คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 397/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 สำแดงราคาของที่นำเข้าต่ำกว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาด แต่โจทก์มิได้นำเจ้าพนักงานประเมินมา เบิกความว่ามีหลักฐานเอกสารอะไรที่แสดงว่าของประเภทและชนิดเดียวกันกับที่จำเลยที่ 1 นำเข้ามีราคาแท้จริงในท้องตลาดเท่าใด เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นว่าราคาของที่จำเลยที่ 1 สำแดงไว้ต่ำกว่า ราคาแท้จริงในท้องตลาดอันเจ้าพนักงานประเมินจะประเมินภาษีอากร จากจำเลยที่ 1 เพิ่มได้ เอกสารที่โจทก์อ้างส่งอันได้แก่ บัญชี ราคาสินค้ารายการบรรจุหีบห่อ บัญชีราคาสินค้าล่วงหน้า ใบตราส่ง ใบเสร็จรับเงินค่าภาระของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ใบกำกับสินค้า ไม่ปรากฏว่าราคาของที่จำเลยที่ 1 นำเข้าต่างไปจากราคาของที่จำเลย ที่ 1 สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าอันจะถือได้ว่าราคาของที่จำเลย ที่ 1 สำแดงในใบขนสินค้าขาเข้าต่ำไปกว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาด ข้ออ้างตามคำฟ้องของโจทก์จึงเลื่อนลอย ขาดพยานหลักฐานสนับสนุน ไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองนำทองขาว 30,000 ชุด คอนเดนเซอร์20,000 ชิ้น เข้ามาในราชอาณาจักรโดยสำแดงราคาสินค้าที่นำเข้ามาต่ำกว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาด เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ที่ 1จึงประเมินให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าภาษีอากรเพิ่มขึ้น จำเลยที่ 2เป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดในหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยไม่จำกัดจำนวน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระค่าภาษีอากร 116,433.46 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยได้สำแดงราคาสินค้าในใบขนสินค้าตามบัญชีราคาสินค้า และปฏิบัติตามพิธีการศุลกากรจนเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์พอใจราคาของ และได้ชำระค่าภาษีอากรครบถ้วนถูกต้องการประเมินให้จำเลยชำระภาษีอากรเพิ่มอีกจึงไม่ชอบ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีเพียงว่า จำเลยที่ 1 สำแดงราคาของที่นำเข้าต่ำกว่าราคาแท้จริงในท้องตลาดหรือไม่ เห็นว่าโจทก์มีเพียงนายเกรียงศักดิ์ รักวงศ์อาชีพ เจ้าพนักงานพิธีการศุลกากร 4เบิกความว่า พยานเป็นผู้คิดคำนวณภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระเพิ่มขึ้นตามรายการเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 7 แล้วให้นายบวรเชิดชื่น ลงนามแจ้งไปให้จำเลยที่ 1 เพื่อชำระเงินค่าภาษีอากรดังกล่าว กับมีนายบวรเบิกความเชื่อมโยงว่า พยานเป็นผู้ลงนามในเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 7 แจ้งให้จำเลยที่ 1 นำเงินค่าภาษีอากรมาชำระเพิ่ม เหตุที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระภาษีอากรเพิ่มก็เพราะเจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินราคาเพิ่มเนื่องจากจำเลยที่ 1สำแดงราคาของที่นำเข้าต่ำกว่าราคาแท้จริงในท้องตลาด แต่โจทก์ก็มิได้นำเจ้าพนักงานประเมินมาเบิกความว่ามีหลักฐานเอกสารอะไรที่แสดงว่าของประเภทและชนิดเดียวกันกับที่จำเลยที่ 1 นำเข้ามีราคาแท้จริงในท้องตลาดเท่าใด เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นว่า ราคาของที่จำเลยที่ 1 สำแดงไว้ต่ำกว่าราคาแท้จริงในท้องตลาด อันเจ้าพนักงานประเมินจะประเมินภาษีอากรจากจำเลยที่ 1 เพิ่มได้ เอกสารที่โจทก์ส่งอ้างตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 9 ถึงแผ่นที่ 15 อันได้แก่บัญชีราคาสินค้า รายการบรรจุหีบห่อบัญชีราคาสินค้าล่วงหน้า ใบตราส่งใบเสร็จรับเงินค่าภาระของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ใบกำกับสินค้าก็ไม่ปรากฏว่าราคาของที่จำเลยที่ 1 นำเข้าต่างไปจากราคาของที่จำเลยที่ 1 สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าอันจะถือได้ว่าราคาของที่จำเลยที่ 1 สำแดงในใบขนสินค้าขาเข้าต่ำไปกว่าราคาแท้จริงในท้องตลาดข้ออ้างตามคำฟ้องของโจทก์จึงเลื่อนลอยขาดพยานหลักฐานสนับสนุนไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังได้ ฝ่ายจำเลยมีจำเลยที่ 2 เบิกความประกอบเลตเตอร์ออฟเครดิต บัญชีราคาสินค้า รายการบรรจุหีบห่อใบเสร็จรับเงินของธนาคารกรุงเทพ จำกัด ตั๋วแลกเงินที่บริษัทผู้ขายส่งให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินแก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด และบัญชีราคาสินค้าล่วงหน้าที่โจทก์ส่งอ้างเจือสมเข้ามาฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 สั่งซื้อของที่นำเข้าโดยเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตผ่านธนาคารกรุงเทพ จำกัด ตามราคาสินค้าในบัญชีราคาสินค้าล่วงหน้าผู้ขายสั่งให้จำเลยที่ 1 ชำระราคาสินค้าโดยออกตั๋วแลกเงินสั่งให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินตามตั๋วแลกเงินแก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัดจำเลยที่ 1 ชำระเงินตามตั๋วแลกเงินแก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด แล้วธนาคารกรุงเทพ จำกัด ได้ออกใบเสร็จรับเงินให้แก่จำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 จึงได้นำบัญชีราคาสินค้าที่ผู้ขายออกให้ไปสำแดงราคาลงในใบขนสินค้าขาเข้า ดังนั้น ราคาของที่จำเลยที่ 1 สำแดงไว้จึงเป็นราคาขายส่งเงินสดที่แท้จริง เมื่อรวมกับค่าประกันภัยเข้าแล้วจึงเป็นราคาซึ่งจะพึงขายของประเภทและชนิดเดียวกันได้โดยไม่ขาดทุน ณ เวลาและที่ที่นำของเข้าอันเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดตามกฎหมาย ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1สำแดงราคาของที่นำเข้าต่ำไปกว่าราคาแท้จริงในท้องตลาด เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ที่ 1 จึงไม่มีอำนาจประเมินภาษีอากรเพิ่มการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินที่ให้จำเลยที่ 1 ชำระภาษีอากรเพิ่มจึงไม่ชอบ ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองมานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share