คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 820/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 352 และความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารตาม ป.อ. มาตรา 188 นั้น แตกต่างกัน การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดฐานใดนั้น ต้องขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของแต่ละความผิดนั้น คดีนี้เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้ครอบครองเช็คพิพาทโดยโจทก์เป็นผู้มอบการครอบครองให้แก่จำเลย การที่จำเลยเอาเช็คพิพาทของโจทก์ไปเรียกเก็บเงิน นอกจากเป็นความผิดฐานยักยอกแล้ว ย่อมเป็นการกระทำให้เช็คพิพาทนั้นไร้ประโยชน์ที่จะใช้ได้อีก การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 188 อีกบทหนึ่งด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90, 91, 188, 352
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188, 352 วรรคแรก ให้ลงโทษตามมาตรา 188 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 129 กระทง จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวมเป็นจำคุก 774 เดือน แต่อัตราโทษอย่างสูงทุกกระทงความผิดมีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี ซึ่งไม่เกินสิบปี จึงให้จำคุกรวม 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีนายมานะ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง จำเลยเข้าทำงานเป็นพนักงานของโจทก์ตำแหน่งสมุห์บัญชี ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุดังฟ้อง จำเลยนำเช็ค 149 ฉบับ ของโจทก์ โดยมีนายยงยุทธ กรรมการผู้จัดการโจทก์ขณะนั้นเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย เข้าบัญชีของจำเลยที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็ค
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า โจทก์ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกองบังคับการตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ซึ่งไม่มีอำนาจสอบสวนตามกฎหมาย จึงไม่เป็นการร้องทุกข์และการที่โจทก์อ้างว่ารู้ถึงการกระทำความผิดของจำเลยเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2552 ก็เพื่อให้เห็นว่า เป็นการร้องทุกข์ภายในอายุความ ซึ่งความจริงโจทก์ควรจะทราบว่าจำเลยนำเช็คของโจทก์ไปเรียกเก็บเงินตั้งแต่โจทก์ให้จำเลยออกจากงานเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2551 และในวันเดียวกันนั้น โจทก์แจ้งอายัดเช็คจำนวน 9 ฉบับ ที่อยู่ในความครอบครองของจำเลย เมื่อโจทก์มาฟ้องเป็นคดีนี้วันที่ 6 มกราคม 2554 คดีของโจทก์จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวแม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 จำเลยจึงยกปัญหานี้ขึ้นฎีกาได้ ซึ่งข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของนายมานะในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3242/2552 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ว่า โจทก์ได้ขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกรายการบัญชีและใบนำฝากของจำเลย โดยได้รับรายการบัญชีเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2552 และได้รับเอกสารใบนำฝากเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2552 จึงทราบว่าจำเลยนำเช็คของโจทก์เข้าบัญชีของจำเลย เห็นว่า อายุความในการร้องทุกข์สำหรับความผิดอันยอมความได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 มีกำหนดเวลาสามเดือน นับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดประกอบกันทั้งสองประการ กฎหมายหาได้บัญญัติให้นับอายุความร้องทุกข์ตั้งแต่วันที่จำเลยกระทำความผิดไม่ ดังนั้น ถึงแม้ว่าโจทก์จะให้จำเลยออกจากงานเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2551 อันจะถือได้ว่าโจทก์รู้ตัวผู้กระทำความผิดก็ตาม แต่โจทก์ก็ยังไม่รู้เรื่องความผิด จนกระทั่งโจทก์ได้รับรายการบัญชีเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2552 และได้รับเอกสารใบนำฝากวันที่ 19 พฤศจิกายน 2552 เมื่อโจทก์ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนวันที่ 29 ตุลาคม 2552 ซึ่งอยู่ภายในกำหนดเวลาสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด แม้โจทก์นำคดีมาฟ้องหลังจากวันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเกินสามเดือน แต่ยังอยู่ภายในกำหนดอายุความตามมาตรา 95 คดีของโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อที่สองว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์หรือไม่ เห็นว่า การกู้ยืมเงินเกินกว่าสองพันบาทขึ้นไป ถ้าไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง เงินที่จำเลยอ้างว่าให้นายยงยุทธกู้ยืมไปนั้นมีจำนวนมาก แต่ไม่ปรากฏว่าได้มีการทำหลักฐานการกู้ยืมกันเป็นหนังสือ ข้อกล่าวอ้างของจำเลยคงมีเพียงคำเบิกความลอย ๆ ของจำเลยและจำเลยเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า เช็คส่วนใหญ่จำเลยเป็นผู้เขียนไม่ได้ระบุชื่อจำเลยเป็นผู้รับเงินเจือสมกับคำเบิกความของนายมานะว่าเช็คเป็นเช็คที่โจทก์สั่งจ่ายเพื่อค้ำประกันหนี้ค่าจ้าง ค่าวัสดุอุปกรณ์ให้แก่คู่ค้าของโจทก์ ที่โจทก์สั่งทำเพื่อใช้ในกิจการรับเหมาก่อสร้าง เมื่อโจทก์ชำระหนี้ให้แก่คู่ค้าครบถ้วนแล้ว คู่ค้าก็จะคืนเช็คให้แก่โจทก์เพื่อทำลายต่อไป โดยเช็คจำเลยเป็นผู้ทำ ผู้ส่ง และผู้รับคืนจากคู่ค้าทั้งต้องเป็นผู้ทำลายด้วย เมื่อเช็คพิพาทรวม 129 ฉบับ เป็นเช็คที่โจทก์ออกให้แก่คู่ค้าโดยมอบให้จำเลยเป็นผู้นำไปมอบให้แก่คู่ค้าของโจทก์ จำเลยจึงเป็นผู้ครอบครองเช็คพิพาท 129 ฉบับ ในฐานะตัวแทนของโจทก์ จำเลยมีหน้าที่ต้องนำเช็คพิพาท 129 ฉบับ ไปมอบให้แก่คู่ค้าของโจทก์ เมื่อจำเลยนำเช็คพิพาทเข้าบัญชีของจำเลยเพื่อเรียกเก็บเงินและมีการเรียกเก็บเงินตามเช็คพิพาทได้ พฤติการณ์เช่นนี้ถือได้ว่าเป็นการเบียดบังเอาเช็คพิพาทของโจทก์ไปโดยทุจริต การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานยักยอกเช็คพิพาท ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า ความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารตามมาตรา 188 หมายถึง ผู้กระทำความผิดต้องเอาพินัยกรรมหรือเอกสารใดของผู้อื่น โดยทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ โดยมิได้เอาเอกสารนั้นมาเป็นของตนเองและหากจำเลยกระทำความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ก็ไม่อาจเป็นความผิดตามมาตรา 188 ได้ นั้น เห็นว่า ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 และความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารตามมาตรา 188 นั้นแตกต่างกัน การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดฐานใดนั้น ต้องขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของแต่ละความผิดนั้น คดีนี้เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่า จำเลยเป็นผู้ครอบครองเช็คพิพาทโดยโจทก์เป็นผู้มอบการครอบครองให้แก่จำเลย การที่จำเลยเอาเช็คพิพาทของโจทก์ไปเรียกเก็บเงิน ย่อมเป็นการกระทำให้เช็คพิพาทนั้นไร้ประโยชน์ที่จะใช้ได้อีก การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 อีกบทหนึ่งด้วย ข้อเท็จจริงตามฎีกาที่จำเลยอ้างมานั้น ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงคดีนี้ สำหรับฎีกาข้ออื่นนอกจากนี้ เป็นประเด็นปลีกย่อย ซึ่งไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษาได้ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยให้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share