขณะเกิดเหตุมีอายุ 15 ปีเศษ เพื่อพาไปร่วมประเวณี โดยตกลงราคากันเป็นเงิน 1,500 บาท แล้วจับกุมจำเลยในข้อหาตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและข้อหาค้ามนุษย์ ชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหามีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการแรกว่า จำเลยกระทำความผิดฐานตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับใบอนุญาตหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติสถานบริการพ.ศ.2509 มาตรา 3 บัญญัติว่า “สถานบริการ หมายความว่า สถานที่ที่ตั้งขึ้นเพื่อให้บริการโดยหวังประโยชน์ในทางการค้า ดังต่อไปนี้
(1) ฯลฯ
(4) สถานที่ที่มีอาหาร สุรา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่ายหรือให้บริการ
โดยมีรูปแบบอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(ก) มีดนตรี การแสดงดนตรี หรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิงและยินยอม
หรือปล่อยปละละเลยให้นักร้อง นักแสดง หรือพนักงานอื่นใดนั่งกับลูกค้า…
(5) สถานที่ที่มีอาหาร สุรา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่าย โดยจัดให้มีการแสดงดนตรีหรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง ซึ่งปิดทำการหลังเวลา 24.00 นาฬิกา”แต่โจทก์บรรยายฟ้องในความผิดฐานตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับใบอนุญาตแต่เพียงว่าจำเลยตั้งสถานบริการประเภทที่มีอาหาร สุรา น้ำชาหรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่ายชื่อร้านเอมอรคาราโอเกะ โดยจัดให้มีการแสดงดนตรีและการแสดงอย่างอื่นเพื่อการบันเทิงบริการแก่ลูกค้า ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการค้าของจำเลย โดยไม่ได้รับใบอนุญาต โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้นักร้อง นักแสดง หรือพนักงานอื่นใดนั่งกับลูกค้าหรือซึ่งปิดทำการหลังเวลา 24.00 นาฬิกา ด้วยแต่อย่างใด ฟ้องโจทก์ในข้อหานี้จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 มาตรา 3 และมาตรา 4 ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 จึงต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดข้อหานี้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการต่อไปว่า จำเลยกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า จำเลยรับไว้ซึ่งผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กหญิงอายุ 15 ปีเศษให้มาคอยรับแขก นั่งดริ้ง (ดื่ม) กับแขกโดยแบ่งผลประโยชน์กัน หนึ่งดริ้งทางร้านได้ 40 บาท ผู้เสียหายได้ 30 บาท โดยให้ค่าแรงวันละ 100 บาท และหากแขกจะพาผู้เสียหายออกไป ทางร้านได้เงิน 300 บาท ซึ่งเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบโดยเอาผู้หญิงและเด็กเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด อันเป็นการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 นั้นเห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องในความผิดฐานนี้ว่า จำเลยกระทำการค้ามนุษย์ เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น เป็นธุระจัดหา ล่อไป โดยการพูดยุยงส่งเสริม โดยใช้อุบายหลอกลวง ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรมหรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด ด้วยการให้ผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กอายุเกินสิบห้าปีแต่ไม่เกินสิบแปดปีให้ค้าประเวณีทั้งนี้ เพื่อการอนาจารและสนองความใคร่ของผู้อื่น เพื่อสินจ้างหรือประโยชน์อื่นใด เป็นเงิน1,500 บาท แม้ผู้เสียหายจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม และเป็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้าเด็กอายุเกินกว่าสิบห้าปีแต่ไม่เกินสิบแปดปี โดยบังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ยุยง ส่งเสริมหรือยินยอมให้ผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กกระทำการค้าประเวณี ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าตอบแทนหรือเพื่อการใด โดยให้ผู้เสียหายกระทำการเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่นและกระทำการค้าประเวณี เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ไม่ว่าเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม โดยจำเลยได้รับเงินเป็นค่าตอบแทน 300 บาท จากการที่ผู้เสียหายค้าประเวณีในแต่ละครั้ง อันเป็นการบรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (1) ที่บัญญัติว่า “เป็นธุระจัดหา ซื้อ ขาย จำหน่าย พามาจากหรือส่งไปยังที่ใด หน่วงเหนี่ยวกักขัง จัดให้อยู่อาศัย หรือรับไว้ซึ่งบุคคลใด โดยข่มขู่ ใช้กำลังบังคับ ลักพาตัว ฉ้อฉลหลอกลวง ใช้อำนาจโดยมิชอบ…” แต่ที่โจทก์ฎีกาว่า พฤติการณ์ของจำเลยเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ รับผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กไว้ให้มานั่งดริ้ง และเมื่อเด็กจะออกไปค้าประเวณีต้องจ่ายค่าปรับค่าร้านให้แก่จำเลย 300 บาท มิฉะนั้นเด็กไม่มีโอกาสที่จะออกจากร้านจำเลยไปได้นั้น เป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ด้วยการรับไว้ซึ่งเด็กเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (2) ที่บัญญัติว่า “เป็นธุระจัดหา ซื้อ ขาย จำหน่ายพามาจากหรือส่งไปยังที่ใด หน่วงเหนี่ยวกักขัง จัดให้อยู่อาศัย หรือรับไว้ซึ่งเด็ก” ซึ่งเป็นการกระทำที่โจทก์ไม่ได้บรรยายไว้ในฟ้อง อีกทั้งฟ้องตามที่โจทก์บรรยายมาก็ไม่อาจแปลความหรือทำให้เข้าใจได้ว่าจำเลยรับไว้ซึ่งเด็ก เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ข้อที่โจทก์ฎีกามาจึงเป็นการฎีกานอกเหนือไปจากที่โจทก์ฟ้อง ศาลจะลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (2) ไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน