แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ยื่นซองประกวดราคาเสนอขายเครื่องดูดฝุ่นให้จำเลยต่อมาจำเลยมีหนังสือเชิญโจทก์ไปทำสัญญา โจทก์ส่งผู้แทนไปลงนามในสัญญาซื้อขายแล้ว แต่ผู้อำนวยการของจำเลยยังไม่ลงนามเนื่องจากยังมีการต่อรองราคากันอยู่และปรากฏเงื่อนไขในการประกวดราคาว่า ถ้าโจทก์ไม่ไปทำสัญญากับจำเลยจำเลยจะริบหลักประกัน แสดงว่าสัญญาที่มุ่งจะทำนี้จะต้องทำเป็นหนังสือ เมื่อจำเลยยังไม่ลงนามในสัญญา ต้องถือว่ายังไม่มีสัญญาต่อกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 366 วรรคสอง สัญญาซื้อขายจึงยังไม่เกิดขึ้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยประกาศเชิญชวนบุคคลเข้าประกวดราคาเพื่อซื้อเครื่องดูดฝุ่น จำนวน 60 เครื่อง โจทก์ยื่นซองประกวดราคาเสนอขายเครื่องดูดฝุ่น เป็นเงิน 599,700 บาท ต่อมาจำเลยมีหนังสือแจ้งโจทก์ว่าจำเลยตกลงให้โจทก์เป็นผู้ชนะการประกวดราคาและให้โจทก์วางหลักประกันพร้อมกับให้โจทก์เข้าทำสัญญาต่อมาโจทก์มอบอำนาจให้นายแสนสุข วงษ์รุ่ง ไปลงนามแทนโจทก์ในสัญญาขายเครื่องดูดฝุ่นพร้อมกับนำหนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคารไปมอบให้จำเลยเป็นหลักประกันนายแสนสุขได้ลงนามแทนโจทก์แล้ว แต่จำเลยยังไม่ได้มอบคู่ฉบับสัญญาซื้อขายให้โจทก์เนื่องจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยยังมิได้ลงนามในสัญญาหลังจากที่ฝ่ายโจทก์ลงนามในสัญญาแล้วโจทก์ได้สั่งซื้อเครื่องดูดฝุ่นจำนวน 60 เครื่อง ของประเทศเดนมาร์กเพื่อส่งมอบให้แก่จำเลยสินค้าส่งเข้ามาถึงประเทศไทยตั้งแต่กลางเดือนมกราคม 2535โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทราบเพื่อขอรับคู่ฉบับสัญญาและขอส่งมอบเครื่องดูดฝุ่นให้จำเลยหลายครั้ง แต่จำเลยเพิกเฉยต่อมาจำเลยติดต่อขอให้โจทก์ลดราคาขายลงโจทก์มีหนังสือลงวันที่ 23มีนาคม 2535 แจ้งแก่จำเลยว่ายอมลดราคาซื้อขายลงเหลือ 581,709 บาทแต่จำเลยบ่ายเบี่ยงและไม่ตกลงในราคาที่โจทก์เสนอไปครั้งใหม่นี้และมีคำสั่งยกเลิกการประกวดราคาเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2535จำเลยไม่มีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญา เพราะการประกวดราคาได้เสร็จสิ้นลงแล้ว ทั้งจำเลยได้จัดทำสัญญาให้ฝ่ายโจทก์ลงนามแล้วทำให้โจทก์เสียหาย ต้องเสียค่าสั่งซื้อเครื่องดูดฝุ่น ค่าจ้างนำสินค้าออกจากท่าเรือ ค่าภาษีนำสินค้าเข้าและขาดกำไรที่จะได้รับขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหาย 355,860 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2534 กองนิติการของจำเลยเคยมีหนังสือแจ้งโจทก์ผู้ชนะการประกวดราคาให้ไปลงนามในแบบสัญญาซื้อขาย แต่หนังสือดังกล่าวมิใช่ข้อตกลงหรือสัญญาให้จำเลยต้องซื้อเครื่องดูดฝุ่นจากโจทก์ เพราะเป็นเพียงขั้นตอนเชิญผู้ชนะการประกวดราคามาลงนามในสัญญา ซึ่งจะต้องเสนอให้จำเลยลงนามในสัญญา ปรากฏว่าจำเลยยังมิได้ลงนามในสัญญาการซื้อขายยังไม่มีผลบังคับจำเลย จำเลยมีสิทธิยกเลิกการประกวดราคาตามเงื่อนไขการประกวดราคาซื้อพัสดุ จำเลยจึงไม่ลงนามในสัญญาและยกเลิกการประกวดราคา ไม่ทำให้โจทก์เสียหายการที่โจทก์สั่งซื้อเครื่องดูดฝุ่นก่อนที่จำเลยจะลงนามในสัญญาเป็นความประมาทเลินเล่อของโจทก์เอง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายใด ๆ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 165,671 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นเห็นว่า ปัญหาเรื่องสัญญาเกิดขึ้นแล้วหรือไม่ เป็นข้อกฎหมาย จึงมีคำสั่งรับฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่าได้มีสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์จำเลยเกิดขึ้นแล้วหรือไม่ข้อเท็จจริงเป็นอันยุติตามที่ศาลอุทธรณ์รับฟังมาว่าโจทก์ยื่นซองประกวดราคาเสนอขายเครื่องดูดฝุ่นให้จำเลย ต่อมาจำเลยมีหนังสือเอกสารหมาย ล.11 เชิญโจทก์ไปทำสัญญา โจทก์ส่งผู้แทนไปลงนามในสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย ล.24 แต่ผู้อำนวยการของจำเลยยังไม่ลงนามเนื่องจากยังมีการต่อรองราคากันอยู่ โดยหลังจากโจทก์ลงนามไปฝ่ายเดียวแล้ว โจทก์มีหนังสือเอกสารหมาย ล.18 ถึงจำเลยมีข้อความสำคัญว่า ตามที่ได้เกิดปัญหาเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มและทางจำเลยขอให้โจทก์ลดราคาลงอีกนั้น โจทก์ขอเสนอเงื่อนไขโดยจะลดราคาลง 3 เปอร์เซ็นต์ เป็นจำนวนเงินที่ลดลง 17,991 บาทและพร้อมที่จะส่งของให้ทันทีที่จำเลยติดต่อมา แต่จำเลยก็ยังเห็นว่าราคาแพงเกินควรอันเป็นเหตุให้ผู้อำนวยการของจำเลยยังไม่ลงนามในสัญญาซื้อขาย โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์เข้าทำสัญญากับจำเลยโจทก์มอบอำนาจให้ตัวแทนไปลงนามในสัญญาแทนโจทก์แล้วนอกจากนี้ปรากฏเงื่อนไขในการประกวดราคาตามเอกสารหมาย ล.1แผ่นที่ 3 ข้อ 11 ระบุว่า ถ้าโจทก์ไม่ไปทำสัญญากับจำเลยจำเลยจะริบหลักประกันเห็นได้ว่าสัญญาที่มุ่งจะทำนี้จะต้องทำเป็นหนังสือ ดังนั้น เมื่อยังมีปัญหาและจำเลยยังไม่ลงนามในสัญญาก็ต้องถือว่ายังไม่มีสัญญาต่อกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 366 วรรคสอง สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์จำเลยยังไม่เกิดขึ้นที่โจทก์ฎีกาว่า แม้สัญญายังไม่เกิด ก็ต้องถือว่าจำเลยทำละเมิดต่อโจทก์นั้น ในข้อนี้เห็นว่าไม่มีประเด็นต้องถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน