แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 ซึ่งนำมาปรับใช้แก่คดีนี้โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 นั้น การจับบุคคลใดจะกระทำมิได้เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาล หรือผู้นั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นให้จับได้โดยไม่มีหมายจับตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ การที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 ซึ่งนำมาปรับใช้แก่คดีนี้โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกจับเพราะยังไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาล และไม่เข้าข้อยกเว้นตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยยังไม่ถูกจับ จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 7 และมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 ที่โจทก์ต้องฟ้องจำเลยภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่จำเลยถูกจับหรือต้องผัดฟ้อง หรือได้รับอนุญาตให้ฟ้องคดีจากอัยการสูงสุด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
คดีนี้ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคนทราบเรื่องความผิดและรู้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2547 ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคนจึงเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนระหว่างวันที่ 27 กรกฎาคม 2547 ถึงวันที่ 1 กันยายน 2547 โดยผู้เสียหายแต่ละคนต่างให้การในรายละเอียดกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดโดยมีเจตนาให้จำเลยได้รับโทษ ซึ่งพนักงานสอบสวนบันทึกไว้ ลงวันเดือนปี และลายมือชื่อพนักงานสอบสวนผู้บันทึกกับลายมือชื่อผู้เสียหายแต่ละคนในฐานะผู้ร้องทุกข์ จึงเป็นคำร้องทุกข์ที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) และ 123 วรรคสาม และกรณีที่มีการกระทำความผิดต่อผู้เสียหายหลายคนไม่มีกฎหมายบังคับให้ผู้เสียหายทุกคนต้องมาแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนพร้อมกัน เพียงแต่ผู้เสียหายแต่ละคนต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเท่านั้น เมื่อคดีนี้ผู้เสียหายแต่ละคนร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด จึงฟังได้ว่า คดีนี้มีผู้เสียหายตั้งแต่สิบคนขึ้นไปครบองค์ประกอบความผิดใน ป.อ. มาตรา 344 และการที่จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคนให้ประกอบการงาน คือ สร้างภาพยนตร์ให้จำเลย โดยเจตนาจะไม่ใช้ค่าแรงงานหรือค่าจ้าง จนผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคนหลงเชื่อและมีการทำงานที่เกี่ยวข้องไปบางส่วน แม้ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคนยังสร้างภาพยนตร์ไม่แล้วเสร็จและจำเลยยังไม่ได้รับผลประโยชน์จากการสร้างภาพยนตร์นั้น การกระทำของจำเลยก็ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 344 แล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 344 และให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 1,485,000 บาท แก่ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคน ตามจำนวนที่ผู้เสียหายแต่ละคนได้รับความเสียหายและยังไม่ได้รับเงิน
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 344 จำคุก 2 ปี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 11 ขอถอนคำร้องทุกข์ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์สำหรับผู้เสียหายที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 11 ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2)
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2547 พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่า ฉ้อโกงแรงงานบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไป แล้วปล่อยตัวจำเลยไป ถือว่าจำเลยถูกจับกุมแล้ว พนักงานสอบสวนต้องส่งตัวจำเลยพร้อมสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการเพื่อฟ้องต่อศาลภายใน 48 ชั่วโมง หากไม่ฟ้องภายในกำหนดพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการต้องขอผัดฟ้องหรือได้รับอนุญาตจากอัยการสูงสุดนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 ซึ่งนำมาปรับใช้แก่คดีนี้โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 บัญญัติว่า “พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลนั้นไม่ได้ เว้นแต่ (1) เมื่อบุคคลนั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้าดังได้บัญญัติไว้ในมาตรา 80 (2) เมื่อพบบุคคลโดยมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าผู้นั้นน่าจะก่อเหตุร้ายให้เกิดภยันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นโดยมีเครื่องมือ อาวุธ หรือวัตถุอย่างอื่นอันสามารถอาจใช้ในการกระทำความผิด (3) เมื่อมีเหตุที่จะออกหมายจับบุคคลนั้นตามมาตรา 66 (2) แต่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับบุคคลนั้นได้ (4) เป็นการจับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หนีหรือจะหลบหนีในระหว่างถูกปล่อยชั่วคราวตามมาตรา 117 ดังนั้น การจับบุคคลใดจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาล หรือผู้นั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นให้จับได้โดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ดังนี้ การที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 ซึ่งนำมาปรับใช้แก่คดีนี้โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกจับ เพราะยังไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลและไม่เข้าข้อยกเว้นตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยยังไม่ถูกจับ จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 7 และมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ประกอบพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 ที่โจทก์ต้องฟ้องจำเลยภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่จำเลยถูกจับ หรือต้องผัดฟ้อง หรือได้รับอนุญาตให้ฟ้องคดีจากอัยการสูงสุด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้างไม่ผูกพันคดีนี้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามที่จำเลยฎีกาว่า องค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 344 ต้องมีผู้เสียหายไม่น้อยกว่า 10 คนขึ้นไป ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคนจึงต้องร้องทุกข์พร้อมกันก่อน จะนำคำให้การของผู้เสียหายแต่ละคนที่ให้การไว้ต่อพนักงานสอบสวนในภายหลัง มาถือเป็นคำร้องทุกข์ดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ไม่ได้นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้ความว่า ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคนทราบเรื่องความผิดและรู้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2547 ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคนจึงเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนระหว่างวันที่ 27 กรกฎาคม 2547 ถึงวันที่ 1 กันยายน 2547 โดยผู้เสียหายแต่ละคนต่างให้การในรายละเอียดกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิด โดยมีเจตนาให้จำเลยผู้กระทำความผิดได้รับโทษ ซึ่งพนักงานสอบสวนบันทึกไว้ ลงวันเดือนปี และลายมือชื่อพนักงานสอบสวน ผู้บันทึกกับลายมือชื่อผู้เสียหายแต่ละคนในฐานะผู้ร้องทุกข์ จึงเป็นคำร้องทุกข์ที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (7) และมาตรา 123 วรรคสาม แล้วและกรณีที่มีการกระทำความผิดต่อผู้เสียหายหลายคนไม่มีกฎหมายบังคับให้ผู้เสียหายทุกคนต้องมาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนพร้อมกัน เพียงแต่ผู้เสียหายแต่ละคนต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเท่านั้น เมื่อคดีนี้ผู้เสียหายแต่ละคนร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด จึงฟังได้ว่าคดีนี้มีผู้เสียหายตั้งแต่สิบคนขึ้นไปครบองค์ประกอบความผิดในมาตรา 344 แห่งประมวลกฎหมายอาญาแล้ว และที่จำเลยฎีกาว่า การกระทำความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวครบองค์ประกอบความผิดเมื่อผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคนลงมือทำงานสร้างภาพยนตร์ให้จำเลยแล้วเสร็จและจำเลยได้รับผลประโยชน์จากการสร้างภาพยนตร์นั้น เห็นว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 344 ผู้หลอกลวงต้องมีเจตนาทุจริตหลอกลวงผู้เสียหายโดยประสงค์ต่อผลให้ผู้เสียหายประกอบการงานให้แก่ตนหรือบุคคลที่สาม โดยเจตนาจะไม่ใช้ค่าแรงงานหรือค่าจ้าง หรือจะใช้ค่าแรงงานหรือค่าจ้างต่ำกว่าที่ตกลง คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่า จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคนให้ประกอบการงานคือ การสร้างภาพยนตร์ให้จำเลย โดยเจตนาจะไม่ใช้ค่าแรงงานหรือค่าจ้าง จนผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคนหลงเชื่อและมีการทำงานที่เกี่ยวข้องไปบางส่วน แม้ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคนยังสร้างภาพยนตร์ไม่แล้วเสร็จและจำเลยยังไม่ได้รับผลประโยชน์จากการสร้างภาพยนตร์นั้น การกระทำของจำเลยก็ครบองค์ประกอบความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลย 6,000 บาท อีกสถานหนึ่ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 4 เดือน ภายในระยะเวลาที่รอการลงโทษ กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรเป็นเวลา 12 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์