คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18460/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การขยายกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากกฎหมายมิได้บังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพียงแต่อย่างน้อยต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้รับไถ่ จึงจะบังคับกันได้
การไม่นำหนังสือหรือหลักฐานเป็นหนังสือไปจดทะเบียนหรือจดแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ คงมีผลทำให้คู่สัญญาไม่อาจยกการขยายเวลาขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วเท่านั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 496 วรรคสอง ดังนั้น การตกลงขยายกำหนดเวลาไถ่ตามหนังสือขอต่อสัญญาขายฝาก ซึ่งมีจำเลยที่ 1 ผู้รับไถ่ลงลายมือชื่อไว้ แม้มิได้นำไปจดทะเบียนหรือจดแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 แม้ไม่ได้ลงลายมือชื่อ แต่การที่จำเลยที่ 2 รู้เห็นยินยอมในการกระทำของจำเลยที่ 1 กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เชิดจำเลยที่ 1 หรือยอมให้จำเลยที่ 1 เชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการตกลงและทำหนังสือขยายกำหนดเวลาไถ่ให้แก่โจทก์ การลงลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับไถ่ด้วย หนังสือขยายกำหนดเวลาไถ่จึงมีผลผูกพันจำเลยทั้งสอง เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงโดยนำทรัพย์สินที่รับซื้อฝากไปขายก่อนครบกำหนดเวลาไถ่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,432,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน 670,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 22 มิถุนายน 2552) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2550 โจทก์จดทะเบียนขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 23663 ตำบลดงขี้เหล็ก อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี ให้ไว้แก่จำเลยทั้งสองเป็นเงิน 450,000 บาท มีกำหนดเวลาไถ่ 1 ปี ต่อมาวันที่ 9 พฤศจิกายน 2551 จำเลยที่ 1 ทำหนังสือขยายกำหนดเวลาไถ่ออกไปอีก 1 ปี นับจากวันที่ 14 พฤศจิกายน 2551 ถึงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2552 มอบให้แก่นายสมศักดิ์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ตามหนังสือเรื่องขอต่อสัญญาขายฝาก โดยจำเลยที่ 1 ได้รับประโยชน์ตอบแทนเป็นค่าดอกเบี้ย 90,000 บาท ต่อมาวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2552 จำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่บุคคลภายนอกในราคา 800,000 บาท โดยที่ดินดังกล่าวมีราคาประเมิน 1,020,600 บาท และผลอาสินในที่ดินเสียหายเป็นเงิน 100,000 บาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า หนังสือขยายกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากมีผลผูกพันจำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า การขยายกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากกฎหมายมิได้บังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพียงแต่อย่างน้อยต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้รับไถ่ จึงจะบังคับกันได้ การไม่นำหนังสือหรือหลักฐานเป็นหนังสือไปจดทะเบียนหรือจดแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ คงมีผลทำให้คู่สัญญาไม่อาจยกการขยายเวลาขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วเท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 496 วรรคสอง ดังนั้น การตกลงขยายกำหนดเวลาไถ่ตามหนังสือเรื่องขอต่อสัญญาขายฝาก ซึ่งมีจำเลยที่ 1 ผู้รับไถ่ลงลายมือชื่อไว้ แม้มิได้นำไปจดทะเบียนหรือจดแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ส่วนจะมีผลผูกพันจำเลยที่ 2 หรือไม่นั้น คงต้องพิจารณาว่าจำเลยที่ 2 ได้ให้ความยินยอมและมอบหมายให้จำเลยที่ 1 กระทำการแทนหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของคู่ความทั้งสองฝ่ายว่า ในการตกลงทำสัญญาขายฝาก โจทก์โดยนายสมศักดิ์ได้ติดต่อกับจำเลยที่ 1 และนายสำราญ ซึ่งเป็นคู่เขยกับจำเลยที่ 1 ตลอดมา โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ตกลงเรื่องราคาและรายละเอียดต่างๆ รวมทั้งค่านายหน้า ค่าธรรมเนียมและภาษี ในการจดทะเบียนขายฝาก และเป็นผู้มอบเงินตามสัญญาขายฝากให้นายสมศักดิ์รับไปแทนโจทก์ ทั้งนี้ จำเลยที่ 2 เบิกความยอมรับว่า จำเลยที่ 2 มอบหมายให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินที่รับซื้อฝาก และให้จำเลยที่ 1 ร่วมลงลายมือชื่อเป็นผู้รับซื้อฝากเพื่อให้โจทก์ติดต่อกับจำเลยที่ 1 ในกรณีที่จำเลยที่ 2 ไม่สามารถดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับที่ดินแปลงดังกล่าวได้ ทั้งจำเลยทั้งสองให้การอ้างว่า การที่โจทก์และนายสมศักดิ์ไม่ไปพบจำเลยทั้งสองที่สำนักงานที่ดินจังหวัดปราจีนบุรีในวันครบกำหนดเวลาไถ่และก่อนหน้านั้นอีก 1 วัน เป็นการละเลยต่อหน้าที่ที่จะต้องไปจดทะเบียนขยายกำหนดเวลาไถ่โดยไม่แจ้งเหตุ แม้จะรอต่อไปนานถึง 3 เดือน ฝ่ายโจทก์ก็ยังคงเพิกเฉย แสดงว่าจำเลยที่ 2 รู้เห็นยินยอมในการกระทำของจำเลยที่ 1 โดยมอบหมายให้จำเลยที่ 1 ตกลงขยายกำหนดเวลาไถ่และรับประโยชน์ตอบแทนจากโจทก์แทนจำเลยที่ 2 ด้วย พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองดังกล่าวย่อมทำให้โจทก์เชื่อว่าจำเลยที่ 1 มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 2 จึงเจรจาตกลงและมอบประโยชน์ตอบแทนให้แก่จำเลยที่ 1 กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เชิดจำเลยที่ 1 หรือยอมให้จำเลยที่ 1 เชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการตกลงและทำหนังสือขยายกำหนดเวลาไถ่ให้แก่โจทก์ การลงลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับไถ่ด้วย หนังสือขยายกำหนดเวลาไถ่ตามหนังสือเรื่องขอต่อสัญญาขายฝาก จึงมีผลผูกพันจำเลยทั้งสอง เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงโดยนำทรัพย์สินที่รับซื้อฝากไปขายให้แก่บุคคลภายนอกก่อนครบกำหนดเวลาไถ่ตามข้อตกลงขยายกำหนดเวลาไถ่ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องสูญเสียที่ดินและผลอาสินในที่ดินที่ขายฝาก จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share