แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้เสียหายกับจำเลยรู้จักกันมาก่อนและผู้เสียหายรู้ว่าจำเลยมิได้เป็นเจ้าพนักงาน วันเกิดเหตุจำเลยมิได้แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานเพียงแต่อ้างว่าพวกของจำเลยเป็นเจ้าพนักงาน การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 145 วรรคแรก แต่การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานร่วมกันแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน ซึ่งศาลลงโทษจำเลยได้เพราะมิได้เป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 145, 364, 365
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 145 วรรคแรก, 364, 365 (2) (3) ประกอบมาตรา 364, 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน จำคุก 1 ปี ฐานร่วมกันบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืน จำคุก 2 ปี รวมจำคุก 3 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 15 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364, 365 (2) (3) ประกอบมาตรา 364, 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียว มิใช่หลายกรรมต่างกัน ฐานร่วมกันแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน จำคุก 8 เดือน และปรับ 2,000 บาท ลดโทษให้หนึ่งในสี่ คงจำคุก 6 เดือน และปรับ 1,500 บาท โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด 2 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลย 2 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 6 ครั้ง ตามเงื่อนไขและระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรกำหนด และให้จำเลยทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 36 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ขณะผู้เสียหาย นางประคองและนางสาววาสนา กำลังนอนหลับอยู่ที่บ้านของผู้เสียหาย จำเลยกับนายสุรศักดิ์และพวกอีก 3 คน ไปเคาะประตูบ้านและเรียกให้ผู้เสียหายเปิดประตู ผู้เสียหายลุกขึ้นไปแง้มประตู จำเลยกับนายสุรศักดิ์ยืนอยู่ที่หน้าประตู ต่อมาจำเลยกับนายสุรศักดิ์เดินเข้าไปในบ้านผู้เสียหาย โดยจำเลยบอกผู้เสียหายว่า นายสุรศักดิ์กับพวกเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและกล่าวว่าผู้เสียหายลักทรัพย์ของจำเลยไป ต่อมาจำเลยกับนายสุรศักดิ์ค้นภายในบ้านและตู้เสื้อผ้าของผู้เสียหาย แต่ไม่พบทรัพย์สินของจำเลย จำเลยกับพวกจึงกลับออกไปโดยพานางสาววาสนาและนางประคองไปด้วย
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกับพวกกระทำความผิดฐานร่วมกันเข้าไปในเคหสถานของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควรโดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไปในเวลากลางคืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสามปากเบิกความสอดคล้องต้องกัน ข้อเท็จจริงเชื่อว่าจำเลยกับพวกผลักประตูบ้านผู้เสียหายแล้ว จำเลยกับนายสุรศักดิ์เข้าไปค้นบ้านผู้เสียหาย โดยจำเลยแสดงต่อผู้เสียหายว่า นายสุรศักดิ์กับพวกอีก 3 คน เป็นเจ้าพนักงานตำรวจนครบาลบางมดจริง พฤติการณ์แห่งคดีที่จำเลยกับพวกไปเคาะประตูบ้านเรียกผู้เสียหายให้เปิดประตูและเข้าไปค้นบ้านผู้เสียหายในเวลาวิกาล แม้จำเลยกระทำเพื่อค้นหาทรัพย์สินของจำเลยและจำเลยกับผู้เสียหายรู้จักกันมาก่อน แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยกับพวกมีสิทธิตามกฎหมายหรือเหตุอันสมควรที่จะเข้าไปค้นแต่อย่างใด จึงเป็นการเข้าไปในเคหสถานของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควรและการที่จำเลยผลักประตูบ้านที่ผู้เสียหายเปิดแง้มเข้าไปโดยแสดงแก่ผู้เสียหายว่า นายสุรศักดิ์กับพวกอีก 3 คน ซึ่งยืนอยู่หน้าประตูบ้านเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและผู้เสียหายมิได้ขัดขืนหรือห้ามปรามมิให้จำเลยกับนายสุรศักดิ์เข้าไป ก็ถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายยินยอมให้จำเลยกับพวกเข้าไป การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันเข้าไปในเคหสถานของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควร โดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไปในเวลากลางคืนตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษา ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานนี้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานร่วมกันแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 145 วรรคแรก นั้น เห็นว่า ทางพิจารณาปรากฏว่า ผู้เสียหายกับจำเลยรู้จักกันมาก่อนและผู้เสียหายรู้ว่าจำเลยมิได้เป็นเจ้าพนักงาน วันเกิดเหตุจำเลยมิได้แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานเพียงแต่อ้างว่าพวกของจำเลยเป็นเจ้าพนักงาน การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 145 วรรคแรก กรณีจึงต้องยกฟ้องโจทก์สำหรับข้อหานี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225 แต่การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานร่วมกันแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน ซึ่งศาลลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานร่วมกันแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานได้เพราะมิได้เป็นการพิพากษาเกินคำขอของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ปัญหานี้แม้จำเลยมิได้ฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 145 วรรคแรก ประกอบมาตรา 86, มาตรา 365 (2) (3) ประกอบมาตรา 364 และมาตรา 83 ลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานร่วมกันแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน จำคุก 6 เดือน และปรับ 1,200 บาท ฐานร่วมกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปบุกรุกเคหสถานของผู้อื่นในเวลากลางคืน จำคุก 2 ปี และปรับ 9,000 บาท รวมจำคุก 2 ปี 6 เดือน และปรับ 10,200 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 8 เดือน และปรับ 6,800 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์