แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์และจำเลยได้รับการยกที่ดินส่วนที่ได้ครอบครองตั้งแต่บิดาทั้งสองฝ่ายยังมีชีวิตอยู่จนกระทั่งบิดาทั้งสองฝ่ายถึงแก่กรรมต่างก็ได้ครอบครองเป็นส่วนสัดในส่วนที่ได้ครอบครองนั้นโดยไม่มีการโต้แย้งแนวเขตซึ่งกันและกันเป็นเวลาประมาณ30ปีมาแล้วและต่อมาภายหลังมีการขอแบ่งแยกและออกโฉนดเป็นของตนก็ยังคงเป็นไปตามที่ต่างฝ่ายครอบครองมาแม้นับตั้งแต่เวลาที่ได้มีการออกโฉนดใหม่จนถึงวันฟ้องจะไม่ถึง10ปีก็ตามแต่ละคนย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของตนโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1382และเมื่อโจทก์และบริวารใช้ทางพิพาทเดินออกสู่ถนนสาธารณะเป็นเวลาเกินกว่า10ปีโจทก์ย่อมได้สิทธิภารจำยอมในที่ดินของจำเลยในส่วนที่ใช้มาเป็นเวลากว่า10ปีแล้วนั้นตามมาตรา1401ประกอบมาตรา1382แม้โจทก์อาจจะใช้เส้นทางอื่นได้ก็ไม่เป็นเหตุให้ภารจำยอมสิ้นไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 197989 จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 197948 จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมที่ดินโฉนดเลขที่ 146949 ที่ดินของโจทก์อยู่ติดต่อกับที่ดินของจำเลยทั้งสาม โจทก์ได้ปลูกบ้านอาศัยในที่ดินของโจทก์โจทก์และบริวารได้ใช้ทางเดินออกสู่ทางสาธารณะโดยใช้ทางเดินคร่อมแนวเขตที่ดินของจำเลยที่ 1 กับของจำเลยที่ 2 และที่ 3ทางกว้างเข้าไปในที่ดินแปลงละประมาณ 2 เมตร โจทก์ใช้ทางเดินโดยสงบเปิดเผย และเจตนาให้เกิดทางภารจำยอมเป็นเวลา 20 ปี มาแล้วโจทก์จึงได้ทางภารจำยอมโดยผลแห่งกฎหมาย เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน2534 จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันทำรั้วขึงลวดหนามปิดกั้นทางเดินเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้พิพากษาว่าที่ดินของจำเลยทั้งสาม ที่โจทก์ใช้เป็นทางผ่านตกเป็นภารทรัพย์แก่ที่ดินของโจทก์ ห้ามจำเลยทั้งสามเกี่ยวข้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามจดทะเบียนภารจำยอม หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรื้อถอนสิ่งปิดกั้นทาง กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 68,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และร่วมกันใช้ค่าเสียหายวันละ 300 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะเปิดทาง
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ไม่ได้ใช้ที่ดินตามฟ้องเป็นทางเดินโดยสงบ เปิดเผย เพื่อเจตนาให้ได้ทางภารจำยอม ทั้งไม่ถึง10 ปี ที่ดินของโจทก์กับจำเลยทั้งสามอาณาเขตติดต่อกันต่างถ้อยทีถ้อยอาศัยเดินผ่านที่ดินซึ่งกันและกัน ไม่มีผู้ใดเจตนาครอบครองให้ได้ภารจำยอม แม้จะเดินผ่านที่ดินส่วนใดเวลานานเพียงใด ก็ไม่ได้ภารจำยอม โจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้อยู่แล้วถึง 2 ทาง ดังนั้น การที่โจทก์มาฟ้องเป็นคดีนี้จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ที่ดินในเส้นสีน้ำเงินกว้างประมาณ2 เมตร ยาวประมาณ 10 เมตร ของที่ดินโฉนดเลขที่ 197948ตำบลประเวศ (คลองประเวศฝั่งใต้) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นของจำเลยที่ 1 และให้ที่ดิน ในเส้นสีแดง กว้างประมาณ2 เมตร ยาวประมาณ 10 เมตร ของที่ดินโฉนดเลขที่ 146949ตำบลดอกไม้ (คลองประเวศฝั่งใต้) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามแผนภาพแสดงที่ดินของจำเลยทั้งสามเอกสารหมาย จ.6 ตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 197989 ตำบลประเวศ (คลองประเวศฝั่งใต้) อำเภอพระโขนงกรุงเทพมหานคร ให้จำเลยทั้งสามไปจดทะเบียนภารจำยอม หากไม่ไปจดทะเบียนให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสามให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรื้อถอนรั้วสิ่งปิดกั้นทางภารจำยอมคำขออื่นนอกนั้นให้ยก
จำเลย ทั้ง สาม อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ทั้ง สาม ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เบื้องต้นตามที่คู่ความนำสืบรับกันว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 197989ตำบลประเวศ (คลองประเวศฝั่งใต้) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานครและโจทก์มีบ้านปลูกอยู่ในที่ดินดังกล่าว จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 197948 จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นเจ้าของร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ 146949 ที่ดินของโจทก์และจำเลยทั้งสามอยู่ติดต่อกัน และเดิมเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 187โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นบุตรนายนุด กริส ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3เป็นบุตรนายเผือก พักเจริญหรือภักดิ์เจริญ นายนุดกับนายเผือกเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน หลังจากนายนุดและนายเผือกถึงแก่กรรมแล้ว โจทก์กับจำเลยทั้งสามต่างก็ไปแบ่งแยกโฉนดตามส่วนสัดที่ได้รับการยกให้ตั้งแต่บิดายังมีชีวิตอยู่ ไม่เคยมีการโต้แย้งในส่วนสัดที่แต่ละคนต่างก็ครอบครองและขอออกโฉนด มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสามว่า ทางพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 197948 และโฉนดเลขที่ 146949 ของจำเลยทั้งสามตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 197989 ของโจทก์หรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์และบริวารใช้ทางพิพาทเพื่อออกสู่ทางสาธารณะมากว่า 10 ปีแล้ว
ปัญหาต่อไปคือ โจทก์ได้สิทธิภารจำยอมในทางพิพาทหรือไม่ตามข้อเท็จจริงที่นำสืบรับกันฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยทั้งสามได้รับการยกที่ดิน ส่วนที่ได้ครอบครองตั้งแต่บิดาทั้งสองฝ่ายยังมีชีวิตอยู่จนกระทั่งบิดาทั้งสองฝ่ายถึงแก่กรรม ต่างก็ได้ครอบครองเป็นส่วนสัดในส่วนที่ได้ครอบครองนั้นโดยไม่มีการโต้แย้งแนวเขตซึ่งกันและกันเป็นเวลาประมาณ 30 ปีมาแล้ว และต่อมาภายหลังมีการขอแบ่งแยกและออกโฉนดเป็นของตน ก็ยังคงเป็นไปตามที่ต่างฝ่ายครอบครองมา แม้นับตั้งแต่เวลาที่ได้มีการออกโฉนดใหม่ จนถึงวันฟ้องจะไม่ถึง 10 ปี ก็ตาม การที่บิดาทั้งสองฝ่ายมีเจตนายกให้ตั้งแต่ยังมีชีวิตและทั้งสองฝ่ายก็ได้เข้าครอบครอง ส่วนที่ได้รับยกให้นั้นโดยสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมาเป็นเวลากว่า 10 ปี แล้ว ดังนี้แต่ละคนย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของตนโดยการครอบครองปรปักษ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 และเมื่อฟังว่าโจทก์และบริวารใช้ทางพิพาทเดินออกสู่ถนนสาธารณะเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี ดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วโจทก์ย่อมได้สิทธิภารจำยอมในที่ดินของจำเลยทั้งสามในส่วนที่ใช้มาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้วนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1401 ประกอบ มาตรา 1382 แม้จะฟังได้ว่าโจทก์อาจจะใช้เส้นทางอื่นได้ก็ไม่เป็นเหตุให้ภารจำยอมสิ้นไป จำเลยทั้งสามไม่มีสิทธิที่จะปิดกั้นทางพิพาท
พิพากษายืน