แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ทรัพย์ที่ลูกหนี้โอนไปให้ผู้อื่น อันจะเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 นั้น หมายถึงทรัพย์ใด ๆ ของลูกหนี้ที่มีอยู่ได้มีการโอนไป ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากับองค์การคลังสินค้า 2 ฉบับ ฉบับแรกว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 แปรสภาพหัวมันสำปะหลังสดจากเกษตรกรที่นำมาจำนำแก่องค์การคลังสินค้าเป็นแป้งมันสำปะหลัง ฉบับที่สองเป็นสัญญาเก็บแป้งมันสำปะหลังที่คลังสินค้าของจำเลยที่ 1 โดยองค์การคลังสินค้าเป็นผู้ส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 1 อันเป็นสัญญาฝากทรัพย์ ดังนั้นแป้งมันสำปะหลังที่จำเลยที่ 1 แปรสภาพแล้วเก็บไว้ในคลังสินค้าของจำเลยที่ 1 จึงเป็นกรรมสิทธิ์ขององค์การคลังสินค้า หาใช่เป็นของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ของโจทก์ไม่ ทั้งองค์การคลังสินค้าได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อหายักยอก แม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จะร่วมกันนำเอาแป้งมันสำปะหลังที่เก็บไว้ที่คลังสินค้าของจำเลยที่ 1 ไปขาย ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดเพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของตนได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ทั้งแป้งมันสำปะหลังที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันนำไปขายก็มิใช่ทรัพย์ที่ถูกยึดหรืออายัด การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่ใช่การทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสียหรือสูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ที่ถูกยึดหรืออายัด เพื่อจะมิให้การเป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 187
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 187, 341, 350
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลเฉพาะข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 187, 350 ให้ประทับฟ้องเฉพาะข้อหาดังกล่าว ส่วนข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 187, 350 ประกอบมาตรา 83 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 187 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 และเป็นการกระทำหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิด 2 กระทง จำคุกกระทงละ 2 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 4 ปี ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 5 และที่ 6
โจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 กระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ และฐานเอาไปเสียซึ่งทรัพย์ที่ถูกยึดหรืออายัดเพื่อจะมิให้การเป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า แป้งมันสำปะหลังที่องค์การคลังสินค้าฝากเก็บไว้ที่คลังสินค้าของจำเลยที่ 1 เป็นของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่รับฝากเพียงแต่จำเลยที่ 1 จะต้องคืนตามปริมาณและคุณภาพที่ผู้ทรงใบประทวนสินค้านำมาเบิก ทั้งคำว่าทรัพย์ตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ไม่จำเป็นต้องเป็นของหนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันเอาแป้งมันสำปะหลังในคลังสินค้าไปขาย การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้และเมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งอายัดชั่วคราวเงินค่าจ้างแปรสภาพมันสำปะหลังสดเป็นแป้งมันสำปะหลังที่องค์การคลังสินค้าจะต้องชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ทราบแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 187 ด้วย ส่วนจำเลยที่ 4 โจทก์ก็ได้บรรยายฟ้องไว้แล้ว จำเลยที่ 4 จึงร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ด้วย เห็นว่า ทรัพย์ที่ลูกหนี้โอนไปให้ผู้อื่น อันจะเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 นั้น หมายถึงทรัพย์ใด ๆ ของลูกหนี้ที่มีอยู่ได้มีการโอนไป ข้อเท็จจริงได้ความตามสำนวนการสอบว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากับองค์การคลังสินค้า 2 ฉบับ ฉบับแรกเป็นสัญญาว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 แปรสภาพหัวมันสำปะหลังสดจากเกษตรกรที่นำมาจำนำแก่องค์การคลังสินค้าเป็นแป้งมันสำปะหลัง ฉบับที่สองเป็นสัญญาฝากเก็บแป้งมันสำปะหลังที่คลังสินค้าของจำเลยที่ 1 โดยองค์การคลังสินค้าเป็นผู้ส่งมอบให้จำเลยที่ 1 อันเป็นสัญญาฝากทรัพย์ ดังนั้น แป้งมันสำปะหลังที่จำเลยที่ 1 แปรสภาพแล้วเก็บไว้ในคลังสินค้าของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว จึงเป็นกรรมสิทธิ์ขององค์การคลังสินค้า หาใช่เป็นของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ของโจทก์ไม่ ดังจะเห็นได้ว่าองค์การคลังสินค้าได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อหายักยอก แม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันนำเอาแป้งมันสำปะหลังที่เก็บไว้ในคลังสินค้าของจำเลยที่ 1 ไปขาย ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดเพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของตนได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ส่วนที่โจทก์ขออายัดเงินค่าจ้างแปรสภาพมันสำปะหลังสดเป็นแป้งมันสำปะหลังที่องค์การคลังสินค้าจะต้องชำระให้แก่จำเลยที่ 1 นั้นเป็นสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อองค์การคลังสินค้าจริง ซึ่งองค์การคลังสินค้าจะต้องส่งเงินให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อนำมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์อยู่แล้วโดยไม่เกี่ยวกับที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นำเอาแป้งมันสำปะหลังไปขายแต่ประการใด ทั้งแป้งมันสำปะหลังที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันนำไปขายก็ไม่ใช่ทรัพย์ที่ถูกยึดหรืออายัด การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่ใช่การทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ที่ถูกยึดหรืออายัด เพื่อจะมิให้การเป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 187 ส่วนจำเลยที่ 4 นั้น ปรากฏตามคำฟ้องโดยชัดเจนว่าโจทก์ฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เท่านั้น มิได้ฟ้องจำเลยที่ 4 ในกรณีนี้ด้วย ที่โจทก์ฎีกาต่อมาว่า จำเลยที่ 1 ปิดกิจการโดยโอนทรัพย์ให้แก่จำเลยที่ 4 และนำป้ายของจำเลยที่ 4 มาปิดแทนจำเลยที่ 1 เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องขัดทรัพย์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ขายให้จำเลยที่ 4 แล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จึงเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้นั้น เห็นว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดมาแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 โอนทรัพย์ไปให้จำเลยที่ 4 ทั้งที่ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เป็นที่ดิน อาคาร รถยนต์ก็มี ซึ่งเป็นทรัพย์ที่จะต้องกระทำการเปลี่ยนแปลงทางเอกสารของทางราชการ โจทก์คงมีแต่แผ่นพลาสติกที่ติดประกาศรับสมัครพนักงานของจำเลยที่ 4 หน้าอาคารสำนักงานของจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่ใช่หลักฐานที่บ่งชี้ได้โดยชัดเจนว่าจำเลยที่ 1 ได้โอนทรัพย์ดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 4 ทั้งปรากฏว่าโจทก์ได้ยึดทรัพย์รวมทั้งที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานดังกล่าวโดยอ้างว่าเป็นของจำเลยที่ 1 ไปแล้ว แสดงว่าทรัพย์ดังกล่าวยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงทางทะเบียนเป็นของจำเลยที่ 4 ส่วนจำเลยที่ 1 นำสืบยืนยันว่า จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้โอนทรัพย์ให้แก่จำเลยที่ 4 เพียงแต่ให้จำเลยที่ 4 ใช้อาคารของจำเลยที่ 1 เป็นสำนักงานสาขาของจำเลยที่ 4 เท่านั้น ที่จำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องขัดทรัพย์อ้างว่า จำเลยที่ 1 โอนขายให้จำเลยที่ 4 แล้วนั้น ก็เป็นการยื่นคำร้องขึ้นในภายหลังโดยไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดสนับสนุน ซึ่งอาจเป็นการใช้สิทธิในทางศาลเพื่อประโยชน์อื่นก็เป็นได้ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 โอนทรัพย์ให้แก่จำเลยที่ 4 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จึงไม่มีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องขัดทรัพย์ดังกล่าวเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 187 แล้วนั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยให้เหตุผลไว้โดยละเอียดแล้ว แม้วินิจฉัยให้ก็ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง จึงไม่จำต้องวินิจฉัยซ้ำอีก
อนึ่ง คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 187, 350 ประกอบมาตรา 83 โดยกำหนดโทษจำคุกสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 แต่มิได้กำหนดโทษปรับสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 4 ซึ่งเป็นนิติบุคคลจึงไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ดี ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ศาลฎีกาพิพากษายืน จึงไม่จำต้องแก้ไขเรื่องโทษสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 4 อีก
พิพากษายืน