แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เจ้าหนี้ฟ้องเรียกเงินกู้ก่อนถึงกำหนดชำระ ลูกหนี้ปฏิเสธความรับผิด อ้างว่าชำระหนี้เงินกู้ตามสัญญาแล้ว ย่อมแสดงว่า ลูกหนี้ไม่ถือเอาประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาในสัญญากู้นั้น เงื่อนเวลาจึงไม่เป็นข้อที่ลูกหนี้จะอ้างเป็นประโยชน์ได้ต่อไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้เงินโจทก์ 15,000 บาท ยอมให้ดอกเบี้ยตามกฎหมาย กำหนดชำระเงินต้นคืนภายในวันที่ 18 พฤษภาคม 2505ตั้งแต่กู้ไปจำเลยไม่ชำระดอกเบี้ยเลย จึงขอให้ศาลบังคับ
จำเลยให้การว่า ได้ทำสัญญากู้เงินโจทก์จริง แต่มีข้อตกลงเรียกดอกเบี้ยผิดกฎหมาย จำเลยผ่อนชำระแล้ว 10,000 บาท หนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นไม่เชื่อว่าจำเลยชำระเงินกู้บางส่วนให้โจทก์ โจทก์เรียกดอกเบี้ยไม่ได้เพราะมีข้อตกลงคิดดอกเบี้ยเกินอัตรา และจำเลยได้สละเงื่อนเวลาเสียแล้ว พิพากษาให้จำเลยใช้ต้นเงิน 15,000 บาทให้โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ว่าสัญญาจะได้ระบุเงื่อนเวลาในการที่จะเรียกร้องเงินกู้คืนเอาไว้ก็ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 154 วรรคสอง ได้บัญญัติเรื่องเงื่อนเวลาไว้ว่า “อนึ่งประโยชน์แห่งเงื่อนเวลานั้น ฝ่ายใดจะสละเสียก็ได้ แต่การสละนี้ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงประโยชน์อันคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะพึงได้รับแก่เงื่อนเวลานั้น” แสดงว่า ในเรื่องเงื่อนเวลานี้ คู่กรณีอาจสละเสียก็ได้
คดีนี้ จำเลยให้การว่า ได้ชำระหนี้ตามสัญญากู้แล้ว หนี้ตามสัญญากู้ระงับไปแล้ว เป็นการแสดงว่าจำเลยปฏิเสธไม่ยอมชำระเงินกู้ให้ตามสัญญา เหตุนี้ เงื่อนเวลาจึงไม่เป็นข้อที่จำเลยจะอ้างเป็นประโยชน์ได้ต่อไป โจทก์ย่อมฟ้องบังคับให้จำเลยชำระหนี้ได้โดยไม่ต้องรอให้ครบกำหนดตามเงื่อนเวลา
เมื่อจำเลยรับว่าได้กู้เงินของโจทก์ไปจริง การชำระหนี้ จำเลยก็มีหน้าที่ต้องชำระให้แก่โจทก์หรือบุคคลผู้มีอำนาจรับชำระหนี้แทนโจทก์ จำเลยอ้างว่าได้ชำระให้แก่น้องเขยโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าน้องเขยโจทก์มีอำนาจรับชำระหนี้แทนโจทก์อย่างไร ทั้งน้องเขยโจทก์ก็เบิกความปฏิเสธว่ามิได้รับเงินจากจำเลย สัญญากู้อันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้น โจทก์ก็ยังยึดถืออยู่ มิได้มีการแทงเพิกถอนในเอกสารนั้นแต่อย่างใด เห็นว่า พยานหลักฐานของจำเลยไม่มีเหตุผลที่จะรับฟังหักล้างพยานหลักฐานฝ่ายโจทก์ พิพากษายืน ให้ยกฎีกาจำเลย