แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่แผนข้อ 6.3.3 หนี้ส่วน ฉ 1 และ 2 กำหนดให้เจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้และมีสิทธิได้รับชำระหนี้ คือ เจ้าหนี้ที่รวมทั้งที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลมีคำสั่งเป็นที่สุดให้ได้รับชำระหนี้และให้ยกคำขอรับชำระหนี้ และตามหนี้ส่วน ฉ 3 กำหนดให้เจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้แล้วมีคำสั่งเป็นที่สุดของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลให้ได้รับชำระหนี้หรือยกคำขอรับชำระหนี้และทำหนังสือแจ้งความประสงค์จะไม่รับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด จะได้รับชำระหนี้ในอัตราร้อยละ 10 ของเงินต้นนั้นตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/32 วรรคสอง (2) และ (3) และวรรคสาม เจ้าหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการซึ่งจะมีสิทธิได้รับชำระหนี้ต้องเป็นเจ้าหนี้ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้ ส่วนเจ้าหนี้นั้นจะได้รับชำระหนี้เพียงใดและอย่างไรต้องเป็นไปตามที่แผนกำหนดซึ่งได้จัดกลุ่มเจ้าหนี้และจัดสรรการชำระหนี้ไว้ แต่หากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลมีคำสั่งเป็นที่สุดให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายใดแล้ว เจ้าหนี้รายนั้นก็ย่อมไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้แม้แผนจะกำหนดให้เจ้าหนี้ดังกล่าวได้รับชำระหนี้ก็ตาม เพราะมิใช่เจ้าหนี้ที่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามบทบัญญัติดังกล่าว ทั้งกรณีแตกต่างกับที่แผนกำหนดให้เจ้าหนี้ที่ไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในเวลาที่กำหนดมีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามแผนอันเป็นกรณีถือว่าแผนกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/61 (1) ซึ่งเป็นบทบัญญัติยกเว้นมิให้เจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการและไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดต้องหมดสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ ไม่ได้หมายความรวมถึงเจ้าหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ด้วย ประกอบกับคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลที่ให้ยกคำขอรับชำระหนี้นั้นย่อมจะผูกพันคู่ความที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งลูกหนี้ซึ่งไม่ต้องชำระหนี้แก่เจ้าหนี้รายที่มีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ ดังนั้น แผนข้อ 6.3.3 หนี้ส่วน ฉ ในส่วนที่กำหนดให้เจ้าหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลมีคำสั่งเป็นที่สุดให้ยกคำขอรับชำระหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามเงื่อนไขการชำระหนี้นั้น เป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/32 ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 การที่แผนกำหนดให้เจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 ดังกล่าวมีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามแผนจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และตั้งลูกหนี้เป็นผู้ทำแผนเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2550 ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานว่า ในการประชุมเจ้าหนี้เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2550 เพื่อปรึกษาว่าจะยอมรับแผนและแผนที่แก้ไขหรือไม่ ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติพิเศษยอมรับแผนและแผนที่แก้ไขตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/46 ขอให้ศาลนัดพิจารณาแผนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้แจ้งกำหนดนัดพิจารณาแผนให้ผู้ทำแผน ลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้งหลายทราบโดยชอบตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/56
เจ้าหนี้รายที่ 14 ยื่นคำคัดค้านขอให้มีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผน
เจ้าหนี้รายที่ 26 และที่ 27 ยื่นคำคัดค้านขอให้มีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผนและให้ผู้ทำแผนนำแผนไปแก้ไขให้ถูกต้อง
ผู้ทำแผนยื่นคำชี้แจงว่า ลูกหนี้ขออนุญาตปลูกสร้างอาคารโดยชอบด้วยกฎหมาย ลูกหนี้มีเจตนามอบที่ดินด้านหลังอาคารส่วนที่ติดกับถนนศรีเวียงให้ส่วนราชการตั้งแต่เริ่มโครงการ ธนาคารเจ้าหนี้ผู้รับจำนองจะเป็นผู้รับชำระหนี้จากเจ้าหนี้ค่าห้องชุดและลูกหนี้สามารถไถ่ถอนห้องชุดได้ เจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 บางรายได้แสดงเจตนาที่จะปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลอาจจะมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้เพราะไม่ใช่หนี้เงิน แผนกำหนดให้เจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 ใช้สิทธิเลือกที่จะรับชำระหนี้แผนแสดงรายละเอียดสินทรัพย์ หนี้สินและภาระผูกพันของลูกหนี้ตามที่ปรากฏในแผนและเอกสารแนบแผนไม่ได้กำหนดให้เจ้าหนี้ที่มีลักษณะการทำธุรกรรมกับลูกหนี้เหมือนเจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 ที่ 5 ที่ 8 ที่ 9 และที่ 10 ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ มีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามแผน ที่แผนกำหนดให้เจ้าหนี้กลุ่มดังกล่าวที่ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ลูกหนี้จะชำระหนี้ตามเงื่อนไขการชำระหนี้เดิมหรือตามสัญญาของเจ้าหนี้รายนั้น เนื่องจากเป็นเจ้าหนี้จากการดำเนินธุรกิจตามปกติของลูกหนี้และเพื่อมิให้การดำเนินธุรกิจของลูกหนี้ต้องหยุดชะงัก แผนกำหนดเงื่อนไขการก่อหนี้ของลูกหนี้โดยนำทรัพย์หลักประกันที่อยู่กับเจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 ไปจำนองลำดับที่ 2 แก่เจ้าหนี้รายใหม่และต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 จึงไม่ได้ถ่ายโอนทรัพย์สินของลูกหนี้ ในช่วงระยะเวลาดำเนินการตามแผนลูกหนี้จะนำกระแสเงินสดจากการดำเนินธุรกิจไปชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามแผน จึงไม่มีเงินพอจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้น และแผนกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผนตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งลูกหนี้สามารถชำระหนี้ก่อนกำหนดได้ตามแผน ข้อ 6.5 และแม้ได้ดำเนินการตามแผนสำเร็จ ข้อกำหนดในแผน ข้อ 6 และข้อ 11.10 ก็ยังคงมีผลผูกพันเจ้าหนี้และลูกหนี้ต่อไป ลูกหนี้จึงต้องชำระหนี้ให้ครบถ้วนตามแผนและแผนสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง
ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้วมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ
เจ้าหนี้รายที่ 14 ที่ 26 และที่ 27 อุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้รายที่ 14 ที่ 26 และที่ 27 ข้อแรกว่า ข้อเสนอในการชำระหนี้ตามแผนสำหรับเจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 มีความเท่าเทียมกันหรือไม่ เห็นว่า ตามแผน ข้อ 6.3.2 กำหนดให้เจ้าหนี้ กลุ่มที่ 2 เจ้าหนี้ค่าห้องชุดที่ชำระเงินดาวน์ครบถ้วนจะได้รับการจัดสรรชำระหนี้ตามหนี้ส่วน ฉ และ ช ส่วนแผน ข้อ 6.3.3 หนี้ส่วน ฉ กำหนดให้ลูกหนี้ชำระหนี้เฉพาะเงินต้นซึ่งก็คือเงินดาวน์ค่าห้องชุดที่เจ้าหนี้ชำระให้ลูกหนี้ครบถ้วนแล้ว และหนี้ส่วน ฉ 1 และ ฉ 2 กำหนดให้เจ้าหนี้ที่จะได้รับชำระหนี้ตามเงื่อนไขหนี้ส่วน ฉ คือ เจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้และเจ้าหนี้ที่มีลักษณะการทำธุรกรรมกับลูกหนี้เหมือนเจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 ที่ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ เมื่อพิจารณาสิทธิและเงื่อนไขที่เจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 จะได้รับชำระหนี้ส่วน ฉ แล้ว แบ่งเป็น 3 กรณี กล่าวคือ กรณีที่หนึ่ง ตามหนี้ส่วน ฉ 2 เจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 ทั้งที่ยื่นและไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ซึ่งทำหนังสือแจ้งความประสงค์ถึงผู้บริหารแผนว่าจะรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดกรณีที่ปลอดการยึดทรัพย์หรือกรณีที่ถูกยึดทรัพย์ตามหนี้ส่วน ฉ 2.1 และ 2.2 เจ้าหนี้นั้นจะต้องชำระเงินส่วนที่เหลือทั้งหมดให้แก่ลูกหนี้บริษัทพรีเชียส อินทีเรีย จำกัด และบริษัทพรีเชียส ซัพพลาย จำกัด ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจะซื้อจะขายกรรมสิทธิ์ห้องชุด สัญญารับจ้างตกแต่งห้องชุดและสัญญาซื้อขายวัสดุและอุปกรณ์ตกแต่งห้องชุดตามลำดับ แล้วผู้บริหารแผนจะให้ลูกหนี้ไถ่ถอนหลักประกันจากเจ้าหนี้ผู้รับจำนองและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้เจ้าหนี้ภายในกำหนดเวลาที่แผนระบุไว้ หากกรณีมีเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้เจ้าหนี้ได้ตามหนี้ส่วน ฉ 2.4 ลูกหนี้จะชำระเงินดาวน์ทั้งหมดแก่เจ้าหนี้ กรณีที่สอง ตามหนี้ส่วน ฉ 3 เจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้และทำหนังสือแจ้งความประสงค์ไม่รับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด จะได้รับชำระหนี้ในอัตราร้อยละ 10 ของหนี้เงินต้น และกรณีที่สามหนี้ส่วน ฉ 4 เจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 ที่ไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้และแจ้งความประสงค์ไม่รับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด ให้หมดสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ ดังนี้ เห็นได้ว่าแผนกำหนดหลักเกณฑ์ให้เจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 ที่ต่างรายกันตามแต่ละกรณีดังกล่าวจะได้รับชำระหนี้เงินต้นหรือเงินดาวน์ที่ได้ชำระไปครบถ้วนแล้วคืนเป็นจำนวนเงินแตกต่างกัน โดยถือเอาการแจ้งความประสงค์รับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดและการชำระเงินส่วนที่เหลือตามสัญญาเดิมแก่ฝ่ายลูกหนี้เป็นเกณฑ์แบ่งแยก ซึ่งให้เจ้าหนี้รายที่แจ้งความประสงค์รับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดแล้วลูกหนี้ไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ได้กรณีมีเหตุสุดวิสัยเท่านั้นจึงจะได้รับเงินดาวน์ทั้งหมดคืนส่วนเจ้าหนี้รายที่แจ้งความประสงค์ไม่รับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดจะได้รับเงินดาวน์คืนเพียงร้อยละ 10 ของเงินดาวน์ทั้งหมดหรือไม่ได้รับเงินดาวน์คืนเลยตามที่แบ่งแยกว่าได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้หรือไม่ แม้ผู้ทำแผนจะยื่นคำชี้แจงว่าข้อเสนอในการชำระหนี้ดังกล่าวเป็นการให้สิทธิเจ้าหนี้เลือกที่จะรับชำระหนี้ก็ตาม แต่เห็นได้ว่าเสมือนการบังคับให้เจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 เลือกแจ้งความประสงค์รับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดและชำระเงินส่วนที่เหลือตามสัญญาเดิมแก่ลูกหนี้ เพราะหากเจ้าหนี้เลือกในทางที่ไม่ประสงค์จะรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดและไม่ชำระเงินส่วนที่เหลือตามสัญญาเดิมแก่ลูกหนี้แล้ว เจ้าหนี้จะได้รับเงินดาวน์คืนเป็นจำนวนน้อยหรือไม่ได้คืนเลยดังกล่าวอันเป็นการได้รับผลเสียหายมากกว่า ทั้งที่ลูกหนี้เป็นฝ่ายที่ก่อสร้างอาคารชุดไม่แล้วเสร็จตามกำหนดเวลาเพราะมีปัญหาขาดเงินทุนในการก่อสร้าง ประกอบกับเป็นการให้เจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 เลือกเพื่อคาดหวังผลในอนาคตที่จะได้รับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดและยังต้องชำระเงินส่วนที่เหลือแก่ลูกหนี้อีก การให้เจ้าหนี้เลือกดังกล่าวถือมิได้ว่าเป็นสิทธิแท้จริงที่เจ้าหนี้สามารถใช้ได้โดยสมัครใจ ทั้งเจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 เป็นผู้บริโภคที่ทำสัญญาจะซื้อจะขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดกับลูกหนี้ แผนควรมีข้อเสนอในการชำระหนี้โดยเสมอภาคกันเพื่อให้ได้รับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ตามสมควร ข้อเสนอในการชำระหนี้ตามแผนสำหรับเจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 จึงไม่มีความเท่าเทียมกัน ถือว่าแผนมิได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการชำระหนี้ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/58 (2) ประกอบด้วยมาตรา 90/42 ตรี อุทธรณ์ของเจ้าหนี้รายที่ 14 ที่ 26 และที่ 27 ข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้รายที่ 14 ที่ 26 และที่ 27 ข้อต่อไปมีว่า การที่แผนกำหนดให้เจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ มีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามแผนเป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่าเจ้าหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการซึ่งจะมีสิทธิได้รับชำระหนี้นั้นต้องเป็นเจ้าหนี้ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/32 วรรคสอง (2) และ (3) และวรรคสามส่วนเจ้าหนี้นั้นจะได้รับชำระหนี้เพียงใดและอย่างไรต้องเป็นไปตามที่แผนกำหนดซึ่งได้จัดกลุ่มเจ้าหนี้และจัดสรรการชำระหนี้ไว้ เนื่องจากแผนอาจกำหนดลดจำนวนหนี้ลงหรือชำระหนี้อย่างอื่นแทน เช่น การโอนทรัพย์สินชำระหนี้หรือการแปลงหนี้เป็นทุน แต่หากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลมีคำสั่งเป็นที่สุดให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายใดแล้ว เจ้าหนี้รายนั้นก็ย่อมไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้แม้แผนจะได้กำหนดให้เจ้าหนี้ดังกล่าวได้รับชำระหนี้ก็ตาม เพราะมิใช่เจ้าหนี้ที่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามบทบัญญัติดังกล่าว ทั้งกรณีแตกต่างกับที่แผนกำหนดให้เจ้าหนี้ที่ไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในเวลาที่กำหนดมีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามแผนอันเป็นกรณีถือว่าแผนกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/61 (1) ซึ่งเป็นบทบัญญัติยกเว้นมิให้เจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการและไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดต้องหมดสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ ไม่ได้หมายความรวมถึงเจ้าหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ด้วย ประกอบกับคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลที่ให้ยกคำขอรับชำระหนี้นั้นย่อมจะผูกพันคู่ความที่เกี่ยวข้องรวมทั้งลูกหนี้ซึ่งไม่ต้องชำระหนี้แก่เจ้าหนี้รายที่มีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ นอกจากนี้ตามแผน ข้อ 6.3.3 หนี้ส่วน ฉ 1 และ 2 ได้กำหนดให้เจ้าหนี้ที่มีลักษณะการทำธุรกรรมกับลูกหนี้เหมือนเจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 ที่ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ไว้แล้วด้วย ส่วนที่ผู้ทำแผนยื่นคำชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า เนื่องจากเจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 บางรายต้องการห้องชุดที่ทำสัญญาจะซื้อจะขายและได้แสดงเจตนาที่จะปฏิบัติตามสัญญา เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลอาจพิจารณายกคำขอรับชำระหนี้เพราะมิใช่หนี้เงินนั้น เห็นว่า ข้ออ้างของผู้ทำแผนเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าเจ้าหนี้รายใดและมีจำนวนกี่รายซึ่งหากเป็นจริงก็เป็นเรื่องที่ลูกหนี้โดยผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผนสามารถปฏิบัติตามสัญญาที่ทำไว้แก่เจ้าหนี้รายนั้นต่อไปได้ ไม่จำเป็นต้องกำหนดเป็นข้อเสนอในการชำระหนี้ตามแผนก็ได้ แผน ข้อ 6.3.3 หนี้ส่วน ฉ ในส่วนที่กำหนดให้เจ้าหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลมีคำสั่งเป็นที่สุดให้ยกคำขอรับชำระหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามเงื่อนไขการชำระหนี้นั้น เป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/32 ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 การที่แผนกำหนดให้เจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 ดังกล่าวมีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามแผนจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของเจ้าหนี้รายที่ 14 ที่ 26 และที่ 27 ข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้รายที่ 26 และที่ 27ข้อต่อไปมีว่า การที่แผนมีข้อเสนอในการชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ต่างกลุ่มกันได้รับชำระหนี้แตกต่างกัน เป็นการเลือกปฏิบัติแก่เจ้าหนี้บางกลุ่มอันเป็นการจัดทำแผนโดยไม่สุจริตหรือไม่ เห็นว่า เจ้าหนี้กลุ่มดังกล่าวต่างเป็นเจ้าหนี้ไม่มีประกัน แม้แผนอาจกำหนดให้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ที่อยู่ต่างกลุ่มกันแตกต่างกันได้ แต่การชำระหนี้ให้เจ้าหนี้แต่ละกลุ่มจะต้องกำหนดด้วยความเป็นธรรมและไม่มีการเลือกปฏิบัติด้วย ผู้ทำแผนจึงมีหน้าที่ต้องชี้แจงถึงข้อเท็จจริงและเหตุผลอันสมควรที่กำหนดให้เจ้าหนี้ต่างกลุ่มกันได้รับชำระหนี้แตกต่างกัน แต่ผู้ทำแผนคงชี้แจงแต่เหตุผลการกำหนดข้อเสนอในการชำระหนี้ให้เจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 ที่ 5 ที่ 8 ถึงที่ 10 เท่านั้น มิได้ชี้แจงเหตุผลอันสมควรของการกำหนดข้อเสนอในการชำระหนี้ให้เจ้าหนี้กลุ่มที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 11 และที่ 12 ที่ได้รับชำระหนี้จำนวนแตกต่างอย่างมากกับเจ้าหนี้กลุ่มข้างต้น กรณีย่อมไม่เป็นธรรมแก่เจ้าหนี้กลุ่มที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 11 และที่ 12 ถือว่าการที่แผนมีข้อเสนอในการชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ต่างกลุ่มกันได้รับชำระหนี้แตกต่างกันมากดังกล่าว เป็นการเลือกปฏิบัติแก่เจ้าหนี้บางกลุ่มอันเป็นการจัดทำแผนโดยไม่สุจริต ดังนี้ เมื่อแผนมีข้อเสนอในการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้กลุ่มเดียวกันไม่เท่าเทียมกันและเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายกับเป็นการจัดทำแผนโดยไม่สุจริตทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่เจ้าหนี้อื่น แผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของเจ้าหนี้รายที่ 26 และที่ 27 ข้อนี้ฟังขึ้น ส่วนปัญหาข้ออื่นตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ทั้งสามไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะมิได้ทำให้ผลคดีเปลี่ยนไป
อนึ่ง การอุทธรณ์คำสั่งเห็นชอบด้วยแผน ถือเป็นการอุทธรณ์คำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท เจ้าหนี้รายที่ 14 เสียค่าขึ้นศาลมา 1,000 บาท และเจ้าหนี้รายที่ 26 และที่ 27 เสียค่าขึ้นศาลมา 1,000 บาท จึงให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เสียเกินมา
พิพากษากลับ มีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผน และมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/58 วรรคสาม คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินมา 800 บาท แก่เจ้าหนี้รายที่ 14 และแก่เจ้าหนี้รายที่ 26 และที่ 27 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผนทั้งสองศาลนอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ