คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1554-1555/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ถ้าข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้ดูแลทรัพย์พิพาทไว้. จำเลยยืมทรัพย์พิพาทไปจากโจทก์ร่วม. เมื่อเกิดการเสียหายขึ้นเพราะการกระทำผิดยักยอกของจำเลย. โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายในฐานะเป็นผู้ครอบครองดูแลทรัพย์พิพาท มีอำนาจร้องทุกข์ตามกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2(4)(ตามนัยฎีกาที่ 1341/2495,420/2505,562/2505). แม้ในฟ้องจะบรรยายคลาดเคลื่อนว่าใครเป็นเจ้าทรัพย์ ก็ไม่ถือว่าข้อเท็จจริงที่ได้ความต่างกับฟ้อง.
เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยยืมทรัพย์ไป แล้วทุจริตยักยอกเอาไว้เป็นผลประโยชน์ส่วนตัวเสีย. ย่อมมีความผิดในทางอาญา มิใช่เป็นเพียงเรื่องยืมทางแพ่งเท่านั้น.
โจทก์บรรยายฟ้องว่า ‘เมื่อเดือนตุลาคม 2506 และต่อมาประมาณปลายเดือนเมษายน 2507. จำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันขอยืมเครื่องประดับไปหลายอย่าง (ห้อยคอและกลัดเสื้อรูปดอกไม้แหวนเพชรเม็ดเดียว แหวนเพชรเม็ดเล็กเป็นรูป 4 เหลี่ยมแหวนทับทิมล้อมเพชร กำไลประดับเพชร สร้อยข้อมือนพเก้า จี้เพชรพร้อมสร้อยทองคำขาว แหวนมรกตล้อมเพชร ต่างหูเพชรนาฬิกาข้อมือประดับเพชร). ต้นเดือนมีนาคม 2510 โจทก์ร่วมทั้งสองได้ทวงถามของที่จำเลยยืมไป จำเลยทั้งสี่ปฏิเสธไม่ยอมคืน.โดยระหว่างมีนาคม 2510 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด.จำเลยมีเจตนาทุจริตคิดยักยอกเอาทรัพย์ดังกล่าวไว้เป็นประโยชน์ส่วนตน’ เป็นฟ้องที่ไม่เคลือบคลุม.
คำแจ้งความที่มีความว่า ‘จึงได้มาแจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อบุคคลทั้งสี่ต่อไป’ นั้น. เป็นการกล่าวหาโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ จึงเป็นคำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(7). เมื่อเจ้าพนักงานสอบสวนบันทึกข้อความคำร้องทุกข์ไว้ในรายงานเบ็ดเสร็จประจำวันและผู้ร้องทุกข์ได้ลงชื่อไว้แล้ว จึงเป็นการบันทึกคำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 123วรรคสาม.

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษารวมกัน โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องและแก้ฟ้องเป็นใจความอย่างเดียวกันนายนภา รัตนวิโรจน์ กับนายธาดา รัตนวิโรจน์ เข้าเป็นโจทก์ร่วมทั้งสองสำนวน ว่านางสฤษดิ์ รัตนวิโรจน์ ได้ยกทรัพย์ให้นางสาววิไลลักษณ์ แต่ให้โจทก์ร่วมทั้งสองเก็บรักษาและครอบครองดูแลไว้แทนจำเลยได้ร่วมกันยักยอกทรัพย์นั้นไปจากโจทก์ร่วมทั้งสอง ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 83 จำเลยทั้งสองสำนวนให้การและเพิ่มเติมคำให้การว่า จำเลยไม่ได้กระทำผิดฟ้องโจทก์เคลือบคลุม และการสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลชั้นต้นพิจารณาสืบพยานโจทก์ไป 8 ปาก เห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ ให้งดสืบพยานต่อไปทั้งสองฝ่าย และรับฟังข้อเท็จจริงว่าแม้โจทก์ร่วมทั้งสองจะมีสิทธิทำการรักษาทรัพย์ ก็มีสิทธิติดตามเอาคืนด้วยการเรียกร้องทางแพ่งเท่านั้น ไม่มีสิทธิดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย จึงมิใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจร้องทุกข์ได้ ผู้ว่าคดีไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ร่วมทั้งสองเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ จำเลยฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ยังไม่หมด ได้สั่งงดสืบพยานทั้งสองฝ่ายแล้วพิพากษา โดยรับฟังข้อเท็จจริงจากคำพยานโจทก์ว่านางสฤษดิ์ยังมิได้ยกทรัพย์พิพาทให้นางสาววิไลลักษณ์ยังมิได้ทำการส่งมอบทรัพย์ที่ให้ การให้จึงไม่สมบูรณ์ ทรัพย์ที่พิพาทมิใช่ของนางสาววิไลลักษณ์ เป็นมรดกของนางสฤษดิ์ โจทก์ร่วมมิใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้อง จึงให้ยกฟ้อง คดีต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2502 มาตรา 22จึงไม่ชอบที่ศาลอุทธรณ์จะรื้อฟื้นข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นรับฟังว่าการให้ไม่สมบูรณ์ขึ้นวินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นว่า ตามคำบรรยายฟ้อง โจทก์ร่วมเป็นผู้ดูแลทรัพย์พิพาทไว้ จำเลยยืมทรัพย์พิพาทไปจากโจทก์ร่วม เมื่อเกิดการเสียหายขึ้นเพราะการกระทำผิดยักยอกของจำเลย ไม่ว่าทรัพย์จะยังคงเป็นของนางสฤษดิ์ แล้วตกเป็นทรัพย์มรดก หรือเป็นของนางสาววิไลลักษณ์ โจทก์ร่วมทั้งสองย่อมเป็นผู้เสียหายในฐานะที่เป็นผู้ดูแลรักษาทรัพย์ที่พิพาท มีอำนาจร้องทุกข์ตามกฎหมาย ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1341/2495, 420/2505และ 562/2505 ซึ่งพิพากษาว่าผู้ดูแลครอบครองทรัพย์เป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) และแม้จะบรรยายฟ้องคลาดเคลื่อนว่าใครเป็นเจ้าของทรัพย์ ก็ไม่ถือว่าข้อเท็จจริงที่ได้ความต่างกับฟ้อง เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยยืมทรัพย์ไป แล้วทุจริตยักยอกเอาไว้เป็นผลประโยชน์ส่วนตัว เป็นข้อกล่าวหาทางอาญา หากได้ความตามฟ้อง จำเลยก็ต้องมีผิด มิใช่เป็นเรื่องยืมอันเป็นเรื่องทางแพ่ง คำฟ้องของโจทก์ว่า “ต่อมาประมาณต้นเดือนมีนาคม 2510 ผู้เสียหายได้ทวงถามของที่จำเลยยืมไป จำเลยปฏิเสธไม่ยอมคืน โดยระหว่างเดือนมีนาคม 2510 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัดจำเลยมีเจตนาทุจริตคิดยักยอกทรัพย์ดังกล่าว” เป็นการบรรยายถึงรายละเอียดเกี่ยวกับวันเวลา ซึ่งเกิดการกระทำผิดครบถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158 แล้ว เข้าใจได้ว่า โจทก์กล่าวหาจำเลยว่ากระทำผิดในระหว่างต้นเดือนมีนาคมถึงวันที่ทวงถาม ส่วนสถานที่กระทำผิดโจทก์บรรยายฟ้องว่า เหตุเกิดที่ตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมืองนครสวรรค์จังหวัดนครสวรรค์หากจะแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่ได้ความในทางพิจารณาดังจำเลยอ้าง มิใช่เป็นเรื่องฟ้องเคลือบคลุมอย่างใด โจทก์ร่วมร้องทุกข์โดยลงชื่อไว้ในรายงานเบ็ดเสร็จประจำวันของสถานีตำรวจตอนท้ายข้อความว่า “จึงได้มาแจ้งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนดำเนินคดีต่อบุคคลทั้งสี่ต่อไป” เป็นข้อความที่แจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อจำเลยทั้งสี่ เป็นการแสดงเจตนาจะให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ เป็นคำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(7) และรายงานนั้นเป็นการบันทึกคำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา123 วรรค 3 ที่ศาลชั้นต้นสั่งงดมีให้สืบพยาน ทำให้ไม่สามารถพิจารณาชี้ขาดได้ สมควรให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ พิพากษายืนในผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share