คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16202/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 มิได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบในฐานะเป็นผู้ประกอบอาชีพรับซื้อของเก่าจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ เสมือนไม่ใส่ใจหรือไม่รับรู้ว่าจะเป็นทรัพย์สินที่ผู้นำมาขายได้มาโดยผิดกฎหมายหรือไม่ จึงเป็นการรับซื้อทรัพย์สินไว้โดยประมาท มีผลทำให้บริษัท ส. เจ้าของทรัพย์สินได้รับความเสียหาย แม้ในคดีอาญาที่จำเลยที่ 3 ถูกฟ้องข้อหารับของโจรจะวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานของโจทก์ในคดีอาญายังไม่พอรับฟังว่า จำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานรับของโจร แต่ก็เป็นข้อเท็จจริงในประเด็นที่ว่าจำเลยที่ 3 มิได้กระทำโดยเจตนาเท่านั้น ยังไม่มีการวินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 3 กระทำโดยประมาทหรือไม่ ศาลย่อมวินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบกันมาในสำนวนคดีนี้ได้ว่า จำเลยที่ 3 รับซื้อทรัพย์สินไว้โดยประมาทเลินเล่อ อันเป็นการกระทำละเมิดต่อบริษัท ส. โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับขนส่งยอมรับผิดชำระค่าเสียหายแก่บริษัท ส. ในการที่ของอันเขาได้มอบหมายแก่ตนให้ขนส่งนั้นสูญหายไป ย่อมรับช่วงสิทธิจากบริษัทดังกล่าวเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้กระทำละเมิดได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 226, 227 และ 616

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่โจทก์ใช้เงินไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง 42,124.39 บาท รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 891,694.01 บาท
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 849,569.62 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 29 เมษายน 2552) ต้องไม่เกิน 42,124.39 บาท กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 จำเลยที่ 4 ถึงแก่ความตาย โจทก์ยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกนางสุภาพ ทายาทของจำเลยที่ 4 เข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งตั้งบุคคลผู้ถูกเรียกเป็นคู่ความแทน
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 849,269.62 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 42,124.39 บาท กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้รวม 8,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีนายกฤษฎ์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความได้ความว่า ทรัพย์ที่ถูกลักไปเป็นชิ้นส่วนโครงเหล็กเครื่องปรับอากาศ มีลักษณะตามภาพถ่าย และได้ความตามคำเบิกความของจำเลยที่ 3 ว่า ชิ้นส่วนโครงเหล็กเครื่องปรับอากาศที่รับซื้อจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 มีน้ำหนักถึง 7 ตันเศษ รับซื้อไว้เป็นเงิน 120,000 ถึง 130,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 ได้มาติดต่อขอขายเศษเหล็ก อ้างว่าเป็นเจ้าของ เป็นเหล็กผิดขนาด ล้างสต็อกจากโรงงาน จำเลยที่ 3 ขึ้นไปตรวจสอบบนรถบรรทุกแล้ว ภายในรถมีเศษเหล็กระเกะระกะมีลักษณะยาว บาง และสั้นสลับกัน ไม่เท่ากัน มีทั้งยาว 40, 50 และ 60 เซนติเมตร เหล็กมีลักษณะคดงอ จึงเห็นว่าไม่มีปัญหาและได้รับซื้อไว้ในราคาตามท้องตลาดทั่วไป แม้จำเลยที่ 3 จะมีนายบุญฤทธิ์ ซึ่งมีอาชีพรับซื้อพลาสติกเก่าและใหม่อยู่ใกล้บ้านจำเลยที่ 3 มาเป็นพยานเบิกความว่า นายบุญฤทธิ์เห็นเหล็กที่จำเลยที่ 3 รับซื้อเป็นรูปสี่เหลี่ยม ลักษณะบาง สั้นบ้างยาวบ้าง เป็นกองใหญ่ ลักษณะวางกองกระจายไม่ได้เป็นหีบห่อ มีลักษณะงอบ้าง แต่นายบุญฤทธิ์ตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า นายบุญฤทธิ์เห็นเมื่อเหล็กถูกนำลงจากรถแล้วจึงวางกระจัดกระจาย แสดงว่านายบุญฤทธิ์ไม่ได้เห็นสภาพของชิ้นส่วนโครงเหล็กขณะที่ยังอยู่ในรถบรรทุก คงมีเพียงคำเบิกความของจำเลยที่ 3 ที่อ้างว่าชิ้นส่วนโครงเหล็กวางระเกะระกะอยู่ในรถบรรทุก แต่เมื่อพิจารณาถึงสภาพของชิ้นส่วนโครงเหล็กตามภาพถ่าย เห็นได้อย่างชัดเจนว่าเป็นของใหม่ แบ่งแยกเป็นพวก ๆ ตามขนาดและรูปร่างที่วางซ้อนกันเป็นระเบียบ ประกอบกับโดยสภาพของเหล็กซึ่งเป็นโลหะมีน้ำหนักมาก เมื่อเรียงซ้อนกันเพื่อการขนส่ง น่าจะต้องจัดวางให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่น่าจะวางระเกะระกะ การที่จำเลยที่ 3 เบิกความลอย ๆ เพียงเพื่อพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริงให้เห็นว่าเหล็กที่จำเลยที่ 3 รับซื้อไว้เป็นเศษเหล็ก จึงไม่มีน้ำหนักแก่การรับฟัง ทั้งจำเลยที่ 3 ก็เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า ลักษณะของรถที่ขนสินค้าเหล็กเป็นรถตู้ปิดทึบ จำเลยที่ 3 ไม่ได้ตรวจสอบว่าเป็นเหล็กล้างสต็อกจริงหรือไม่ โดยที่ไม่เคยซื้อเหล็กจากจำเลยที่ 1 มาก่อน ขัดแย้งกับที่จำเลยที่ 3 อ้างว่าเวลารับซื้อของจะตรวจสอบลักษณะการบรรจุหีบห่อหรือเป็นมัดหรือเป็นชิ้นงาน ถ้าเป็นสายไฟ สายโทรศัพท์ ท่อน้ำที่สงสัยว่าเป็นของราชการหรือสาธารณะจะไม่รับซื้อ ทั้งยังรับซื้อไว้ในราคาของเก่าด้วยวิธีชั่งน้ำหนัก ลำพังการสอบถามแล้วจำเลยที่ 1 อ้างว่าเป็นเหล็กล้างสต็อกเพราะทำมาผิดขนาด ยังไม่เพียงพอจะถือว่าจำเลยที่ 3 ใช้ความระมัดระวังตรวจสอบเสียให้ดีในฐานะเป็นผู้ประกอบอาชีพรับซื้อของเก่าจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ เสมือนไม่ใส่ใจหรือไม่รับรู้ว่าจะเป็นทรัพย์สินที่ผู้นำมาขายได้มาโดยผิดกฎหมายหรือไม่ จึงเป็นการรับซื้อทรัพย์สินไว้โดยประมาท มีผลทำให้บริษัทสยามคูล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เจ้าของทรัพย์สินนั้นได้รับความเสียหาย แม้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 261/2553 ของศาลจังหวัดราชบุรี ซึ่งจำเลยที่ 3 ถูกฟ้องข้อหารับของโจร ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน เท่ากับวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานของโจทก์ในคดีอาญายังไม่พอรับฟังว่าจำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานรับของโจร แต่ก็เป็นข้อเท็จจริงในประเด็นที่ว่าจำเลยที่ 3 มิได้กระทำความผิดโดยเจตนาเท่านั้น ยังไม่มีการวินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 3 กระทำการโดยประมาทหรือไม่ ศาลย่อมวินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นจากพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบกันมาในสำนวนคดีนี้ได้ว่า จำเลยที่ 3 รับซื้อทรัพย์สินไว้โดยประมาทเลินเล่อ อันเป็นการกระทำละเมิดต่อบริษัทสยามคูล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับขนส่งยอมรับผิดชำระค่าเสียหายแก่บริษัทสยามคูล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในการที่ของอันเขาได้มอบหมายแก่ตนให้ขนส่งนั้นสูญหายไป ย่อมรับช่วงสิทธิจากบริษัทดังกล่าวเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้กระทำละเมิดได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 226, 227 และ 616 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยอื่นนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น ฎีกาข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 5,000 บาท แทนโจทก์

Share