แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 10 วรรคสอง บัญญัติว่าในกรณีนายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันเพื่อชดใช้ค่าเสียหายที่ลูกจ้างเป็นผู้กระทำ เมื่อนายจ้างเลิกจ้าง หรือลูกจ้างลาออก หรือสัญญาประกันสิ้นอายุให้นายจ้างคืนหลักประกันให้แก่ลูกจ้าง หมายความว่านายจ้างต้องคืนเงินหลักประกันให้แก่ลูกจ้าง นายจ้างจะหักไปชำระหนี้อื่นที่ไม่ใช่ค่าเสียหายจากการทำงานให้แก่นายจ้างไม่ได้
แม้โจทก์ยินยอมให้จำเลยหักเงินหลักประกันการทำงานของโจทก์ไปชำระค่าประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลของโจทก์ ซึ่งเป็นการยินยอมให้จำเลยไม่ต้องคืนเงินหลักประกันให้แก่โจทก์ทั้งที่ไม่ใช่หนี้ค่าเสียหายจากการทำงานให้แก่จำเลยขัดต่อ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 10 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อตกลงเป็นโมฆะ ไม่มีผลใช้บังคับ เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงต้องคืนเงินหลักประกันการทำงานแก่โจทก์เต็มจำนวน
มาตรา 10 วรรคสอง บัญญัติให้นายจ้างคืนเงินหลักประกันการทำงานให้ลูกจ้างภายใน 7 วัน นับแต่วันเลิกจ้าง เมื่อจำเลยไม่คืนภายในกำหนดนั้นจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัด ต้องเสียดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 13,066 บาท ค่าน้ำมันรถจักรยานยนต์จำนวน 799 บาท ค่านายหน้า (คอมมิสชัน) จำนวน 1,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และจ่ายค่าจ้างจำนวน 3,199 บาท ค่าชดเชยจำนวน 8,000 บาท และเงินประกันการทำงานจำนวน 3,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ชำระค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าจ้างค้างจ่าย 2,133.33 บาท เงินค้ำประกันการทำงาน 1,400 บาท และค่าน้ำมันรถจักรยานยนต์ 533.33 บาท รวมจำนวน 4,066.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินค่าจ้างค้างจ่ายและเงินค้ำประกันการทำงานจำนวน 3,533.33 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินค่าน้ำมันรถจักรยานยนต์จำนวน 533.33 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 4 พฤศจิกายน 2553) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 5,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้ง(วันที่ 3 ธันวาคม 2553) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย คำขออื่นตามคำฟ้องและตามฟ้องแย้งนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2553 โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลย ตำแหน่งสุดท้ายเป็นเจ้าหน้าที่ขายลิขสิทธิ์ ฝ่ายขายลิขสิทธิ์คาราโอเกะ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 8,000 บาท ซึ่งจ่ายให้ทุกวันสิ้นเดือน และค่าน้ำมันรถจักรยานยนต์เหมาจ่ายเดือนละ 2,000 บาท ต่อมาวันที่ 8 ตุลาคม 2553 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ ระหว่างทำงานวันที่ 1 ถึง 8 ตุลาคม 2553 จำเลยค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์จำนวน 2,133.33 บาท และค้างจ่ายค่าน้ำมันรถจักรยานยนต์โจทก์จำนวน 533.33 บาท นอกจากนี้จำเลยหักค่าจ้างโจทก์เป็นเงินค้ำประกันการทำงานจำนวน 3,000 บาท โดยโจทก์ทำหนังสือยินยอมให้จำเลยหักชำระค่าประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล 1,600 บาท คงเหลือเงินค้ำประกันการทำงานที่จำเลยต้องคืนโจทก์ 1,400 บาท เดือนกันยายน 2553 โจทก์ทำยอดขายไม่ถึง 30,000 บาท ตามเกณฑ์ที่จำเลยกำหนด โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่านายหน้าจากยอดขายของเดือนดังกล่าว ตามแนวทางปฏิบัติของจำเลย ลูกค้าที่ขออนุญาตใช้ลิขสิทธิ์คาราโอเกะจากจำเลยจะต้องจ่ายเงินค่าใช้ลิขสิทธิ์ก่อนแล้ว จำเลยจะส่งสติ๊กเกอร์ไปให้ ลูกค้าจึงจะใช้ลิขสิทธิ์คาราโอเกะของจำเลยได้ โจทก์มีหน้าที่แจ้งให้ลูกค้าทราบว่าจะต้องเรียกเก็บเงินค่าใช้ลิขสิทธิ์ก่อนแต่โจทก์ไม่ได้แจ้ง ระหว่างทำงานโจทก์ประกอบอาชีพเสริมโดยการนำเพลงไปลงในฮาร์ดดิสก์เครื่องคอมพิวเตอร์ให้แก่ร้านต่าง ๆ โดยรับค่าตอบแทน โจทก์อนุญาตให้ร้านมุมสบายคาราโอเกะใช้เพลงคาราโอเกะของจำเลยพร้อมทั้งนำเพลงไปลงให้ในฮาร์ดดิสก์เครื่องคอมพิวเตอร์โดยยังไม่ได้เรียกเก็บเงินค่าใช้ลิขสิทธิ์นำส่งจำเลยเสียก่อน และโจทก์ไม่ได้รายงานเรื่องที่ให้ร้านมุมสบายคาราโอเกะใช้ลิขสิทธิ์เพลงโดยไม่ได้รับเงินค่าใช้ลิขสิทธิ์ให้จำเลยทราบ แล้ววินิจฉัยว่า การกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของจำเลยอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมในกรณีร้ายแรง และเป็นการกระทำเพื่อหาค่าตอบแทนจากร้านมุมสบายคาราโอเกะอันเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายทำให้จำเลยเสียหาย ถือว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลย จำเลยต้องชำระค่าจ้างกับค่าน้ำมันรถจักรยานยนต์ค้างจ่ายและคืนเงินค้ำประกันการทำงานส่วนที่เหลือจากหักชำระค่าประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลแก่โจทก์รวม 4,066.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยโดยค่าจ้างค้างจ่ายและเงินค้ำประกันการทำงานให้เสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ส่วนค่าน้ำมันรถจักรยานยนต์ค้างจ่ายให้เสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง ส่วนที่จำเลยฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายจากค่าใช้จ่ายในการแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่ร้านมุมสบายคาราโอเกะและค่าขาดประโยชน์ที่จำเลยจะได้รับค่าขออนุญาตใช้สิทธิจากร้านมุมสบายคาราโอเกะนั้น การกระทำของโจทก์ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย กำหนดค่าเสียหายที่โจทก์ต้องชำระแก่จำเลย 5,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าจำเลยมีสิทธินำเงินค้ำประกันการทำงานของโจทก์ไปหักชำระค่าประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลได้หรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า แม้จำเลยกำหนดเงื่อนไขให้หักเงินค้ำประกันการทำงานนำไปชำระค่าประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลกรณีที่โจทก์ทำงานไม่ครบ 1 ปี ได้ จำเลยก็ไม่มีสิทธิหักเงินค้ำประกันการทำงานของโจทก์นำไปชำระค่าประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลให้แก่โจทก์ เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 10 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกัน หรือทำสัญญาประกันกับลูกจ้างเพื่อชดใช้ความเสียหายที่ลูกจ้างเป็นผู้กระทำ เมื่อนายจ้างเลิกจ้าง หรือลูกจ้างลาออกหรือสัญญาประกันสิ้นอายุ ให้นายจ้างคืนหลักประกันพร้อมดอกเบี้ย ถ้ามี ให้แก่ลูกจ้างภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่นายจ้างเลิกจ้างหรือวันที่ลูกจ้างลาออกหรือวันที่สัญญาประกันสิ้นอายุแล้วแต่กรณี” ซึ่งหมายความว่า เมื่อนายจ้างเลิกจ้าง หรือลูกจ้างลาออก หรือสัญญาประกันสิ้นอายุ นายจ้างจะต้องคืนเงินประกันให้แก่ลูกจ้าง นายจ้างจะหักไปชำระหนี้อื่นที่มิใช่หนี้ค่าเสียหายจากการทำงานให้แก่นายจ้างไม่ได้ การที่จำเลยรับเงินหลักประกันการทำงานจากโจทก์ไว้ 3,000 บาท และต่อมาโจทก์ยินยอมให้จำเลยหักเงินประกันการทำงานของโจทก์ 1,600 บาท นำไปชำระค่าประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลของโจทก์ ซึ่งเป็นการยินยอมให้จำเลยมีสิทธิไม่ต้องคืนเงินหลักประกันให้แก่โจทก์ทั้งที่ไม่ใช่หนี้ค่าเสียหายจากการทำงานให้แก่จำเลย จึงขัดต่อมาตรา 10 วรรคสอง อันเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อตกลงข้อนี้ตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลใช้บังคับ จำเลยจึงไม่มีสิทธิหักเงินหลักประกันการทำงานดังกล่าวของโจทก์ไว้ เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ จำเลยมีหน้าที่คืนเงินหลักประกันการทำงานให้แก่โจทก์ภายใน 7 วัน นับแต่วันเลิกจ้าง แต่จำเลยไม่ดำเนินการจึงผิดนัดชำระหนี้ต้องเสียดอกเบี้ยระหว่างเวลาผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง โดยคิดดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องตามที่โจทก์ขอ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าจ้างค้างจ่าย 2,133.33 บาท และเงินหลักประกันการทำงาน 3,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และค่าน้ำมันรถจักรยานยนต์ค้างจ่าย 533.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง