แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่พิพาทพร้อมบ้านพักซึ่งปลูกบนที่ดินโดยซื้อมาจากจำเลยร่วมทั้งสาม จำเลยเข้าไปอยู่อาศัยในที่พิพาทโดยไม่มีสิทธิทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ขับไล่จำเลยและให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าที่พิพาทเป็นของจำเลย โดยจำเลยซื้อที่พิพาทพร้อมบ้านพักจากจำเลยร่วมทั้งสามขณะที่พิพาทเป็นเพียงที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) และเข้าครอบครองที่พิพาทแล้ว แต่จำเลยร่วมทั้งสามไม่จดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่จำเลย กลับจำนองและขายที่ดินให้แก่โจทก์ โดยโจทก์รับซื้อไว้โดยไม่สุจริต ขอให้บังคับโจทก์โอนที่ดินพิพาทพร้อมบ้านให้แก่จำเลย คดีมีประเด็นข้อพิพาทเพียงข้อเดียวว่า ที่พิพาทและบ้านพักเป็นของโจทก์หรือจำเลย และมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ซื้อที่พิพาทจากจำเลยร่วมทั้งสามโดยสุจริตหรือไม่ ไม่มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยร่วมทั้งสามคบคิดกันโอนที่พิพาทให้แก่โจทก์หรือไม่ กรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) ที่จะเรียกจำเลยร่วมทั้งสามเข้ามาเป็นจำเลยร่วม เพราะไม่ใช่เรื่องที่จำเลยหรือจำเลยร่วมอาจใช้สิทธิฟ้องไล่เบี้ยกันได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเรียกให้จำเลยร่วมทั้งสามเข้ามาในคดีรวมทั้งมีคำสั่งรับฟ้องแย้งของจำเลยและจำเลยร่วมทั้งสามจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกามีอำนาจเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบเหล่านั้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง แต่เนื่องจากศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ดำเนินคดีสำหรับจำเลยและจำเลยร่วมจนเสร็จสิ้นกระแสความ จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสามมิได้ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ปัญหาว่าจำเลยร่วมทั้งสามต้องรับผิดต่อจำเลยเพียงใดจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่สมควรเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของศาลชั้นต้น
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ไม่ได้ระบุให้แน่ชัดว่าค่าฤชาธรรมเนียมชั้นใดให้เป็นพับ แต่กลับพิพากษาให้จำเลยร่วมทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ ทั้งที่โจทก์และจำเลยร่วมทั้งสามไม่ได้พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ ส่วนจำเลยซึ่งเป็นผู้ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์แม้จำเลยได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์โดยได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่ได้วินิจฉัยให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมศาลต่อศาลในนามของจำเลย ทั้งไม่ได้วินิจฉัยถึงค่าฤชาธรรมเนียมของจำเลยและจำเลยร่วมทั้งสามในศาลชั้นต้นว่าจะให้ใครเป็นผู้รับผิดซึ่งเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยออกไปจากที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 70,000 บาท แก่โจทก์และชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์เดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะออกไปจากที่ดินของโจทก์
ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอให้เรียกนางสิริพร นางสาวบุษบาหรืออลิสาและนายเกษมหรือ นนทโชค เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) ศาลชั้นต้นอนุญาต โดยเรียกนางสิริพร นางสาวบุษบาและนายเกษมว่า จำเลยร่วมที่ 1 ถึงที่ 3 ตามลำดับ
จำเลยให้การ แก้ไขคำให้การและฟ้องแย้ง ขอให้บังคับโจทก์และจำเลยร่วมทั้งสามร่วมกันเพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 8963 ตำบลหนองขาม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี พร้อมบ้านเลขที่ 192/61 กับที่ดินโฉนดเลขที่ 154149 ตำบลหนองขาม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี จากโจทก์ แล้วจดทะเบียนโอนที่ดินทั้งสองแปลงและบ้านเลขที่ 192/61 ให้แก่จำเลย หากโจทก์กับจำเลยร่วมทั้งสามไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา หากไม่สามารถโอนที่ดินและบ้านพักให้แก่จำเลยได้ ให้โจทก์และจำเลยร่วมทั้งสามร่วมกันชำระเงินให้แก่จำเลย 1,140,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ซื้อที่ดินทั้งสองแปลงและบ้านเลขที่ 192/61 มาโดยสุจริต ขอให้ยกฟ้องแย้ง
จำเลยร่วมทั้งสามให้การและฟ้องแย้ง ขอให้บังคับให้จำเลยชำระเงิน 380,000 บาท กับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ให้แก่จำเลยร่วมทั้งสามนับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การแก้ฟ้องแย้งของจำเลยร่วมทั้งสามว่า จำเลยไม่เคยผิดสัญญาที่ดินทั้งสองแปลงและบ้านพักกับจำเลย จำเลยร่วมทั้งสามจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยร่วมทั้งสาม
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากบ้านเลขที่ 192/61 ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 8963 เลขที่ดิน 437 และที่ดินโฉนดเลขที่ 154149 หมู่ที่ 11 ตำบลหนองขาม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 21,000 บาทและค่าเสียหายอีกเดือนละ 3,000 บาท แก่โจทก์ นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 5 ตุลาคม 2553) เป็นต้นไปจนกว่าจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไป ให้จำเลยร่วมที่ 3 ชำระเงินแก่จำเลย 920,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องแย้ง (ฟ้องแย้งวันที่ 17 มกราคม 2554) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย ให้จำเลยร่วมที่ 3 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความให้ 40,000 บาท คำขออื่นของโจทก์และจำเลยนอกจากนี้ให้ยก ยกฟ้องแย้งสำหรับจำเลยร่วมที่ 1 และจำเลยร่วมที่ 2 และให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยร่วมทั้งสาม ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนจำนองและโอนชำระหนี้ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 8963 ตำบลหนองขาม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี และนิติกรรมการจดทะเบียนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 154149 ตำบลหนองขาม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี กลับมาเป็นชื่อจำเลยร่วมที่ 2 เป็นผู้ถือสิทธิการครอบครอง และจำเลยร่วมที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ และให้จำเลยร่วมทั้งสามร่วมกันจดทะเบียนโอนใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 8963 และผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินเลขที่ 154149 ถ้าจำเลยร่วมทั้งสามไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน หากไม่สามารถจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองและกรรมสิทธิ์ให้จำเลยได้ เพราะสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้กระทำได้ หรือเป็นการพ้นวิสัย ให้จำเลยร่วมทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,140,000 บาท คืนจำเลย พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยฟ้องแย้ง (วันที่ 17 มกราคม 2554) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นของจำเลยนอกจากนี้ให้ยก ให้จำเลยร่วมทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ กำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท และให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมส่วนนี้ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 8963 ตำบลหนองขาม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี และบ้านเลขที่ 192/61 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินแปลงดังกล่าว กับที่ดินโฉนดเลขที่ 154149 ตำบลหนองขาม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยโจทก์ซื้อที่ดินทั้งสองแปลงและบ้านพักมาจากจำเลยร่วมทั้งสาม จำเลยเข้าไปอยู่อาศัยในที่ดินนั้นโดยไม่มีสิทธิเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ขับไล่จำเลยและให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าที่พิพาททั้งสองแปลงและบ้านพักเป็นของจำเลย ขอให้บังคับโจทก์ให้โอนที่พิพาททั้งสองแปลงและบ้านพักให้แก่จำเลย หากไม่สามารถโอนคืนได้ก็ให้โจทก์ชำระราคาที่ดินและบ้านพักให้แก่จำเลยจนครบจำนวน คดีมีประเด็นข้อพิพาทเพียงข้อเดียวว่า ที่พิพาททั้งสองแปลงและบ้านพักเป็นของโจทก์หรือจำเลย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า เดิมจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินทั้งสองแปลงและบ้านพักจากจำเลยร่วมทั้งสาม ขณะนั้นที่ดินโฉนดเลขที่ 154149 ยังไม่ได้ออกโฉนดที่ดิน เป็นเพียงที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) หลังจากนั้นจำเลยได้ชำระราคาที่ดินทั้งสองแปลงและบ้านพักให้แก่จำเลยร่วมทั้งสามครบถ้วนแล้ว ทั้งเข้าครอบครองที่ดินทั้งสองแปลงเพื่อตนตลอดมา แต่จำเลยร่วมทั้งสามไม่จดทะเบียนโอนที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่จำเลย กลับจำนองที่ดินดังกล่าวไว้แก่โจทก์และขายให้โจทก์โดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ จำเลยอ้างว่าโจทก์รับซื้อไว้โดยไม่สุจริต อันเป็นการต่อสู้ว่าจำเลยอยู่ในฐานะอันจะขอให้จดทะเบียนสิทธิของตนในที่ดินทั้งสองแปลงกับบ้านเลขที่ 192/61 ได้ก่อนที่โจทก์จะซื้อที่ดินทั้งสองแปลงจากจำเลยร่วมทั้งสาม จึงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ซื้อที่ดินทั้งสองแปลงกับบ้านเลขที่ 192/61 จากจำเลยร่วมทั้งสามโดยสุจริตหรือไม่ หากข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ซื้อมาโดยสุจริต กล่าวคือ ไม่รู้ถึงข้อความจริงที่จำเลยร่วมทั้งสามตกลงจะขายที่ดินทั้งสองแปลงและบ้านพักให้แก่จำเลย โจทก์ย่อมเป็นฝ่ายชนะคดี แต่หากฟังได้ว่าขณะที่โจทก์ซื้อที่ดินทั้งสองแปลงและบ้านพักจากจำเลยร่วมทั้งสามและขณะที่จดทะเบียนสิทธิการได้มาซึ่งที่ดินดังกล่าวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โจทก์ทราบดีว่าจำเลยอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน โจทก์ย่อมไม่อาจยกเอาการได้มาซึ่งที่ดินทั้งสองแปลงขึ้นใช้ยันจำเลยได้ แต่ไม่มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยร่วมทั้งสามคบคิดกันโอนที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่โจทก์หรือไม่ กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) ที่จะเรียกจำเลยร่วมทั้งสามเข้ามาเป็นจำเลยร่วม เพราะไม่ใช่เรื่องที่จำเลยหรือจำเลยร่วมอาจใช้สิทธิฟ้องไล่เบี้ยแก่กันได้ ทั้งไม่มีกฎหมายบังคับให้จำเลยร่วมซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเข้ามาในคดี รวมทั้งไม่มีเหตุจำเป็นที่จะเรียกจำเลยร่วมทั้งสามเข้ามาเป็นจำเลยร่วมตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) บัญญัติไว้ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเรียกให้จำเลยร่วมทั้งสามเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ทั้งเปิดโอกาสให้จำเลยฟ้องแย้งจำเลยร่วมทั้งสามและให้จำเลยร่วมทั้งสามฟ้องกลับจำเลย ล้วนแต่เป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายให้ทำได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเรียกให้จำเลยร่วมทั้งสามเข้ามาในคดี รวมทั้งมีคำสั่งรับฟ้องแย้งของจำเลยและจำเลยร่วมทั้งสามจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบเหล่านั้นได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า “ในกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม หรือที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนในเรื่องการเขียน และการยื่นหรือการส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่น ๆ หรือในการพิจารณาคดี การพิจารณาพยานหลักฐาน หรือการบังคับคดี เมื่อศาลเห็นสมควร หรือเมื่อคู่ความฝ่ายที่เสียหายเนื่องจากการที่มิได้ปฏิบัติเช่นว่านั้นยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียทั้งหมดหรือบางส่วน หรือสั่งแก้ไขหรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามที่ศาลเห็นสมควร…” แต่เนื่องจากศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ดำเนินคดีสำหรับจำเลยและจำเลยร่วมทั้งสามมาจนเสร็จสิ้นกระแสความ ทั้งศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้จำเลยร่วมทั้งสามร่วมกันจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่จำเลย หากไม่สามารถปฏิบัติได้ก็ให้ใช้ราคาที่ดินและดอกเบี้ยแก่จำเลย จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสามมิได้ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ปัญหาว่าจำเลยร่วมทั้งสามต้องรับผิดต่อจำเลยเพียงใดจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่เป็นปัญหาที่ศาลฎีกาต้องวินิจฉัย ศาลฎีกาจึงไม่เห็นสมควรเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของศาลชั้นต้น แต่จะวินิจฉัยปัญหาระหว่างโจทก์กับจำเลยไปตามประเด็นข้อพิพาท
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งไม่ได้ระบุให้แน่ชัดว่าเป็นค่าฤชาธรรมเนียมชั้นใดให้เป็นพับ แต่กลับพิพากษาให้จำเลยร่วมทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท ทั้งที่โจทก์และจำเลยร่วมทั้งสามไม่ได้พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ ส่วนจำเลยซึ่งเป็นผู้ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์แม้จำเลยได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์โดยได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่ได้วินิจฉัยให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมศาลต่อศาลในนามของจำเลย ทั้งไม่ได้วินิจฉัยถึงค่าฤชาธรรมเนียมของจำเลยและจำเลยร่วมทั้งสามในศาลชั้นต้นว่าจะให้ใครเป็นผู้รับผิดซึ่งเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247
พิพากษาแก้เป็นว่า ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นของโจทก์ จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสามกับค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และฎีกาของโจทก์และจำเลยให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2