คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2241/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

แม้คำสั่งเลิกจ้างโจทก์จะมิได้ระบุความผิดและสาเหตุการเลิกจ้างไว้ ก็มิได้หมายความว่าโจทก์ไม่มีความผิดหรือไม่มีสาเหตุแห่งการเลิกจ้าง เมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมจำเลยก็ชอบที่จะยกเหตุแห่งการเลิกจ้างขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การได้ว่า การเลิกจ้างนั้นมาจากสาเหตุใด การที่จำเลยมิได้ระบุความผิดและอ้างระเบียบข้อบังคับไว้ในคำสั่งเลิกจ้างไม่เป็นเหตุให้การเลิกจ้างดังกล่าวเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เงินเดือนที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างประจำรายเดือนย่อมเป็นค่าจ้างของทุกวันตลอดทั้งเดือนซึ่งรวมทั้งวันหยุดประจำสัปดาห์ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม จำเลยให้การว่าโจทก์ยืมเงินจากผู้ใต้บังคับบัญชาแล้วไม่ใช้คืนเป็นการเบียดบังและทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเดือดร้อนเป็นการผิดระเบียบข้อบังคับของจำเลย จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ จำเลยจ่ายค่าชดเชยถูกต้องแล้วศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า การที่โจทก์กระทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเดือดร้อน เบียดบังผู้ใต้บังคับบัญชา การเลิกจ้างโจทก์จึงไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ถูกต้องแล้ว โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่าตามเอกสารหนังสือเลิกจ้างหมาย จ.1 มิได้ระบุว่าโจทก์กระทำความผิดใดต้องกับระเบียบข้อบังคับหมวดใด ข้อใด แต่ในชั้นศาลจำเลยกลับให้การว่า โจทก์กระทำผิดร้ายแรงถึงขั้นปลดออกซึ่งเป็นข้ออ้างขึ้นในภายหลังขัดกับหนังสือเลิกจ้าง การเลิกจ้างของจำเลยจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้คำสั่งเลิกจ้างโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.1 จะมิได้ระบุความผิดและสาเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้ดังข้ออุทธรณ์ของโจทก์ก็ตาม ก็มิได้หมายความว่าโจทก์ไม่มีความผิดหรือไม่มีสาเหตุแห่งการเลิกจ้าง เมื่อโจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม จำเลยก็ชอบที่จะยกเหตุแห่งการเลิกจ้างขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การได้ว่า การเลิกจ้างนั้นมาจากสาเหตุใดซึ่งในการนี้ศาลแรงงานย่อมมีอำนาจที่จะพิจารณาว่าการเลิกจ้างเป็นธรรมหรือไม่ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 และคดีนี้ศาลแรงงานกลางก็ได้วินิจฉัยไว้แล้วว่าสาเหตุที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์นั้นเนื่องมาจากเหตุใดฉะนั้น การที่จำเลยมิได้ระบุความผิดและอ้างระเบียบข้อบังคับไว้ในคำสั่งเลิกจ้าง ดังอุทธรณ์ของโจทก์จึงไม่เป็นเหตุให้การเลิกจ้างดังกล่าวเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ในการคิดคำนวณค่าจ้างรายเดือนลงเป็นอัตราค่าจ้างต่อวันนั้น โจทก์คิดคำนวณโดยนำอัตราค่าจ้าง 1 เดือนตั้งแล้วหารด้วย 26 เพราะโจทก์ถือว่าใน 1 เดือนจะมีวันทำงานปกติประมาณ 26 วัน ซึ่งกรณีของโจทก์จะคิดคำนวณค่าจ้างได้วันละ211.54 บาท จำเลยจึงจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ขาดไปเป็นเงิน 2,538.60 บาทนั้น พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำรายเดือนได้รับค่าจ้างเดือนละ 5,500 บาท เห็นว่าในกรณีของลูกจ้างประจำเดือน เงินเดือนที่นายจ้างจ่ายให้ย่อมจะเป็นค่าจ้างของทุกวันตลอดทั้งเดือนซึ่งรวมทั้งวันหยุดประจำสัปดาห์ด้วย จึงไม่จำต้องคิดคำนวณค่าจ้างว่าในเดือนหนึ่งมีวันหยุดประจำสัปดาห์กี่วัน โจทก์มีวันทำงานปกติกี่วันและได้ค่าจ้างวันละเท่าใด เพื่อนำมาคำนวณค่าชดเชยดังอุทธรณ์ของโจทก์ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกันศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share