คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3058/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง กำหนดราคายาสูบที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.2549 ลงวันที่ 18 กันยายน 2549 และประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง กำหนดราคายาสูบที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.2550 ลงวันที่ 30 มีนาคม 2550 ออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ยาสูบ พ.ศ.2509 มาตรา 23 เพื่อมิให้มีการขายบุหรี่ซิกาแรตเกินราคาที่กำหนด โดยบัญญัติโทษปรับสำหรับผู้ฝ่าฝืนตามมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน จึงเป็นการออกประกาศที่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยกรมสรรพากรให้ใช้ราคาขายปลีกตามประกาศเป็นฐานในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มขึ้นตามที่โจทก์อ้าง หากกรมสรรพากรใช้ราคาขายปลีกดังกล่าวเป็นฐานในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มขึ้นตามมาตรา 79/5 (2) และโจทก์ได้รับความเสียหาย ก็เป็นเรื่องที่โจทก์จะโต้แย้งคัดค้านต่อกรมสรรพากร หาทำให้ราคาขายปลีกตามประกาศทั้งสองฉบับไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ โดยเฉพาะประกาศทั้งสองฉบับนี้เป็นการกำหนดราคาขายปลีกยาสูบชนิดบุหรี่ซิกาแรตที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรของผู้ได้รับอนุญาตขายยาสูบประเภท 3 ซึ่งขายได้ครั้งละไม่เกิน 1,000 มวน จึงย่อมไม่มีผลบังคับแก่โจทก์โดยตรง เนื่องจากโจทก์เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ขายยาสูบซิกาแรตที่ผลิตในต่างประเทศออกแสดงเพื่อขายประเภท 1 ซึ่งขายโดยไม่จำกัดจำนวน การออกประกาศทั้งสองฉบับจึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ ส่วนที่โจทก์อ้างว่า การกำหนดราคาขายปลีกดังกล่าวมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติและเอื้อประโยชน์แก่โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง นั้น ราคาขายปลีกของโรงงานยาสูบใช้ราคาขาย ณ โรงงานยาสูบเป็นหลัก เนื่องจากเป็นยาสูบที่ผลิตในประเทศ มิได้ใช้ราคา ซี.ไอ.เอฟ. เป็นหลัก ดังเช่นยาสูบที่นำเข้าจากต่างประเทศ ราคาขายปลีกจึงแตกต่างกันได้ และเหตุที่จำเลยมิได้ประกาศเปลี่ยนแปลงราคาขายปลีกบุหรี่ซิกาแรตของโรงงานยาสูบ เพราะมิได้เปลี่ยนแปลงราคาขาย ณ โรงงาน ต่างกับราคา ซี.ไอ.เอฟ. ของบุหรี่ซิกาแรตของโจทก์ที่มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่สูงขึ้นจึงต้องมีการออกประกาศกำหนดราคาขายปลีกตามประกาศทั้งสองฉบับ การกำหนดราคาขายปลีกตามประกาศทั้งสองฉบับจึงมิได้เป็นการเอื้อประโยชน์แก่โรงงานยาสูบและเลือกปฏิบัติ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องขอให้มีคำสั่งให้จำเลยเพิกถอนราคาสูงสุดตามที่ประกาศในประกาศกรมสรรพสามิตสำหรับบุหรี่ซิกาแรตของโจทก์ กล่าวคือ มาร์ลโบโร และแอล แอนด์ เอ็ม และให้จำเลยพิจารณากำหนดราคาสูงสุดในประกาศกรมสรรพสามิตซึ่งเกี่ยวข้องกับบุหรี่ซิกาแรตของโจทก์ใหม่อีกครั้ง ในทางที่จะรับประกันได้ว่าจำเลยมิได้ช่วยเหลือและสนับสนุนให้กรมสรรพากรในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับบุหรี่ซิกาแรตนำเข้าของโจทก์ให้สูงเกินกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรา 79/5 แห่งประมวลรัษฎากร
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องให้เพิกถอนประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง กำหนดราคายาสูบที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร ฉบับลงวันที่ 18 กันยายน 2549 และฉบับลงวันที่ 30 มีนาคม 2550 ในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดราคาขายปลีกบุหรี่ซิกาแรตยี่ห้อมาร์ลโบโร และแอล แอนด์ เอ็ม หรือไม่ เห็นว่า ประกาศทั้งสองฉบับออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 มาตรา 23 เพื่อมิให้มีการขายบุหรี่ซิกาแรตเกินราคาที่กำหนด โดยบัญญัติโทษปรับสำหรับผู้ฝ่าฝืน ตามมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน จึงเป็นการออกประกาศที่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยกรมสรรพากรให้ใช้ราคาขายปลีกดังกล่าวเป็นฐานในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มขึ้นตามที่โจทก์อ้าง หากกรมสรรพากรใช้ราคาขายปลีกดังกล่าวเป็นฐานในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มขึ้นตามประมวลรัษฎากร มาตรา 79/5 (2) และโจทก์ได้รับความเสียหาย ก็เป็นเรื่องที่โจทก์จะโต้แย้งคัดค้านต่อกรมสรรพากร หาทำให้ราคาขายปลีกบุหรี่ซิกาแรตทั้งสองยี่ห้อของโจทก์ตามประกาศทั้งสองฉบับไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ โดยเฉพาะประกาศทั้งสองฉบับนี้เป็นการกำหนดราคาขายปลีกยาสูบชนิดบุหรี่ซิกาแรตที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรของผู้ได้รับอนุญาตขายยาสูบประเภท 3 ซึ่งขายได้ครั้งละไม่เกิน 1,000 บาท จึงย่อมไม่มีผลบังคับแก่โจทก์โดยตรง เนื่องจากโจทก์เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ขายยาสูบซิกาแรตที่ผลิตในต่างประเทศออกแสดงเพื่อขายประเภท 1 ซึ่งขายโดยไม่จำกัดจำนวน การออกประกาศทั้งสองฉบับจึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ ส่วนที่โจทก์อ้างว่าการกำหนดราคาขายปลีกดังกล่าวมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติและเอื้อประโยชน์แก่โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นผู้ผลิตยาสูบในประเทศและสังกัดกระทรวงการคลังเช่นเดียวกับจำเลยนั้น ราคาขายปลีกบุหรี่ซิกาแรตของโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง ใช้ราคาขาย ณ โรงงานยาสูบเป็นหลัก เนื่องจากเป็นยาสูบที่ผลิตในประเทศ มิได้ใช้ราคา ซี.ไอ.เอฟ. เป็นหลัก ดังเช่นยาสูบที่นำเข้าจากต่างประเทศ ราคาขายปลีกจึงแตกต่างกันได้ และเหตุที่จำเลยมิได้ประกาศเปลี่ยนแปลงราคาขายปลีกบุหรี่ซิกาแรตของโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง เพราะโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง มิได้เปลี่ยนแปลงราคาขาย ณ โรงงานยาสูบแต่อย่างใด ต่างกับราคา ซี.ไอ.เอฟ. ของบุหรี่ซิกาแรตทั้งสองยี่ห้อของโจทก์ที่มีการเปลี่ยนแปลงในทางสูงขึ้นจึงต้องมีการออกประกาศกำหนดราคาขายปลีกใหม่ตามประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าว การกำหนดราคาขายปลีกตามประกาศทั้งสองฉบับจึงมิได้เป็นการเอื้อประโยชน์แก่โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง และเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าประกาศทั้งสองฉบับมิได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท

Share