คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14405/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์มิได้หักหนี้ในวันที่สัญญาเลิกกันตามที่โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญากับจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2546 แต่กลับคิดดอกเบี้ยตลอดมาแล้วนำมาหักกลบลบหนี้ ให้จำเลยชำระหนี้ที่เหลือตามคำฟ้อง ตามพฤติการณ์ถือเป็นการใช้สิทธิคิดดอกเบี้ยโดยไม่สุจริต จึงไม่อาจนำดอกเบี้ยมารวมกับต้นเงินดังที่โจทก์คำนวณมาในคำฟ้อง เมื่อภาระหนี้ที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์มีจำนวนน้อยกว่าค่าจ้างที่โจทก์ต้องรับผิดชำระแก่จำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และ 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 2,009,787.70 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 2,009,787.70 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 30 กรกฎาคม 2552) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 862,965.61 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยนำเงินค่าขนส่งสินค้าระหว่างเดือนตุลาคม 2543 ถึงเดือนธันวาคม 2545 ส่งมอบแก่โจทก์แล้วหรือไม่ และในการจัดส่งสินค้าแทนโจทก์ จำเลยทำสินค้าสูญหายหรือเสียหายตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า บัญชีงบยอดประจำวัน จำเลยเป็นผู้จัดทำแจ้งแก่โจทก์ฝ่ายเดียวว่านำเงินค่าขนส่งตามบัญชีดังกล่าวส่งมอบแก่โจทก์แล้ว แต่นางวันทนีย์ พยานโจทก์ ขณะเกิดเหตุทำงานตำแหน่งหัวหน้ากองประมวลบัญชีของโจทก์ เบิกความยืนยันว่า บัญชีงบยอดประจำวัน ที่จำเลยจัดทำส่งแจ้งแก่โจทก์ จำเลยไม่ได้นำเงินค่าขนส่งซึ่งเป็นรายได้ของโจทก์ฝากเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ตามที่ปฏิบัติต่อกัน จากคำเบิกความของนางวันทนีย์แสดงว่า ในการที่จำเลยส่งมอบเงินรายได้แก่โจทก์ จำเลยนำเงินไปฝากเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ หากจำเลยส่งมอบเงินรายได้ตามฟ้องแก่โจทก์จริง จำเลยสามารถนำเอกสารหลักฐานมาถามค้านคำเบิกความของนางวันทนีย์หรือนำสืบหักล้างได้โดยง่าย แต่จำเลยไม่มีพยานหลักฐานใดมาสนับสนุนข้อกล่าวอ้างดังกล่าว และได้ความว่าระหว่างเดือนมกราคม 2544 ถึงเดือนธันวาคม 2545 จำเลยมีสิทธิได้รับค่าจ้างจากโจทก์ 3,875,890.65 บาท และนางวันทนีย์เบิกความตอบทนายโจทก์ว่า จำเลยตั้งเบิกค่าจ้างดังกล่าวแล้ว แต่โจทก์ไม่ชำระจำเลยก็ไม่ได้ทวงถามแต่อย่างใด และโจทก์มีนายพิชัย พนักงานติดตามหนี้และบังคับคดีของโจทก์เป็นพยานยืนยันว่า ในการทำหน้าที่ขนส่งสินค้าแทนโจทก์ จำเลยทำสินค้าสูญหายและเสียหาย 19 ราย โจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าของไปแล้ว 137,735.22 บาท ส่วนพยานโจทก์ที่เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านในเรื่องนี้คงมีแต่นางวันทนีย์ที่เบิกความว่า ในท้องที่จังหวัดชลบุรีมีตัวแทนของโจทก์ 2 ราย แต่ไม่มีพยานโจทก์ปากใดเบิกความว่า ความเสียหายของสินค้าที่ขนส่งไม่ได้เกิดจากการกระทำของจำเลยตามที่จำเลยฎีกา พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาดังกล่าวมีน้ำหนักรับฟังได้ว่าที่จำเลยจัดทำบัญชีงบยอดประจำวัน แจ้งแก่โจทก์ จำเลยยังไม่ได้นำส่งเงินรายได้ให้แก่โจทก์ และในการที่จำเลยทำหน้าที่ขนส่งสินค้าแทนโจทก์ จำเลยทำสินค้าสูญหายและเสียหายจนโจทก์ต้องชดใช้ค่าสินค้าแก่เจ้าของไปเป็นเงิน 137,735.22 บาท ตามที่นางวันทนีย์และนายพิชัยเบิกความ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น แต่หนี้ตามฟ้องเกิดจากการทำหน้าที่ตัวแทนรับส่งสินค้าของจำเลยระหว่างเดือนตุลาคม 2543 ถึงเดือนธันวาคม 2545 ซึ่งในระหว่างเดือนมกราคม 2544 ถึงเดือนธันวาคม 2545 จำเลยก็มีสิทธิได้รับค่าจ้างจากโจทก์ 3,875,890.65 บาท แสดงว่าในเวลาคาบเกี่ยวกันนั้นจำเลยก็เป็นเจ้าหนี้โจทก์ 3,875,890.65 บาท ด้วยทั้งนางวันทนีย์เบิกความตอบทนายโจทก์ว่า จำเลยนำหนี้ค่าจ้างดังกล่าวมาตั้งเบิกจากโจทก์แล้ว แต่โจทก์ไม่ได้จ่ายแก่จำเลย ขณะปฏิบัติตามสัญญาต่อกันจำเลยมีภาระหนี้ต้องส่งรายได้ของโจทก์ตามบัญชีงบยอดประจำวัน จำนวน 3,582,620.55 บาท ค่าขนส่งสินค้าที่จำเลยเรียกเก็บจากผู้รับสินค้าปลายทาง 56,589 บาท ค่าธรรมเนียมกับค่าขนส่งนอกเขตที่จำเลยเบิกเกิน 15,089.30 บาท และค่าสินค้าที่ขนส่งสูญหายและเสียหาย 137,735.22 บาท รวม 3,792,034.07 บาท ภาระหนี้ของจำเลยมีเป็นจำนวนน้อยกว่าค่าจ้างที่โจทก์จะต้องรับผิดชำระแก่จำเลย ต่อมาภายหลังเจ้าหน้าที่ของโจทก์มาตรวจพบว่าจำเลยไม่นำเงินรายได้ของโจทก์ส่งมอบแก่โจทก์ แล้วมาคิดดอกเบี้ยเอาแก่จำเลยเป็นเวลา 3 ปีเศษ จึงค่อยนำค่าจ้างที่โจทก์ต้องชำระแก่จำเลยมาหักกลบลบหนี้กันจนก่อให้จำเลยมีภาระหนี้ตามฟ้อง ดังนี้ การที่โจทก์มิได้หักหนี้ในวันที่สัญญาเลิกกันตามที่โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญากับจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2546 แต่กลับคิดดอกเบี้ยตลอดมาแล้วนำมาหักกลบลบหนี้ ให้จำเลยชำระหนี้ที่เหลือตามคำฟ้องตามพฤติการณ์ถือเป็นการใช้สิทธิคิดดอกเบี้ยโดยไม่สุจริต จึงไม่อาจนำดอกเบี้ยมารวมกับต้นเงินดังที่โจทก์คำนวณมาในคำฟ้อง เมื่อภาระหนี้ที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์มีจำนวนน้อยกว่าค่าจ้างที่โจทก์ต้องรับผิดชำระแก่จำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้อุทธรณ์ ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และ 247
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share