คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8493/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 ประกอบมาตรา 31 เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์โดยกระทำแก่งานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น มีลักษณะเป็นการส่งเสริมให้งานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์แพร่หลายออกไป ซึ่งมีองค์ประกอบของความผิดคือ (1) ต้องเป็นการกระทำต่องานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ (2) ผู้กระทำรู้หรือมีเหตุอันควรรู้ว่าเป็นงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ (3) กระทำเพื่อหากำไร (4) มีการกระทำตามมาตรา 31 (1) ถึง (4) ดังนั้น จึงต้องพิจารณาองค์ประกอบของความผิดข้อแรกก่อนว่า ภาพถ่ายพิพาทในคดีนี้ที่จำเลยเผยแพร่ต่อสาธารณชนเป็นงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ การที่โจทก์เป็นสมาชิกประเภทช่างภาพของเว็บไซต์แห่งหนึ่งโดยมีสถานะเป็นผู้ส่งภาพ ส่วนบริษัท ด. ซึ่งรับทำโฆษณาให้จำเลยได้ขออนุญาตเว็บไซต์ดังกล่าวใช้ภาพพิพาทเพื่อทำโฆษณาให้จำเลยและชำระค่าใช้ภาพให้แก่เว็บไซต์ดังกล่าว โดยเว็บไซต์ชำระค่าตอบแทนการใช้ภาพให้แก่โจทก์แล้ว ภาพของโจทก์ตามโบรชัวร์จึงเป็นภาพและโบรชัวร์ที่ทำขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมาย มิใช่ภาพที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ ที่จำเลยแจกจ่ายหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งโบรชัวร์ดังกล่าวจึงเป็นการกระทำโดยได้รับอนุญาตไม่เป็นความผิดตามมาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (2) และเมื่อบริษัท ด. ได้ขออนุญาตใช้ภาพจากเว็บไซต์แล้ว ถือได้ว่าเป็นการขออนุญาตใช้ภาพแทนจำเลยแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31, 70 วรรคหนึ่ง, วรรคสอง และมาตรา 74
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยรู้หรือมีเหตุอันควรรู้ว่า ภาพถ่ายพิพาทเป็นงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (2) นั้น เห็นว่า การกระทำความผิดตามมาตรา 31 เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์โดยกระทำแก่งานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น มีลักษณะเป็นการส่งเสริมให้งานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์แพร่หลายออกไป ซึ่งมีองค์ประกอบความผิดคือ (1) ต้องเป็นการกระทำต่องานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์
(2) ผู้กระทำรู้หรือมีเหตุอันควรรู้ว่าเป็นงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์
(3) กระทำเพื่อหากำไร
(4) มีการกระทำตามมาตรา 31 (1) ถึง (4)
ดังนั้น จึงต้องพิจารณาองค์ประกอบข้อแรกก่อนว่า ภาพถ่ายคนตีกอล์ฟที่จำเลยเผยแพร่ต่อสาธารณชนนั้น เป็นงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ พยานโจทก์มีโจทก์เบิกความว่า จำเลยได้ทำซ้ำ ดัดแปลง และเผยแพร่ต่อสาธารณชนภาพคนตีกอล์ฟซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์เพื่อการค้าและเพื่อหากำไรโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ แต่กลับตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ภาพถ่ายคนตีกอล์ฟดังกล่าวพยานนำไปลงโฆษณาในเว็บไซต์ www.123RF.com ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นคนกลางระหว่างช่างภาพเจ้าของภาพถ่ายกับบุคคลที่มีความสนใจจะใช้ภาพถ่ายของช่างภาพนั้น โดยเว็บไซต์นี้จะเรียกเก็บค่าใช้ภาพถ่ายจากผู้ขอใช้ภาพถ่ายและแบ่งรายได้ให้แก่ช่างภาพ โจทก์เข้าเป็นสมาชิกของเว็บไซต์นี้โดยมีสถานะเป็นผู้ส่งภาพ เมื่อเว็บไซต์ดังกล่าวตอบรับการเป็นสมาชิกแล้ว เว็บไซต์ดังกล่าวสามารถนำภาพถ่ายที่สมาชิกส่งไปให้บุคคลที่สามใช้ภาพได้ และเบิกความอีกว่า มีข้อความว่าเว็บไซต์ www.123RF.com อนุญาตให้บริษัทได-อิจิ คิคากุ (ประเทศไทย) จำกัด ใช้ภาพถ่ายตามข้อตกลงอนุญาตให้ใช้สิทธิหลักหรือสัญญาอนุญาตแบบอาร์เอฟมาตรฐานได้ ในประเด็นนี้ พยานจำเลยมีนางเพชรณี ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารการตลาดของจำเลยเบิกความว่า ในกิจกรรมส่งเสริมการขายรถยนต์ของจำเลย จำเลยได้ว่าจ้างบริษัทได-อิจิ คิคากุ (ประเทศไทย) จำกัด ให้เป็นผู้ทำการโฆษณา กับมีนายธนวัฒน์ พนักงานบริษัทได-อิจิ คิคากุ (ประเทศไทย) จำกัด เบิกความว่า บริษัทพยานได้ชำระเงินค่าใช้ภาพผ่านบัตรเครดิตในระบบออนไลน์ให้แก่ เว็บไซต์ www.123RF.com ตามสำเนาใบแจ้งการชำระเงิน ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของนายตัน ที่ปรึกษากฎหมายบริษัท 123 อาร์เอฟ ลิมิเต็ด เจ้าของเว็บไซต์ www.123RF.com ว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นสมาชิกประเภทช่างภาพของ 123 อาร์เอฟ โดยใช้ชื่อว่า “koratmember” โดยโจทก์ตกลงตามข้อตกลงการใช้และสัญญาช่างภาพว่า ภาพที่โจทก์อัพโหลดบน www.123RF.com สามารถอนุญาตให้บุคคลที่สามใช้ได้ ภาพพิพาทในคดีนี้บริษัทได-อิจิ คิคากุ (ประเทศไทย) จำกัด ขอใช้ภาพในการจัดทำโบรชัวร์โฆษณารถกระบะของจำเลย และได้จ่ายค่าธรรมเนียมสำหรับการใช้ภาพและมีการชำระค่าตอบแทนการใช้ภาพดังกล่าวให้แก่โจทก์แล้ว กับเบิกความอีกว่า เมื่อบริษัทได-อิจิ คิคากุ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับอนุญาตจากบริษัทพยานให้นำภาพไปใช้กับสื่อโฆษณาแล้ว จำเลยสามารถนำโบรชัวร์ภาพถ่ายดังกล่าวไปแจกจ่ายลูกค้าของตนได้โดยไม่ต้องทำสัญญาอนุญาตใช้ภาพดังกล่าวจากเว็บไซต์ www.123RF.com อีก พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมามีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เป็นสมาชิก www.123RF.com ประเภทช่างภาพ บริษัทได-อิจิ คิคากุ (ประเทศไทย) จำกัด ขออนุญาตเว็บไซต์ www.123RF.com ใช้ภาพพิพาทเพื่อทำโฆษณาให้จำเลยและได้ชำระค่าใช้ภาพให้แก่เว็บไซต์ดังกล่าวและเว็บไซต์ได้ชำระค่าตอบแทนการใช้ภาพให้แก่โจทก์แล้ว ภาพของโจทก์ตามโบรชัวร์จึงเป็นภาพและโบรชัวร์ที่ทำขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมาย มิใช่ภาพที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ การที่จำเลยแจกจ่ายหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งโบรชัวร์ดังกล่าว จึงเป็นการกระทำโดยได้รับอนุญาต ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31(2) ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยมิได้ขออนุญาตใช้ภาพจากโจทก์นั้น เห็นว่า การที่บริษัทได-อิจิ คิคากุ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งรับทำโฆษณาให้จำเลยได้ขออนุญาตใช้ภาพจากเว็บไซต์ www.123RF.com แล้ว ถือได้ว่าเป็นการขออนุญาตใช้ภาพแทนจำเลยแล้ว และเมื่อคดีฟังได้ว่า ภาพถ่ายในโบรชัวร์มิใช่งานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์แล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า จำเลยเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยรู้หรือมีเหตุควรรู้ว่าเป็นงานละเมิดลิขสิทธิ์และเป็นการกระทำเพื่อหากำไรนั้น จึงไม่เป็นสาระแก่คดีที่จะวินิจฉัยต่อไป ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share