คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8740/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีขอจัดการมรดก ประเด็นในคดีมีว่า ผู้ร้องเป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือไม่ มีเหตุที่จะต้องตั้งผู้จัดการมรดกหรือไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 และบุคคลที่จะเป็นผู้จัดการมรดกมีคุณสมบัติต้องห้ามตามมาตรา 1718 หรือไม่
ขณะเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ซ. บุตรของเจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่ ผู้ร้องซึ่งเป็นบุตรของ ซ. จึงไม่มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดก ผู้ร้องจึงไม่เป็นทายาทของเจ้ามรดกอันจะมีสิทธิยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกโดยอ้างความเป็นทายาทได้ และเมื่อ ล. บุตรอีกคนหนึ่งของเจ้ามรดกได้ยื่นคำร้องขอรับที่ดินมรดก ซ. และ ถ. คัดค้าน แต่ต่อมา ซ. และ ถ. ได้ตกลงให้ ล. รับโอนที่ดินมรดกไปแต่ผู้เดียวและ ล. ได้ครอบครองทำกินโดยไม่มีผู้ใดคัดค้าน เช่นนี้ถือได้ว่า ซ. ถ. และ ล. ทายาทเจ้ามรดกได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกกันแล้วตามมาตรา 1750 วรรคหนึ่ง หาก ซ. ยังมีชีวิตอยู่ก็ไม่อาจเรียกร้องที่ดินมรดกตามที่ตกลงแบ่งปันกันได้ จึงไม่มีมรดกที่จะตกทอดแก่ผู้ร้อง ผู้ร้องจึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกได้เช่นกัน

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายทั้งสอง
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้องขอและตั้งผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของ นางเล็ก ผู้ตายด้วย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนายแสวง ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายปลอด กับนางตั้น ผู้ตายทั้งสอง กับให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ยกคำร้องคัดค้าน
ผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความทั้งสองฝ่ายมิได้ฎีกาคัดค้านว่า ผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายซอและนางเล็ก ซึ่งถึงแก่ความตายไปแล้ว นายซอบิดาผู้ร้องและนางเล็ก มารดาผู้คัดค้านทั้งสองเป็นบุตรของนายปลอด และนางตั้น ขณะมีชีวิตอยู่นายปลอดและนางตั้นมีทรัพย์สิน อันได้แก่ ที่ดินโฉนดเลขที่ 3437 ตำบลบางแก้ว อำเภอบางพลี (พระโขนง) จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ 10 ไร่ 3 งาน 64 ตารางวา เมื่อนายปลอดและนางตั้นถึงแก่ความตาย นางเล็กมารดาผู้คัดค้านทั้งสองได้ยื่นคำขอโอนที่ดินดังกล่าวมาเป็นของตนเอง โดยมีนายซอบิดาผู้ร้องและนางโถ ซึ่งเป็นทายาทนายปลอดและนางตั้นเจ้ามรดกยื่นคำคัดค้าน แต่หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2489 เจ้าพนักงานที่ดินได้โอนที่ดินดังกล่าวให้แก่นางเล็กมารดาผู้คัดค้านทั้งสองโดยนายซอและนางโถยอมให้นางเล็กรับโอนแต่ผู้เดียว ต่อมานางเล็กมารดาของผู้คัดค้านทั้งสองถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2540 ซึ่งบรรดาทายาทชั้นบุตรของนายปลอดและนางตั้นผู้ตายทั้งสองได้ถึงแก่ความตายไปหมดแล้วทุกคน คงเหลือแต่ทายาทชั้นหลานเท่านั้นที่ยังมีชีวิตอยู่ ตามบัญชีเครือญาติและแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร เอกสารท้ายคำแถลง ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2542 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสองมีว่า กรณีสมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายปลอดและนางตั้นผู้ตายทั้งสองหรือไม่ โดยผู้คัดค้านทั้งสองฎีกาว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 3437 ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายทั้งสองได้โอนกรรมสิทธิ์มาเป็นของนางเล็ก มารดาผู้คัดค้านทั้งสองแล้ว จึงไม่มีทรัพย์มรดกใดเหลืออยู่อีกที่ผู้ร้องจะร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายทั้งสองได้ เห็นว่า คดีร้องขอจัดการมรดก ประเด็นในคดีมีว่า ผู้ร้องเป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือไม่ มีเหตุที่จะต้องตั้งผู้จัดการมรดกหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 และบุคคลที่จะเป็นผู้จัดการมรดกมีคุณสมบัติต้องห้ามตามมาตรา 1718 หรือไม่ คดีนี้ขณะนายปลอดและนางตั้นเจ้ามรดกทั้งสองถึงแก่ความตาย นายซอซึ่งเป็นบุตรของเจ้ามรดกทั้งสองยังมีชีวิตอยู่ ผู้ร้องซึ่งเป็นบุตรของนายซอจึงไม่มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกทั้งสอง ผู้ร้องจึงไม่เป็นทายาทของเจ้ามรดกทั้งสองอันจะยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกโดยอ้างความเป็นทายาท ครั้นเมื่อนางเล็กบุตรของเจ้ามรดกทั้งสองได้ยื่นคำร้องขอรับโอนที่ดินมรดกตามโฉนดเลขที่ 3437 นายซอและนางโถซึ่งเป็นบุตรของเจ้ามรดกทั้งสองอีกคนหนึ่งได้ยื่นคำคัดค้าน ต่อมานายซอและนางโถได้ตกลงให้นางเล็กรับโอนที่ดินมรดกไปแต่ผู้เดียวและนางเล็กได้ครอบครองทำกินโดยไม่มีผู้ใดคัดค้านเช่นนี้ ถือได้ว่านายซอ นางโถและนางเล็กทายาทเจ้ามรดกทั้งสองได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกกันแล้วตามมาตรา 1750 วรรคหนึ่ง หากนายซอมีชีวิตอยู่ก็ไม่อาจเรียกร้องเอาที่ดินมรดกตามที่ตกลงแบ่งปันกันได้อีกจึงไม่มีมรดกที่จะตกทอดแก่ผู้ร้องได้ ดังนั้น ผู้ร้องจึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกได้เช่นกัน ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสองฟังขึ้น
อนึ่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 กำหนดให้ศาลต้องสั่งในเรื่อง ค่าฤชาธรรมเนียมไม่ว่าคู่ความจะมีคำขอหรือไม่ แม้จะให้เป็นพับกันไปก็ตาม แต่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นมิได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมและศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้แก้ไขในเรื่องนี้ จึงเป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำร้องขอของผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share