คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7333/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ทำหนังสือสัญญาประกันความเสียหายข้อ 2 ระบุว่า “ลูกจ้างให้สัญญาว่าจะทำงานให้แก่นายจ้างอย่างน้อยเป็นเวลา 1 ปี โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2552 เป็นต้นไป หากทำงานไม่ครบเวลา 1 ปี ฝ่ายลูกจ้างยินดีให้นายจ้างยึดเงินประกันความเสียหายตามข้อ 1” จำเลยที่ 2 ลาออกจากงานเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 การทำสัญญาดังกล่าวที่มีข้อตกลงให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างทำงานอย่างน้อย 1 ปี หากผิดสัญญายินยอมให้ยึดเงินประกันถือเป็นเรื่องผิดสัญญาจ้าง มิใช่เป็นเรื่องการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 10 เมื่อ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 10 วรรคสอง บัญญัติว่า ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันหรือทำสัญญาประกันกับลูกจ้างเพื่อชดใช้ความเสียหายที่ลูกจ้างเป็นผู้กระทำ เมื่อนายจ้างเลิกจ้างหรือลูกจ้างลาออกหรือสัญญาประกันสิ้นอายุ ให้นายจ้างคืนหลักประกันพร้อมดอกเบี้ย ถ้ามี ให้แก่ลูกจ้างภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่นายจ้างเลิกจ้างหรือวันที่ลูกจ้างลาออกหรือวันที่สัญญาประกันสิ้นอายุ แล้วแต่กรณี ดังนี้ ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ที่ว่า หากจำเลยที่ 2 ทำงานไม่ครบ 1 ปี ยินดีให้โจทก์ยึดเงินประกัน จึงเป็นข้อตกลงที่แตกต่างกับบทบัญญัติข้างต้นซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 151 โจทก์จึงต้องคืนเงินประกันจำนวน 5,000 บาท ดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ตามคำสั่งของจำเลยที่ 1

ย่อยาว

คดีนี้เดิมศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันกับคดีหมายเลขแดงที่ 991/2554 ของศาลแรงงานกลาง โดยให้เรียกจำเลยในคดีนี้ว่าจำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยในคดีดังกล่าวว่า จำเลยที่ 2 แต่คดีสำหรับจำเลยที่ 2 ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 และบังคับให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าเสียหายให้โจทก์จำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาแก้ไขคำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ 85/2553 ลงวันที่ 14 กันยายน 2553 เป็นว่า ให้โจทก์คืนเงินประกันความเสียหายในการทำงานจำนวน 3,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2553 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า หนังสือสัญญาประกันความเสียหาย ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ข้อ 2 ระบุว่า ลูกจ้างหรือจำเลยที่ 2 ให้สัญญาว่าจะทำงานให้แก่นายจ้างหรือโจทก์ อย่างน้อยเป็นเวลา 1 ปี โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2552 เป็นต้นไป หากทำงานไม่ครบเวลา 1 ปี ฝ่ายลูกจ้างหรือจำเลยที่ 2 ยินดีให้นายจ้างหรือโจทก์ยึดเงินประกันความเสียหายตามข้อ 1 และข้อ 3 ระบุว่า เมื่อฝ่ายลูกจ้างทำงานมาครบ 1 ปี หากจะลาออกจากงานต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน เมื่อได้มอบหมายงานและได้รับอนุมัติแล้วจึงออกจากงานได้ หากผิดสัญญาก็ยินดีให้นายจ้างหรือโจทก์ยึดเงินประกันความเสียหายตามข้อ 1 หนังสือสัญญาประกันความเสียหายเป็นสัญญาประกันความเสียหายในการทำงานตามความหมายของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 10 การกำหนดระยะเวลาห้ามจำเลยที่ 2 ออกจากงานเป็นเวลา 1 ปี เป็นการกระทำเพื่อรักษาผลประโยชน์ทางธุรกิจของโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้าง โดยมิได้ตัดหนทางในการประกอบอาชีพของจำเลยที่ 2 โดยสิ้นเชิง และเป็นระยะเวลาห้ามเพียงชั่วคราวซึ่งเป็นระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้นและระหว่างห้ามจำเลยที่ 2 ก็คงได้รับค่าจ้างจากโจทก์โดยตลอดเวลาเป็นการตอบแทนและถ้าลูกจ้างหรือจำเลยที่ 2 ผิดสัญญาข้อนี้ นายจ้างหรือโจทก์ก็มีสิทธิยึดเงินประกันความเสียหายจากการทำงานของจำเลยที่ 2 ตามสัญญาได้ การคืนเงินประกันความเสียหายในการทำงานให้แก่จำเลยที่ 2 ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ลาออกนั้น หมายถึงเมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ได้ผิดสัญญาประกันความเสียหายในการทำงานหรือเมื่อหักเงินประกันความเสียหายแล้วยังคงมีเงินเหลืออยู่เท่าใด โจทก์จึงต้องคืนเงินให้จำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 10 วรรคสอง ดังนั้นสัญญาค้ำประกันความเสียหายในการทำงานจึงเป็นสัญญาประกันความเสียหายในการทำงานที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 10 วรรคสอง ใช้บังคับระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ได้ จำเลยที่ 2 ยื่นใบลาออกจากงานเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2553 ให้มีผลตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 แม้จำเลยที่ 2 จะแจ้งการลาออกจากงานเพียง 6 วัน การลาออกจากงานของจำเลยที่ 2 ก็ไม่ถือว่าผิดสัญญาประกันความเสียหายในการทำงานข้อ 3 แต่จำเลยที่ 2 ลาออกก่อนทำงานครบ 1 ปี จึงถือว่าจำเลยที่ 2 กระทำผิดสัญญาประกันความเสียหายในการทำงานข้อ 2 คำว่ายึดเงินประกันความเสียหายที่ปรากฏในสัญญาประกันความเสียหายในการทำงานมีความหมายเช่นเดียวกับคำว่าเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และถ้าสัญญากำหนดจำนวนเงินจำนวนหนึ่งไว้ล่วงหน้าที่ฝ่ายหนึ่งจะใช้ให้เมื่อฝ่ายนั้นปฏิบัติผิดสัญญา เงินจำนวนนี้เรียกว่า เบี้ยปรับ ซึ่งเบี้ยปรับเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายและถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่จำเลยที่ 2 ปฏิบัติผิดสัญญาประกันความเสียหายในการทำงานเป็นเงินจำนวน 50,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายในการสอนงานให้รู้จักสินค้าทุกชนิดของโจทก์ก่อนการทำงานขายสินค้าให้โจทก์และค่าใช้จ่ายในเอกสารและอุปกรณ์การทำงานต่าง ๆ นั้น การสอนให้รู้จักตัวสินค้าทุกชนิดของโจทก์เป็นปกติธรรมดาในการประกอบธุรกิจการค้าของโจทก์ไม่ถือว่าโจทก์เสียหายแต่อย่างใดและโจทก์ไม่สามารถเรียกค่าเสียหายจำนวน 50,000 บาท จากจำเลยที่ 2 ได้ ส่วนกรณีที่จำเลยที่ 2 ปฏิบัติผิดสัญญาประกันความเสียหายในการทำงานข้อ 2 และโจทก์ยึดเงินประกันความเสียหายในการทำงานจำนวน 5,000 บาท จากจำเลยที่ 2 ไว้แล้ว ซึ่งถือเป็นเบี้ยปรับนั้น เนื่องจากเบี้ยปรับที่โจทก์ยึดจากจำเลยที่ 2 สูงเกินส่วน เมื่อพิเคราะห์ถึงว่าจำเลยที่ 2 ทำงานให้โจทก์เป็นเวลาถึง 6 เดือน 12 วัน แล้วจึงลาออกและทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายประกอบกับพฤติการณ์แห่งรูปคดีนี้แล้ว ศาลเห็นสมควรลดลงโดยกำหนดจำนวนเงิน 2,000 บาท เป็นเบี้ยปรับที่โจทก์มีสิทธิยึดตามสัญญาประกันความเสียหายในการทำงาน ส่วนเงินที่เหลืออีก 3,000 บาท โจทก์จะต้องคืนให้แก่จำเลยที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปี ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง ปัญหาว่าโจทก์ผิดนัดตั้งแต่เมื่อใด ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 10 วรรคสอง ระบุว่า เมื่อจำเลยที่ 2 ลาออกโจทก์ต้องคืนเงินประกันพร้อมดอกเบี้ยให้แก่จำเลยที่ 2 ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ลูกจ้างลาออก ถ้าโจทก์ไม่จ่ายถือว่าโจทก์ผิดนัด เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ลาออกเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 โจทก์ต้องคืนเงินประกันภายในวันที่ 22 พฤษภาคม 2553 ถ้าโจทก์ไม่จ่ายถือว่าโจทก์ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2553 เป็นต้นไป เพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความจึงเห็นสมควรแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ 85/2553
ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า ปรากฏข้อเท็จจริงจากคำเบิกความพยานโจทก์และฝ่ายจำเลยว่า สัญญาและเอกสารที่ลูกจ้างลงนามเป็นแบบฟอร์มสำเร็จรูปและเงินประกันการทำงานของลูกจ้างที่โจทก์เก็บไปนำเข้าบัญชีในนามของโจทก์ไม่ได้นำเข้าในนามบัญชีของลูกจ้างเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 10 และประกาศกระทรวงแรงงานเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ.2551 เนื่องจากหลักประกันที่นายจ้างเรียกเก็บยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของลูกจ้าง เพียงแต่นายจ้างมีสิทธิยึดถือไว้เท่านั้น ดอกผลเงินประกันจึงตกเป็นของลูกจ้างนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 มิได้ยกขึ้นกล่าวอ้างในคำให้การ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า เงินประกันจำนวน 5,000 บาท ที่โจทก์เรียกเก็บจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างโดยมีข้อตกลงว่าจะต้องทำงานกับโจทก์อย่างน้อย 1 ปี หากทำงานไม่ครบ 1 ปี ยินดีให้ยึดเงินประกัน ข้อตกลงดังกล่าวตกเป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์กับจำเลยที่ 2 ทำหนังสือสัญญาประกันความเสียหาย ข้อ 2 ระบุว่า “ลูกจ้างให้สัญญาว่าจะทำงานให้แก่นายจ้างอย่างน้อยเป็นเวลา 1 ปี โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2552 เป็นต้นไป หากทำงานไม่ครบเวลา 1 ปี ฝ่ายลูกจ้างยินดีให้นายจ้างยึดเงินประกันความเสียหายตามข้อ 1” จำเลยที่ 2 ลาออกจากงานเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 ซึ่งการทำสัญญาที่มีข้อตกลงให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างทำงานอย่างน้อย 1 ปี หากผิดสัญญายินยอมให้ยึดเงินประกัน ถือเป็นเรื่องผิดสัญญาจ้าง มิใช่เป็นเรื่องการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 10 เมื่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 10 วรรคสอง บัญญัติว่า ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันหรือทำสัญญาประกันกับลูกจ้างเพื่อชดใช้ความเสียหายที่ลูกจ้างเป็นผู้กระทำ เมื่อนายจ้างเลิกจ้างหรือลูกจ้างลาออกหรือสัญญาประกันสิ้นอายุ ให้นายจ้างคืนหลักประกันพร้อมดอกเบี้ย ถ้ามี ให้แก่ลูกจ้างภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่นายจ้างเลิกจ้างหรือวันที่ลูกจ้างลาออกหรือวันที่สัญญาประกันสิ้นอายุ แล้วแต่กรณี ดังนี้ ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ที่ว่า หากจำเลยที่ 2 ทำงานไม่ครบ 1 ปี ยินดีให้โจทก์ยึดเงินประกัน จึงเป็นข้อตกลงที่แตกต่างกับบทบัญญัติข้างต้นซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 151 โจทก์จึงต้องคืนเงินประกันจำนวน 5,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 2 ตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share